กลายเป็นกระแสฮอตฮิตไปทั่วแล้วในขณะนี้สำหรับ "โปเกมอนโก" (Pokemon Go) ซึ่งทีมงานผู้จัดการเกมก็จะขอเก็บรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกมเขย่าโลกเกมนี้มาให้ได้รับทราบกัน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือวันที่ประเทศไทยจะมีเหล่า "เทรนเนอร์" จำนวนมากโผล่ขึ้นมาในอีกไม่ช้า
โปเกมอนโกคืออะไร?
มันคือเกมสำหรับสมาร์ตโฟนหรือแท็บเลตที่ดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบ iOS และแอนดรอยด์ พัฒนาโดยบริษัทไนแอนติก (Niantic) ร่วมกับโปเกมอนคอมพานีผู้ดูแลลิขสิทธิ์ เปิดตัวครั้งแรกมาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2015 และเพิ่งจะเริ่มให้บริการกันจริงจังแบบจำกัดประเทศในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2016 ที่ผ่านมา
ลักษณะของโปเกมอนโกจะจับเอาข้อมูลแผนที่มาผสมเข้ากับระบบนำทาง GPS และเนื้อหาของเกม ให้ผู้เล่นเดินทางในโลกจริงเพื่อตามหาตำแหน่งของโปเกมอน เมื่อเจอแล้วก็จะให้ยกสมาร์ตโฟนขึ้นมาส่องจับด้วยการโยนลูกบอลเข้าใส่ ซ้อนภาพกราฟิกคอมพิวเตอร์ของโปเกมอนเข้ากับภาพจากกล้องด้วยเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) สร้างความรู้สึกเหมือนว่ามอนสเตอร์นั้นมีตัวตนอยู่ในโลกของเราจริง
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของโปเกมอนโกคือการดึงเอา "จุดปักหมุด" สถานที่สำคัญหรือร้านค้าต่างๆ บนแผนที่โลกจริงมาเป็นส่วนหนึ่งของเกม ให้ผู้เล่นเดินตามหาจุดพักเรียกว่า "โปเกสต็อป" เพื่อรับของรางวัลในเกมได้ฟรี และบางแห่งก็จะเปิดเป็น "ยิม" ให้ส่งโปเกมอนที่จับไว้เข้าไปต่อสู้กันได้ด้วย
เหล้าเก่าในขวดใหม่
แนวคิดการสร้างเกมซ้อนบนแผนที่โลกจริงนั้นเคยมีมาก่อนแล้ว โดยหนึ่งในรายที่ทำได้โดดเด่นมากที่สุดคือเกม "อิงเกรส" (Ingress) ผลงานเก่าของบริษัทไนแอนติกเจ้าเดียวกันนี้เอง เริ่มเปิดให้เล่นกันมาตั้งแต่ปี 2012 และยังคงมีอยู่จนถึงปัจจบุัน
เรื่องราวของอิงเกรสจะออกแนวไซไฟเต็มขั้น เล่าว่ามีการค้นพบสสารพลังงานต่างมิติแอบแทรกซึมเข้ามาบนโลก ทำให้เหล่ามนุษย์แตกออกเป็นสองฝ่าย ระหว่างพวกที่ยอมรับเพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ กับอีกพวกที่ต่อต้านเพราะเชื่อว่าอาจเป็นอันตราย และทั้งสองก็ได้ต่อสู้กันด้วยการใช้แผนที่บนสมาร์ตโฟนส่องหาแหล่งพลังงานนี้
ขณะที่ต้นฉบับนั้นดูจะเจาะได้เฉพาะผู้เล่นบางกลุ่ม เกมโปเกมอนโกก็คือการเอาอิงเกรสมาแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ โดยเมื่อเทียบกันแล้วยังมีลูกเล่นน้อยกว่าแต่ก็สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับคนหมู่มาก
ความสัมพันธ์อันซับซ้อนของนินเทนโด
