xs
xsm
sm
md
lg

“สิทธิหนังไทย” สื่อที่ยังคงถูกเซ็นเซอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การต่อสู้เพื่อให้ภาพยนตร์ได้รับอิสระจากการถูกแบน ถูกเซ็นเซอร์ ถูกตัดทอนเนื้อหาบางส่วน โดยกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียวที่ใช้ทัศนะส่วนตัวตัดสินวิจารณญาณของคนทั่วประเทศมีมาตลอด จนเมื่อเวทีเสวนา “สิทธิหนังไทย : ฐานะสื่อและการกำกับดูแล” ผู้ร่วมเสวนาหลายคนถึงกับเอ่ยว่า “นี่มันเหมือนเดจาวูที่เคยเกิดมาหลายครั้งแล้ว”
 

จากระบบเซ็นเซอร์สู่ระบบเรตติ้ง แต่ท้ายที่สุดก็ยังมีการแบน ดูเหมือนระบบการเซ็นเซอร์หนังในเมืองไทยจะไม่ได้เดินหน้าไปไหน แต่การต่อสู้ในกระบวนการยังคงดำเนินไปตามขั้นตอนอันสลับซับซ้อนเพื่อขับเคลื่อนขั้นตอนตามกฎหมายไปให้ถึงจุดที่หนังจะไม่ถูกแบน วงการภาพยนต์ยังคงต่อสู้เพื่อให้ได้ฐานะเป็นสื่อมวลชนประเภทหนึ่งในสังคมไทย
  

การต่อสู้อันยาวนาน
  

การต่อสู้เพื่อให้ภาพยนตร์ได้รับอิสระอย่างแท้จริงมีมาช้านานมาแล้ว ร.ศ.บรรจง โกศัลวัฒน์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาภาพยนตร์ - วิดีทัศน์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ผู้กำกับรุ่นเก่าเผยถึงการสร้างหนังสมัยก่อนที่เขาเคยมีไอเดียจะสร้างหนังเรื่อง “จอมพล” หากแต่เพียงแค่เขียนพล็อตออกมา ผู้สร้างก็บอกแล้วว่า คงเข้าฉายไม่ได้แน่นอน
  

“คนก็พูดกันว่า หนังไทยมีแต่หนังรัก ผัว - เมีย ในยุคนั้นเราก็สร้างหนังประเภทอื่นไม่ได้จริงๆ จะพบว่าช่วงนั้นวงการหนังจะมีแต่หนังซ้ำๆ เดิมๆ ตลอด”
  

ทั้งนี้ หนังสมัยก่อนเมื่อถูกแบนก็จะได้รับคำตอบเพียงสั้นๆ ว่า เพราะภาพยนตร์เรื่องนั้นขัดต่อศีลธรรมอันดี หรือทำให้สังคมเกิดความแตกแยกส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ แต่สถานการณ์ก็เหมือนจะดีขึ้น เมื่อมีระบบเรตติ้งที่การเซ็นเซอร์ถูกย้ายไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมแทนที่จะเป็นตำรวจเหมือนสมัยก่อน ทำให้มีระบบของคณะกรรมการพิจารณาขึ้นมา
  

พันธ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องไอ้ฟัก เล่าถึงการต่อสู้ที่ผ่านมาซึ่งเขามีส่วนร่วมในเหตุการณ์ เพราะหนังของเขาเรื่องไอ้ฟักก็เคยถูกตั้งคำถามและจะมีการเซ็นเซอร์ฉากหนึ่งออกไป
  

“เขาก็เรียกผมไปถาม ฉากนี้ตัดออกได้มั้ย? มันคือฉากไอ้ฟักทายาหม่องให้สมทรง ซึ่งตรงนั้นผมต้องการให้ไอ้ฟักมันมีความรู้สึกทางเพศกับสมทรง กรรมการบอกแบบนี้มันจะทำให้คนดูเกิดอารมณ์ทางเพศหรือเปล่า? ผมก็บอก ผมต้องการให้เกิดอารมณ์ แต่กรรมการรับไม่ได้”
  

ทั้งนี้ สิ่งที่เขาต้องการคือการที่ภาพยนตร์จะได้มีสิทธิ์พูดเท่ากับที่สื่ออื่นอย่างโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์พูด นั่นคือไม่ผิดกฎหมายอาญา หากภาพยนตร์นั้นผิดกฎหมายอาญาอย่างการเป็นสื่อลามก หรือหมิ่นประมาทใคร ก็ควรถูกเอาผิด
  

ภาพยนตร์ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นสื่อ
  

ในทางกฎหมายแล้ว อาจจะฟังดูแปลก แต่ ยิ่งชีพ อัชณานนท์ นักกฎหมายจากโครการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน(iLaw) เผยถึงรายละเอียดในพรบ.ที่มีการนิยามภาพยนตร์ในฐานะที่เป็นวัตถุมากกว่าสื่อ ทำให้ต้องมีการควบคุม เพราะหากถูกจัดเป็นสื่อ ภาพยนตร์ก็จะอยู่ในความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิประชาชนในการสื่อความคิดด้วยวิธีต่างๆ ออกมาได้
 

“เราจึงต้องขับเคลื่อนให้เกิดการตีความว่า ภาพยนตร์คือสื่อ และการแบนภาพยนตร์นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนของการต่อสู้ในทางกฎหมายที่เราได้ยื่นฟ้องไปแล้วกับกรณีของภาพยนตร์ อินเซค อิน เดอะ แบ็กยาร์ด กับเชคสเปียต้องตาย”
 

ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับหนังรุ่นใหญ่มองว่า นี่เป็นอุบัติเหตุเชิงกฎหมายที่เกิดขึ้น เมื่อย้อนกลับไปถึงช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อที่ทำให้สื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ได้รับสิทธิ์ไม่ต้องถูกเซ็นเซอร์ก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะได้
 

“เหมือนตอนนั้นมีการพูดกันเรื่องเสรีภาพสื่อ มันเป็นเหมือนขบวนรถไฟที่สื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรศัพท์เขาขึ้นรถไฟกันไปทัน แต่ภาพยนตร์ขึ้นไม่ทันอยู่คนเดียว ซึ่งตอนนั้นเหมือนจะมีข้อเสนอว่า หากจะได้รับเสรีภาพไม่มีการแทรกแซงจากภาครัฐ อุตสาหกรรมภาพยนตร์จะไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ หลายคนก็เห็นว่า โอเค ไม่ได้อยากได้เงินจากภาครัฐอยู่แล้ว ให้เสรีภาพดีกว่า แต่สิ่งที่ปรากฎออกมามันก็เป็นแบบนั้น”
 

ขณะที่ทางด้านของ ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งประเทศไทย มองว่า ภาพยนตร์เป็นสื่อมีพลังและส่งผลหลายอย่างต่อสังคม
“เมื่อก่อนเราจะได้รับคำตอบเพียงว่า แบนเพราะขัดต่อศีลธรรมอันดี แต่ตอนนี้เรามีโอกาสได้ชี้แจงมากขึ้น มีโอกาสได้ถาม ได้คุยว่า มันเกิดจากอะไรกันแน่ นั่นคือทิศทางที่ดีขึ้น”

สภาภาพยนตร์ ฝันอิสระของคนทำหนัง
 

ในการเสวนาดังกล่าวมีการยื่นข้อเสนอเพื่อการนำพาภาพยนตร์ให้หลุดไปจากการเซ็นเซอร์ พันธ์ธัมม์ เผยถึงความเจ็บช้ำในช่วงที่มีการยื่นให้รับกฎหมายที่ก่อให้เกิดระบบเรตติ้งว่า มีการต่อเติมโดยคนที่ยื่นจนทำให้ได้สิ่งที่ไม่ตรงกับที่ต้องการ
“เราเปรียบเขาเหมือนเป็นช่างเครื่อง เวลาเราจะยื่นเสนอพรบ. เราจะต้องยื่นให้ช่างเครื่องเหล่านี้เป็นคนร่างและเขียนรายละเอียด ทีนี้พอเราทำการรณรงค์แล้ว เราชนะแล้วที่ประชาชนเห็นด้วยกับสิ่งที่เราเสนอคือระบบเรตติ้งโดยไม่มีการเซ็นเซอร์ พอเราเสนอ ช่างเครื่องเหล่านี้แหละที่ไปเพิ่มเติมสิ่งที่เราไม่ต้องการเข้าไป ทำให้กลายเป็นว่าตอนนี้มีทั้งระบบเรตติ้งและการแบนหนัง”
 

อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ และตัวแทนกลุ่ม Free Thai Cinema เผยอย่างตรงไปตรงมาว่า ต่อให้คนสร้างภาพยนตร์ต้องการสร้างหนังให้เกิดความแตกแยกเขาก็ต้องมีสิทธิ์จะทำได้
 

“ทุกวันนี้ในสื่อโทรทัศน์มันก็มีสีกันหมดแล้ว แล้วทำไมหนังจะพูดในสิ่งที่คนนั้นเชื่อไม่ได้ ทำไมจะใส่เต็มๆไม่ได้ มันต้องทำให้สิ ตราบใดที่มันไม่ขัดต่อหลักสากล มันไม่ใช่การกระทำความรุนแรงต่อเด็ก การร่วมเพศกับศพ มันต้องทำได้”
 

ข้อเสนอของกลุ่ม Free thai cinema คือการตั้งสภาภาพยนตร์ที่ให้คนในวงการทำหนังตัดสินกันเองว่าควรแบนไม่แบน หรือจัดเรตติ้งหนังอย่างไร โดยมีกฎเกณฐ์ระบุอย่างลงลึกถึงรายละเอียดตามงานวิจับที่มีการรองรับให้ใช้กันเป็นหลังสากลในวิชาชีพภาพยนตร์
 

ท้ายสุดนี้ ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะสามารก้าวพ้นกำแพงแห่งความกลัวที่มีต่อทัศนคติของผู้คนในสังคมได้หรือไม่
 



กำลังโหลดความคิดเห็น