xs
xsm
sm
md
lg

Pokemon Go ฟีเวอร์ : เทคโนโลยี “ไม่ใหม่” และฝันที่เป็นจริงของสาวกพ็อกเก็ตมอนสเตอร์ยุค 199X

เผยแพร่:   โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฐิติรัตน์ ศิริบวรรัตนกุล


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติรัตน์ ศิริบวรรัตนกุล
สาขาวิชาเอกวิทยาการสื่อปฏิสัมพันธ์
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
http://interactivemedia.nida.ac.th/


แค่ชั่วข้ามคืนของวันพุธที่ 6 ก.ค. 2016 ที่ Pokemon Go (โปเกมอน โก) เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีอย่างเป็นทางการบน App Store และ Play Store ในสามประเทศแรก (สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์) แม้แต่บริษัทผู้พัฒนาเกมเองยังคาดไม่ถึงค่ะว่ากระแสตอบรับจะล้นหลาม กลายเป็นปรากฏการณ์ฟีเวอร์เขย่าโลกได้ขนาดนี้ ไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์หลังออกตัวยอดดาวน์โหลดก็ทะยานเป็นอันดับหนึ่งของ App Store และ Play Store ในสามประเทศดังกล่าว มียอดดาวน์โหลดกว่า 10 ล้านครั้ง มีจำนวน Active user รายวันกว่า 21 ล้านรายซึ่งมากกว่าจำนวน Active user รายวันของ Twitter และของเกมฮิตบนสมาร์ทโฟนอย่าง Candy Crush Saga สมัยช่วงพีกๆ เสียอีก ไม่เท่านั้นค่ะ ถ้านับเวลาเฉลี่ยต่อวันที่ผู้เล่นใช้ไปกับเกม Pokemon Go ตอนนี้ก็ล้ำหน้าสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook, Snapchat, Twitter และ Instagram ไปเรียบร้อย ในส่วนของบริษัท Nintendo หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังก็ได้อานิสงส์มูลค่าหุ้นพุ่งกระฉูดเป็นประวัติการณ์ เกมออกไม่ถึงอาทิตย์หุ้นขึ้นไป 25% ผ่านไปเกือบสิบวันหุ้นก็ยังทะยานต่อรวมมูลค่าหุ้นเพิ่มมาแล้วถึง 56%

สำหรับคุณผู้อ่านที่ยังไม่รู้ว่า Pokemon Go คืออะไร ก่อนอื่น Pokemon ย่อมาจาก Pocket Monster เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นที่พูดถึงเรื่องราวการผจญภัย การต่อสู้ และ มิตรภาพระหว่างมอนสเตอร์ Pokemon กับเหล่า Pokemon Trainer ซึ่งการ์ตูนยอดฮิตนี้ถูกบริษัท Nintendo ยักษ์ใหญ่ด้านเกมของญี่ปุ่นนำมาทำเป็นเกมสำหรับเล่นกับคอนโซลของ Nintendo ตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 และตลอด 20 ปีนี้ก็มีเกมในซีรีย์ Pokemon ออกมาเรื่อย ๆ ส่วน Pokemon Go นั้นเป็นไอเดียจากวิดีโอเรื่องล้อเล่นในวันโกหก (April Fools’ Day) เมื่อ 1 เม.ย. 2014 ของ Google ชื่อ Google Maps: Pokemon Challenge ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องไม่จริง แต่ด้วยกระแสตอบรับที่ดีในตอนนั้นก็จุดประกายให้เกิดเป็นเกม Pokemon Go ในวันนี้ด้วยความร่วมมือของ 4 บริษัท ได้แก่ Pokemon (เจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูน), Nintendo (บริษัทที่ทำเกม Pokemon มาแต่เดิมและผู้ให้ทุนสนับสนุน Pokemon Go), Niantic Labs (ผู้พัฒนาหลัก Pokemon Go) และ Google (ผู้ให้ทุนสนับสนุน Pokemon Go) ซึ่ง Niantic Labs คือบริษัทเกมในสหรัฐอเมริกาที่เดิมเป็น Internal Startup อยู่ใน Google ก่อนจะแยกตัวออกมาเมื่อปี ค.ศ. 2015
การ์ตูน Pokemon เวอร์ชัน Anime ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สมัยก่อน
เกม Pokemon Go น่าจะเรียกได้ว่าเป็นฝันที่เป็นจริงของเหล่าสาวก Pocket Monster ช่วงปี ค.ศ. 199X เพราะแทนที่การผจญภัย ตามล่า และ ต่อสู้กับ Pokemon และ Pokemon Trainer คนอื่นจะจำกัดอยู่แค่ในโลกปลอมๆ ในมอนิเตอร์ ด้วยเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) หรือความเป็นจริงเสริมทำให้บรรดา Pokemon ออกมาโลดแล่นอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงรอบตัวเราได้ แค่หยิบสมาร์ทโฟน (พร้อมแบตสำรอง) ใส่รองเท้า เปิดเกม Pokemon Go ก็พร้อมออกไปผจญภัยใช้สมาร์ทโฟนส่องหาร่องรอยตามล่า Pokemon ที่อาจแอบซ่อนตัวอยู่ในห้องน้ำ บนสนามหญ้าหน้าบ้าน หรือ แม้แต่ในสระน้ำสวนสาธารณะได้

รายละเอียดของเกมและทริกการเล่นจะไม่พูดตรงนี้นะคะ เพราะมีอธิบายไว้เยอะแล้วในอินเทอร์เน็ตทั้งภาษาไทยและภาษาอื่น แต่วันนี้จะมาพาเจาะลึกเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีค่ะว่าเกม Pokemon Go ใช้เทคโนโลยีอะไรบ้างที่ทำให้มันต่างจากเกมสมาร์ทโฟนฮิตๆ ที่ผ่านมา ซึ่งเทคโนโลยีแรกที่ทำให้เหล่า Pokemon Trainer ปี 2016 นอนเอกเขนกเล่นเกมอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องลุกออกมาเดินสำรวจเมืองจนกลายเป็นข่าวใหญ่โตว่าบางคนเดินหา Pokemon แต่ไปเจอศพคนเข้า บางคนเดินเข้าสถานีตำรวจจนตำรวจต้องออกมาประกาศเตือน บางคนลงทุนเช่าเรือออกทะเลหรือเช่าบริการขับรถให้พาไปวนจับ Pokemon ฯลฯ ก็คือเทคโนโลยีเก่าเพื่อนยากที่เราคุ้นเคยกันดีในแอปแผนที่หรือฟีเจอร์เช็กอินสถานที่ เทคโนโลยี GPS (Global Positioning System) นั่นเองค่ะ

