ฝรั่งกูรู ออกมาเฉลยทฤษฎีตรรกะพื้นฐานง่ายๆ ที่ทำให้ซีรีย์เกมเรียงบล็อคอมตะคลาสสิค สามารถอยู่คู่วงการมานานกว่า 30 ปี
คอเกมทั้งรุ่นใหม่วัยเยาว์ และรุ่นใหญ่วัยเคราหลายคนคงสงสัยว่าเกมเรียงบล็อกตัวต่อชื่อก้องโลกอย่าง "เตตริส" (Tetris) หากปล่อยให้เล่นต่อไปเรื่อยๆโดยไม่กำหนดกฏเกณฑ์ ตัวเกมจะมีวันเล่นจบหรือไม่? ในวันนี้คงได้รู้คำตอบกันแล้วผ่านคลิปรายการ PBS Game/Show ตอนล่าสุด ซึ่งได้มีการตีแผ่แฉสูตรลับของทีมพัฒนาที่ยังคงทำให้แฟนๆติดกันงอมแงม ไม่ว่าจะคลอดมันออกมาอีกกี่ภาค
"เจมิน วอร์เรน" (Jamin Warren) พิธีกรหลักผู้ดำเนินรายการ ได้อธิบายด้วยเหตุผลทางคณิตศาสตร์ ระบุอิฐบล็อครูปร่างต่างกันทั้ง 7 สีที่มีชื่อเรียกทางการว่า "Tetrominoes" ที่อยู่ภายในเกมเตตริสนั้น สามารถนำมาเรียงต่อกันได้สนิทชิดแนบจนไม่เหลือช่องว่างได้จริงโดยกินเนื้อที่ความกว้างในเกมจำนวน 8 ช่อง แต่ทว่าขนาดพื้นที่ความกว้างทั้งหมดที่ตัวเกมให้มากลับมีมากถึง 10 ช่อง
ซึ่งด้วยช่องว่างระยะห่างดังกล่าว จึงทำให้เหลือพื้นที่ว่างส่วนเกินที่อยู่เหนือการควบคุมของผู้เล่น และมีโอกาสสูงที่จะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามนี่ถือเป็นเพียงแค่อีกหนึ่งปัจจัยเท่านั้น เมื่อเทียบกับรายงานวิจัยที่เคยมีคนศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปีค.ศ. 1996 ซึ่งระบุถึงวิธีการสุ่มแรนด้อมอิฐบล็อคภายในเกม ที่ทำให้ผู้เล่นแพ้พ่ายมานักต่อนัก
โดยทางเจมิน ได้เล่าขยายความต่อว่า เมื่อเล่นนานจนถึงจุดๆหนึ่งตัวเกมจะเริ่มสุ่มแต่อิฐบล็อคที่ทำให้เกิดช่องว่าง โดยเฉพาะอิฐบล็อครูปทรงตัว "S" หรือที่บางคนเรียกตัว "Z" และต่อให้เล่นเกมที่ให้มาแต่อิฐบล็อครูปทรงดังกล่าว ตัวเกมก็จะโอเวอร์ในรอบที่ 70,000 อยู่ดี ซึ่งถึงแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องตลกที่ฟังดูโหดร้าย แต่ก็มิอาจหยุดยั้งแฟรนไชส์เตตริส จากการปราฏตัวตามเครื่องเล่นเกม โฆษณาข้างตึก รวมไปถึงเสื้อทีเชิร์ตในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา
ข้อมูลและภาพประกอบจาก
engadget
*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารวงการเกมครับ*