ก.วัฒนธรรมเปิดโครงการ "เด็กไทยกับไอที" จัดประกวดคลิปวีดีโอเชิงสร้างสรรค์ ชิงรางวัลถ้วยเกียรติยศและทุนการศึกษา พร้อมจัดนิทรรศการสื่อไอทีและเสวนารู้เท่าทันเกมที่งาน TGS BIG Festival ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคมน้ี
กระทรวงวัฒนธรรมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ "เด็กไทยกับไอที" เพื่อส่งเสริมการใช้สื่อไอทีอย่างสร้างสรรค์ สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนใช้ไอทีให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม พร้อมจัดประกวดคลิปวีดีโอความยาวไม่เกิน 5 นาที ชิงรางวัลถ้วยเกียรติยศและทุนการศึกษารวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีการร่วมกับงานเกม TGS BIG Festival ผนวกเอากิจกรรมของโครงการ "เด็กไทยกับไอที" ให้เป็นส่วนหนึ่งของงานเกมดังกล่าว โดยจะมีการจัดนิทรรศการภายใต้ 3 หัวข้อเรื่อง ได้แก่ นิทรรศการ "พระเจ้าอยู่กับไอที" นำเสนอพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งในด้านการสื่อสาร เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ สายพระเนตรอันกว้างไกลในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด , นิทรรศการ "Kid's Culture" ที่แสดงให้เห็นพัฒนาการทางการละเล่นของเด็กในรูปแบบดิจิตอล , นิทรรศการในประเด็นเรื่องสื่อไอที เกมและพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนของเด็กไทย
อีกทั้งยังจะมีการเสวนาในประเด็นต่างๆ อาทิ เด็กไทยรู้เท่าทันเกม , เด็กไทยกับสื่อดิจิตอล , เด็กไทยกับการต่อยอดบนสมาร์ทโฟน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและแขกรับเชิญมาร่วมเสวนา รวมถึงมีการจัดประกวดคอสเพลย์อนุรักษ์วัฒนธรรม ซึ่งกิจกรรมข้างต้นจะมีขึ้นที่งาน TGS BIG Festival ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคมนี้ ที่รอยัลพารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
นายสุระ เตชะทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า โครงการเด็กไทยกับไอทีเกิดจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมมือ ช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนได้รู้เท่าทันสื่อไอทีต่างๆ จะได้ปรับใช้ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด
นายปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า ในปัจจุบันเยาวชนสามารถเข้าถึงสื่อไอทีได้ง่าย ดังนั้นกระทรวงวัฒนธรรมจึงมีโจทย์ที่สำคัญว่า ทำอย่างไรจะให้เยาวชนเข้าถึงสื่อได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพราะสื่อที่ไม่ดีนั้นมีอยู่ทั่วไป พบเห็นได้ง่าย จึงต้องมีการร่วมมือกันผลิตสื่อที่สร้างสรรค์ เพื่อให้สื่อเหล่านี้มีส่วนช่วยเหลือเยาวชน
"ที่ผ่านมากระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้ปล่อยปละละเลย มีการร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะออกมาในรูปแบบว่า ถ้าผู้ใหญ่คิดให้แล้วต้องดีแน่นอน แต่สุดท้ายเด็กเขาก็มีวัฒนธรรมในแบบของเขาเหมือนกัน เราจึงต้องฟังเสียงของเขา กิจกรรมของเราจะเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดเห็นในมุมมองของเขา ได้แสดงความคิดเห็นในแบบของเขา โดยใช้สื่อไอทีเป็นช่องทางสำคัญ จัดทำคลิปวีดีโอเด็กไทยกับไอทีส่งเข้ามาประกวด" นายปรีชา กล่าว
รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะทำงานเด็กไทยกับไอที สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า ปัญหาเด็กไทยกับไอทีนับเป็นปัญหาอันดับต้นๆ รองจากยาเสพติดและความรุนแรง จากการสำรวจล่าสุดพบว่ามีสัดส่วนประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของเยาวชนที่รับการสำรวจอยู่ในภาวะค่อนข้างติดเกม ถ้าคิดเป็นตัวเลขก็ประมาณ 2,500,000 คน
"ก่อนอื่นตัองเข้าใจก่อนว่า เด็กที่เล่นเกมไม่ได้หมายความว่าเป็นเด็กติดเกมทุกคน บางคนอาจจะเล่นเกมหลายชั่วโมงแต่ก็สามารถจัดสรรเวลาได้ ซึ่งตรงนั้นเราไม่เรียกว่าติดเกม เราจะเรียกว่าเด็กติดเกมก็ต่อเมื่อการเล่นเกมกลืนกินชีวิตเขาแล้ว มีผลกระทบต่อชีวิตเขา มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ทางพฤติกรรม อาการคล้ายติดยาเสพติด มีการแยกตัวออกจากสังคม อารมณ์ก้าวร้าว ทำลายข้าวของ ไม่พอใจเมื่อไม่ได้เล่นเกม" รศ.นพ.ชาญวิทย์ กล่าว
รศ.นพ.ชาญวิทย์ ระบุเพิ่มเติมว่า โครงการเด็กไทยกับไอทีนับเป็นนิมิตหมายที่ดี แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐมีการลงมือทำงาน ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีกิจกรรมที่มีเนื้อหาสาระให้แก่เยาวชนหลายอย่าง ช่วยให้เยาวชนและครอบครัวได้เข้าใจและเข้าถึงสิ่งดีๆ ที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้สร้างสรรค์ขึ้นมา
ในส่วนของกิจกรรมการประกวดคลิปวีดีโอ "เด็กไทยกับไอที" จะเปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี ถ่ายทอดมุมมองและความคิดสร้างสรรค์ผ่านผลงานคลิปวีดีโอที่ถ่ายทำด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ สมาร์ทโฟน กล้องดิจิตอล คอมพิวเตอร์แท็ปเล็ต ฯลฯ ความยาวขั้นต่ำ 30 วินาทีและไม่เกิน 5 นาที ไม่จำกัดเรื่องราว ไม่จำกัดเทคนิค โดยส่งลิงค์ผลงานมาที่ https://www.facebook.com/itdekthai เปิดรับผลงานจนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 จากนั้นจะประกาศผลและมอบรางวัลในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ที่แบไต๋ดิจิตอลไลฟ์สตูดิโอ ชั้น 4 ดิจิตอลเกตเวย์ สยามสแควร์
ผู้ชนะเลิศการประกวดจะได้รับถ้วยเกียรติยศและประกาศนียบัตรจากกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท รองชนะเลิศจะได้รับประกาศนียบัตรและเงินรางวัล 50,000 บาท (2 รางวัล) นอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล โดยจะได้รับประกาศนียบัตรและเงินรางวัล 25,000 บาท ส่วนผู้เข้าประกวดทุกคนที่พลาดรางวัลใหญ่จะได้รับประกาศนียบัตรจากกระทรวงวัฒนธรรม
คณะกรรมการตัดสินการประกวด ประกอบด้วย รศ.ดร.อรุณีประภา หอมเศรษฐี ประธานสภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (แห่งประเทศไทย) , นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและประชาสัมพันธ์ , นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ที่ปรึกษาสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม , นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต , นายปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนต์ชื่อดัง , นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ด้านไอที , นายจักรกฤต โยมพยอม สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่และพิธีกรรายการไอที