ด้วยไอเดียของผู้สร้างเกมที่เอาตำแหน่ง GPS จากสมาร์ทโฟน + เวลาบนนาฬิกา + ข้อมูลสถานที่จากแผนที่โลกของจริง + ข้อมูลคุณลักษณะของ Pokemon แต่ละตัว มาผูกกันเป็นเรื่องราว บรรดา Pokemon รวมถึงไอเท็มในเกมจะถูกกำหนดให้ปรากฏในสถานที่และเวลาที่ต่างกันไป เช่น ถ้าไปหาแถวริมแม่น้ำอาจเจอ Pokemon ประเภทปลา, ถ้าตอนกลางคืนอาจเจอ Pokemon ชนิดหากินกลางคืน, ถ้าลงทุนออกไปที่ไกล ๆ อาจจับ Pokemon หายากได้, ถ้าเดินไปเช็กอินที่ PokeStop (สถานที่เช่น พิพิธภัณฑ์ โบสถ์ สถานีตำรวจ ฯลฯ ที่ทางผู้พัฒนาเกมตั้งค่าบนแผนที่ให้เป็น Landmark หรือจุดสังเกตของเกม) ก็จะเจอไอเท็มฟรีให้เก็บ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้แค่ใช้ข้อมูลจาก GPS ธรรมดา ๆ ที่สมาร์ทโฟนทุกเครื่องมี แต่พอมารวมกับเรื่องราวการผจญภัยตามล่า Pokemon แล้วผลก็ออกมาไม่ธรรมดา ถล่มทุกสถิติของแอปสมาร์ทโฟนได้อย่างนี้ล่ะค่ะ
ภาพของบรรดามอนสเตอร์ Pokemon ที่ถูกพบโดยผู้เล่น Pokemon Go ตามสถานที่ต่างๆ
นอกจากข้อมูล GPS จะถูกใช้เพื่อดูตำแหน่งของผู้เล่นเทียบกับเวลาและแผนที่โลกแล้ว ข้อมูลนี้ยังถูกเอามาใช้วัดระยะทางและความเร็วในการเคลื่อนที่ของผู้เล่นด้วยนะคะ เป็นการบังคับให้ Pokemon Trainer ปี 2016 ต้องชีพจรลงเท้า ออกเดิน ออกวิ่ง หรือ ขี่จักรยาน ไปพร้อมกับแอป Pokemon Go เพื่อเอาระยะทางที่ GPS วัดได้มาเป็นคะแนนใช้ฟักไข่มอนสเตอร์ ส่วนความเร็วที่วัดไว้ก็เพื่อกันการโกงระยะทางด้วยการพาแอปนั่งมอเตอร์ไซต์หรือรถยนต์ค่ะ ถ้าจับได้ว่าเคลื่อนที่ไปเร็วเกินมนุษย์ เกมก็จะไม่นับระยะทางนั้นเป็นคะแนนให้ (แต่ก็อุตส่าห์มีคนเอาสมาร์ทโฟนไปผูกติดโดรนที่เคลื่อนที่ช้าจนได้ค่ะ) ซึ่งการที่ Pokemon Go เป็นเกมที่พาคนออกมาเดินข้างนอกนี้ได้ผลตอบรับที่ดีมากค่ะ โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีภาวะซึมเศร้าหรือชอบเก็บตัวที่พอได้เล่น Pokemon Go แล้วก็กลายเป็นกระตือรือร้นอยากออกนอกบ้านมาตามเก็บ Pokemon ได้ทั้งออกกำลังกายและเข้าสังคม ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี
สวนสาธารณะ Central Park ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่เต็มไปด้วยเหล่า Pokemon Trainer
อีกเทคโนโลยีสำคัญที่ไม่พูดไม่ได้ก็คือเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) หรือความเป็นจริงเสริม ที่หมายถึงการนำข้อมูลดิจิทัลที่ปกติถูกจำกัดให้อยู่แต่ในโลกของคอมพิวเตอร์ ออกมาข้างนอกมาซ้อนอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงให้ได้ในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งสำหรับเกม Pokemon Go ก็คือการใช้กล้องติดสมาร์ทโฟนช่วยให้เราเห็นภาพตัว Pokemon มายืนยิ้มแฉ่งรอให้จับอยู่กลางสนามหญ้าหน้าบ้านผ่านโหมด AR ในเกมนั่นเองค่ะ ตัวอย่างอื่นของ AR ก็เช่น Google Glass, แอปแต่งหน้าแบบเรียลไทม์ที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหนเครื่องสำอางก็ตามติดหน้าไปตลอด หรือแม้แต่แอปที่ให้สแกน QR code แล้วมีตัวการ์ตูนโผล่ซ้อนขึ้นมาในภาพกล้องก็ถือเป็น AR แบบหนึ่งค่ะ

เทคโนโลยี AR ถ้านับอายุแล้วก็ต้องถือเป็นน้องของเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) หรือโลกเสมือนจริงนะคะ ในขณะที่ VR หมายถึงการพยายามทำให้คนหลุดไปอยู่ในโลกดิจิทัลที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ ยิ่งคนรู้สึกว่าโลกเสมือนจริงนั้นสมจริงเท่าไหร่ยิ่งถือว่าสำเร็จมากเท่านั้น AR กลับจะตรงกันข้าม โดยเป็นการนำเอาโลกดิจิทัลออกมาผสมกับโลกแห่งความจริงข้างนอกแทน ยิ่งการผสมทำได้เนียนจนคนแยกไม่ออกว่าอันไหนคือดิจิทัล อันไหนคือของจริง ยิ่งถือเป็นความสำเร็จของ AR ค่ะ จริงๆ แล้ว VR กับ AR นั้นยากไปคนละแบบ แต่ระยะหลังด้วยกระแสของแว่น VR อย่าง Oculus Rift (ของ Facebook) ที่มาแรงกว่า ทำให้ AR กลายเป็นน้องที่ถูกมองข้ามไป ปรากฏการณ์ Pokemon Go ฟีเวอร์ครั้งนี้จึงเป็นการกลับมาอย่างภาคภูมิของ AR และเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่สำคัญของเทคโนโลยี AR ด้วย เพราะนี่เป็นครั้งแรกของโลกจริง ๆ ค่ะที่ผลิตภัณฑ์ซึ่งมี AR เป็นตัวชูโรงหลักสามารถกลายเป็นกระแสฮิตในหมู่คนทั่วไปได้ทั่วโลกขนาดนี้ ต่างกับสมัย Google Glass ที่แม้จะฮิตมากในช่องข่าวชื่อดัง แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ใช้คนทั่วไป

แม้ Pokemon Go จะถูกวิจารณ์ในเชิงเทคนิคว่ายังแสดงภาพ AR ซ้อนได้ไม่สมจริง แต่ด้วยกระแสฟีเวอร์ตอนนี้ก็ไม่มีใครจะกล้าปฏิเสธนะคะว่ามันคือ AR ตัวแรกที่เอาชนะใจกลุ่มผู้ใช้กระแสหลักทั่วโลกได้ เพราะลงท้ายแล้วสำหรับคนทั่วไป ใครจะสนล่ะคะว่าเกมนี้ใช้วิธีคำนวณซับซ้อนแค่ไหน ใช้เทคโนโลยี AR หรือ VR ที่กำลังฮิตมากกว่ากัน ตราบเท่าที่มันใช้แล้วดี เล่นแล้วสนุก ตอบโจทย์สิ่งที่ต้องการได้เป๊ะ แม้จะเป็นการ์ตูน Pokemon ยุค 199X ที่คนทันดูโตจนเข้าวัยทำงานกันแล้ว แม้จะเป็นเทคโนโลยีเก่าๆ อย่าง GPS หรือเทคโนโลยีที่หลายคนมองข้ามอย่าง AR แต่พอมาอยู่ในมือคนมีฝีมือ มีจินตนาการที่ไม่ปิดกั้น และ มีวิสัยทัศน์รู้จักผสมผสานความรู้และศาสตร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ของที่หลายคนปรามาสว่าเก่าก็กลับมารวมเป็นร่างใหม่ให้คนฟีเวอร์เกิดเป็นความสำเร็จชั่วข้ามคืนนี้ได้เหมือนกันค่ะ

ปล. ณ วันที่เขียนบทความเรื่องนี้ บริษัทผู้พัฒนาเกมได้แก้ปัญหาเซิร์ฟเวอร์ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้เล่นไปบางส่วนแล้ว และได้เปิดให้โหลดเล่นเพิ่มได้ที่เยอรมันและอังกฤษ ส่วนการเปิดให้โหลดในอีกกว่า 200 ประเทศที่เหลือตามแผนเดิมนั้นข่าวว่า “อีกไม่นาน” ค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น