แม้มูลค่าหุ้นของบริษัทนินเทนโดจะพุ่งทะยานฟ้าตามความสำเร็จของโปเกมอนโก แต่ความสัมพันธ์ที่แท้จริงระหว่างทั้งสองนั้นก็ซับซ้อนยุ่งเหยิง มิใช่สมการง่ายๆ แค่นินเทนโดเท่ากับโปเกมอน รวมถึงรายรับจากเกมก็ไม่ได้ถูกนินเทนโดเหมาหมดอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ
เกมโปเกมอนภาคแรกสุดออกมาลืมตาดูโลกเมื่อปี 1996 บนเครื่องเกมบอยขาวดำ ซึ่งผู้พัฒนาก็คือค่าย "เกมฟรีก" และ "ครีเชอส์" โดยมีนินเทนโดช่วยสนับสนุนและจัดจำหน่าย จนหลังจากประสบความสำเร็จใหญ่ก็ได้ให้กำเนิดบริษัทโปเกมอนคอมพานีขึ้นมาในปี 1998 เพื่อดูแลผลประโยชน์ต่างๆ ของแบรนด์ทั้งหมด
นินเทนโด เกมฟรีกและครีเชอส์ได้แบ่งกันถือหุ้นบริษัทโปเกมอนในอัตราส่วนที่แทบจะเท่ากันประมาณ 33 เปอร์เซ็นต์ แต่นินเทนโดนั้นมีสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าต่างๆ และถือครองหุ้นของบริษัทครีเชอส์อยู่แบบไม่เปิดเผยตัวเลข หรือแม้กระทั่งประธานนินเทนโดคนปัจจุบัน "ทะสึมิ คิมิชิมะ" เองก็เคยดำรงตำแหน่งประธานโปเกมอนคอมพานีสาขาสหรัฐอเมริกามาก่อน
หากนั่นยังไม่ซับซ้อนพอ นินเทนโด โปเกมอนคอมพานีและกูเกิลยังได้ร่วมกันลงทุนในบริษัทไนแอนติกถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ตอนเริ่มสร้างเกมนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อตกลงการแบ่งผลประโยชน์กันอีกขั้นหนึ่งด้วย
เปิดแล้วหรือยังไม่เปิดอย่างไรกันแน่
ตัวเกมได้ทยอยเปิดไปทีละประเทศเพราะไม่สามารถรองรับผู้เล่นจำนวนมหาศาลเกินคาดได้ในขณะนี้ ซึ่งวิธีตรวจสอบที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือการเข้าไปค้นหาในร้าน App Store สำหรับ iOS และ Play Store สำหรับแอนดรอยด์ หากผู้เล่นประเทศใดไม่เจอ หรือเจอแต่ขึ้นว่าไม่รองรับก็ต้องคอยกันต่อไป
สำหรับคนที่พอจะเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีก็อาจใช้วิธีซิกแซกนำเกมมาลงเครื่องได้แม้จะยังไม่เปิดจริง แต่ทางผู้สร้างเกมก็แก้ทางด้วยการล็อกโซนไม่ปล่อยให้ตัวโปเกมอนหรือจุดปักหมุดแสดงขึ้นมากลายเป็นแผนที่รกร้างว่างเปล่าเล่นอะไรไม่ได้ เหลือเพียงบรรดาตัวแรกสุดตอนที่สอนวิธีเล่นเท่านั้นที่จับได้
เกมมีอะไรบ้าง จับไปแล้วทำอะไรได้
ในเกมขณะนี้จะมีเฉพาะโปเกมอนรุ่นแรกสุดทั้งหมด 151 ตัว ได้มาจากการเดินหาแล้วโยนบอลจับไปเรื่อยๆ หรืออีกวิธีหนึ่งคือการหา "ไข่" มาแล้วออกเคลื่อนที่ตามระยะทางในโลกจริงเพื่อให้ฟักเป็นตัว ซึ่งถ้าเจอตัวซ้ำก็อาจมีค่าพลังแข็งแรงกว่าเดิม หรือถ้าอ่อนแอกว่าก็สามารถส่งไปแลกของ เอากลับมาใช้ฝึกฝนพัฒนาตัวเดิมได้
เมื่อไปถึงระดับหนึ่ง ผู้เล่นจะได้เลือกอยู่กับทีมเทรนเนอร์แบ่งตามสีแดง น้ำเงินและเหลือง โดยทั้งสามฝ่ายจะต้องแข่งกันส่งโปเกมอนเข้าไปยึดครองจุดปักหมุดใหญ่บนแผนที่เรียกว่า "ยิม" นำไปสู่การต่อสู้ปกป้องเขตแดนของตนเองและรุกรานฝั่งคู่แข่งกันอย่างไม่รู้จบ
รูปแบบธุรกิจของเกมจะเปิดให้เล่นฟรีโดยมีการทำเงินเหรียญในเกมขึ้นมาให้คนเล่นเอาเงินจริงไปแลกอีกทีหนึ่ง เพื่อใช้ซื้ออุปกรณ์ข้าวของเพิ่มความสะดวกสบาย อย่างเช่นเหยื่อล่อโปเกมอนให้เข้ามาหาเยอะขึ้น ขยายช่องเก็บของ หรือตัวเร่งการพัฒนาตัวละครให้เร็วเป็นสองเท่า
ทางผู้สร้างสัญญาว่าจะมีการอัพเดตเป็นระยะให้เกมทำได้เหมือนกับในหนังตัวอย่างที่เคยปล่อยออกมา โดยหนึ่งในฟังก์ชันที่ขาดหายไปตอนนี้คือการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เล่นที่เป็นหัวใจหลักของโปเกมอนมาตั้งแต่ยุคเกมบอยแล้ว
ข้อควรระวังในการเล่น
การใช้โลกจริงเป็นฉากของเกมย่อมนำเอาปัญหามาพร้อมกันด้วย ไม่ต่างจากผู้ใช้สมาร์ตโฟนที่ถูกมองว่าเป็นมนุษย์ก้มหน้าไม่สนใจสิ่งรอบข้างจนนำไปสู่อุบัติเหตุ ซึ่งก็มีแนวโน้มจะอาการหนักขึ้นไปอีกจากเกมนี้
สำหรับเกมโปเกมอนโก สิ่งสำคัญที่ควรระวังเพิ่มเติมเป็นพิเศษคือ "กาลเทศะ" บางสถานที่นั้นไม่ควรเดินบุกรุกเข้าไป เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตนเองและรบกวนผู้อื่น รวมถึงการเล่นเวลาดึกดื่นกลางคืนก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน ไม่ว่าจะตอนอยู่คนเดียวที่มีความสุ่มเสี่ยงสูงหรือกับคนหมู่มากที่อาจเจอมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามา เพราะอย่าลืมว่าตนเองกำลังถือสมาร์ตโฟนราคาหลักหมื่นอยู่อย่างโจ่งแจ้ง
นอกจากนี้ ตัวเกมโปเกมอนโกยังถือว่าใช้ฟังก์ชันของเครื่องอย่างคุ้มค่าจนอาจมากไปนิด ทั้งระบบแผนที่ GPS หน้าจอ กล้องและอินเตอร์เน็ต ส่งผลให้แบตเตอรีถูกใช้งานอย่างหนักกว่าปกติ จึงควรจะพกพาอุปกรณ์ชาร์จไฟสำรองและงดเว้นการเล่นหากต้องใช้โทรศัพท์ติดต่อเรื่องสำคัญ
พลิกโอกาสให้เป็นของเราเอง
ปรากฏการณ์โปเกมอนโกได้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมของหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะการดึงให้คนออกสู่โลกภายนอกมากขึ้น นำพาคนแปลกหน้ามารู้จักกันสร้างกลุ่มสังคมใหม่ และถึงกับแซวกันว่าช่วยทำให้เด็กเดินออกกำลังกายได้ดีกว่ามาตรการรณรงค์ใดๆ เสียอีก
อีกหนึ่งผลพลอยได้จากการอ้างอิงจุดปักหมุดตามสถานที่โลกจริงคือบรรดาเจ้าของร้านค้ากิจการที่นำมาพลิกแพลงใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการให้ส่วนลดกับผู้เล่นเกม หรือการวางอุปกรณ์ดึงดูดโปเกมอนในร้านเพื่อชวนคนเข้ามาจนมียอดขายเพิ่มอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ ทางบริษัทไนแอนติกยังมีแผนจะเปิดแบบฟอร์มให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอเพิ่มตำแหน่งปักหมุดใหม่ได้เอง หรือถ้าใครคิดว่าผู้เล่นเกมมารบกวนความสงบในสถานที่ส่วนบุคคลก็สามารถยื่นขอให้ยกเลิกจุดปักหมุดทิ้งได้เช่นกัน
"โปเกมอนโกพลัส" ของเล่นราคาแพง
อีกหนึ่งช่องทางที่นินเทนโดจะได้รับผลประโยชน์จากเกมนี้คือการขายอุปกรณ์เสริมบลูทูธชื่อว่า "โปเกมอนโกพลัส" ลักษณะคล้ายลูกบอลจับโปเกมอนผสมหมุดปักเอาไว้ติดเป็นเข็มกลัดหรือใส่กับสายรัดข้อมือ มาพร้อมปุ่มกดไว้โต้ตอบกับเกมได้โดยไม่ต้องเปิดหน้าจอสมาร์ตโฟนขึ้นมา
คุณสมบัติของอุปกรณ์นี้คือการสั่นและกระพริบไฟแจ้งเตือนเมื่อมีเหตุการณ์ในเกมเกิดขึ้นใกล้ๆ อย่างเช่นถ้าไปถึงจุดพัก "โปเกสต็อป" ก็จะสามารถกดปุ่มเก็บของได้ทันที หรือถ้าเจอกับโปเกมอนที่เคยจับมาแล้วก็จะกดปุ่มจับซ้ำได้โดยไม่ต้องส่องเล็งให้เสียเวลา
ราคาสั่งจองโปเกมอนโกพลัสถูกตั้งไว้ที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 1,200 บาท ซึ่งกระแสฟีเวอร์ก็ทำให้ของหมดเกลี้ยงทุกที่ พร้อมเจอมือดีโก่งราคาขายต่อกันอย่างเอิกเกริก และเชื่อว่าอีกไม่นานคงมีของปลอมเลียนแบบออกมาเกลื่อนแน่นอน
สารพัดสารพันข่าวลือ เชื่อใครดี
เนื่องจากกระแสมาแรงแบบฉุดไม่อยู่ในตอนนี้ทำให้มีการอ้างแหล่งข่าวลือกันให้วุ่น ซึ่งบางรายก็อาจเป็นแค่แฟนรวมกลุ่มกัน ขณะที่บางรายก็ทำคลุมเครือเหมือนตนเองเป็นเพจของจริงหลอกให้คนมากดไลค์กดฟอลโลว์ แถมยังมีถึงขั้นแอบอ้างชื่อเกมนี้ไปหากินกันแบบแปลกๆ เลยทีเดียว
สำหรับแหล่งข้อมูลอย่างเป็นทางการของเกมโปเกมอนโกในขณะนี้ได้แก่
- เว็บไซต์ทางการ http://www.pokemongo.com
- เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/PokemonGO
- ทวิตเตอร์ https://twitter.com/PokemonGoApp
- ยูทิวบ์ https://www.youtube.com/c/pokemongo
- กูเกิลพลัส https://plus.google.com/+PokemonGo
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับโปเกมอนโก
- เกมนี้จัดจำหน่ายบนร้านแอพสโตร์ในนามบริษัทไนแอนติก (Niantic, Inc.) มิใช่นินเทนโดหรือโปเกมอนคอมพานี
- โปเกมอนโกไม่ใช่เกมสมาร์ตโฟนเกมแรกของบรรดาโปเกมอนทั้งหมด และไม่ใช่เกมแรกของนินเทนโดด้วย
- จุดกำเนิดมาจากมุกตลกวันเมษาหน้าโง่ "เอพริลฟูล" ของกูเกิลแมปในปี 2014 ให้คนส่องหาโปเกมอนในแอพพลิเคชันแผนที่
- อุปกรณ์ที่จะใช้เล่นต้องมีระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชัน 4.4 หรือสูงกว่า ส่วน iOS ต้องเป็นรุ่นไอโฟน 5 ขึ้นไป
- เกมออกมาตอนแรกมีปัญหาชิปเซ็ตของบริษัท Intel แต่ได้รับการแก้ไขแล้ว ส่วนระบบ Windows Phone นั้น.....ท่าจะลุ้นยาก
- ศิลปินผู้ออกแบบตัวละครในเกมคือ "ยูสึเกะ โคซากิ" ที่เคยทำเกมไฟร์เอมเบลม Awakening และ Fates ให้นินเทนโดมาก่อน
- หากเดินหนีโปเกมอนชุดแรกสุดสามตัวไปเรื่อยๆ สักพักจะมี "พิกาชู" โผล่มาให้เลือกเพิ่มอีกตัว
- ตัวเกมจะนับระยะทางเป็นหน่วยกิโลเมตรตามที่ใช้กันทั่วโลก ทำให้ชาวอเมริกาที่ใช้หน่วยเป็นไมล์สับสนกันพอสมควร
- การเคลื่อนที่เพื่อฟักไข่มีการทดสอบกันว่าจำกัดความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- บางประเทศในโลกจะไม่สามารถเล่นได้แน่นอน เนื่องจากข้อมูลแผนที่ถูกสั่งห้ามด้วยเหตุผลบางประการ
*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารวงการเกมครับ*