xs
xsm
sm
md
lg

Review : Kirby Mass Attack(NDS) สามัคคีคือพลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรตเกม ESRB E เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย

ในยุค HD ที่เกมแข่งกันสร้างกราฟิกที่สมจริง ตัวละครจากฝั่ง นินเทนโด อย่าง เคอร์บี้ จึงถูกมองเมินเพราะด้วยความน่ารัก (เกินไป) และภาพที่ดูเหมือนนิทานสำหรับเด็กเล็กๆ คนส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็นเกมสำหรับเด็กผู้หญิง เกมหลอกเด็ก ทั้งที่ความจริงแล้วเคอร์บี้ มีความสนุกอยู่มากมายไม่แพ้เกมอื่น

แม้เกม เคอร์บี้ จะไม่ได้โด่งดังอย่าง มาริโอ หรือ เซลด้า แต่ก็มีการสร้างอย่างต่อเนื่องตลอด โดยเพิ่งออกภาค Kirby Epic Yarn บน Wii เมื่อปีที่แล้ว มาคราวนี้เจ้าเคอร์บี้อ้วนกลมกลับมีอีกครั้งบน NDS และ ได้กลับไปใช้จอสัมผัสในการเล่นทั้งหมดเหมือนภาค canvas curse ซึ่งเป็นเกมแรกที่ออกบน NDS ที่ จะเปลี่ยนจากกดปุ่มเป็นใช้จอสัมผัสเขียนเส้นทางสีรุ้งเพื่อบังคับตัวละคร ทำให้ต้องใช้จอสัมผัสในการเล่น ไม่ได้ใช้ปุ่มกดในการเล่น

ส่วนในภาค Kirby Mass Attack เจ้า เคอร์บี้ก็จะกินศัตรูไม่ได้เหมือนภาค Epic Yarn เพราะ เจ้าอ้วนกลมได้ถูกพ่อมดสาปให้ร่างแตกแยกออกจากกันเป็นตัวเล็กตัวน้อยทั้งหมด 10 ตัว และเคอร์บี้ต้องหาทางแก้คำสาป และเนื่องจากเจ้าอ้วนกลมตัวเล็กจิ๋วทำให้กินใครไม่ได้ และมันอ่อนแอลงไม่สามารถต่อสู้ตัวเดียวได้ ดั้งนั้นผู้เล่นต้องสร้างเคอร์บี้ออกมาในด่านให้มากที่สุด จึงจะผ่านได้ โดยเราต้องกินผลไม้ในฉากให้ครบจำนวนที่กำหนดโดยเจ้าอ้วนกลมจะออกมาได้สูงสุดออกมาได้ 10 ตัว

โดยรูปแบบการเล่นเป็น เกมแอ็คชั่น 2 มิติมุมมองด้านข้าง และการเล่นจะใช้จอสัมผัสเล่นอย่างเดียว เพื่อควบคุมตัวละครโดยการจิ้มไปที่หน้าจอเพื่อกำหนดทิศทางที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย และเรายังตวัดไปที่หน้าจอเพื่อบังคับให้กระโดด, จิ้มไปที่ศัตรูเพื่อโจมตี โดยเรายังบังคับ เจ้าเคอร์บี้มารวมตัวกันเพื่อให้ลอยตัวได้ และเกมยังได้สอนถึงการแบ่งหน้าที่กัน โดยในหลายฉากผู้เล่นต้อง แบ่งกลุ่มเพื่อแก้ปริศนา เช่นให้ 5 ตัวไปดึงสวิทช์ เพื่อเปิดประตู แล้วให้ อีก 5 ตัวไปดันบล็อก พร้อมกันเพื่อเปิดทางไปต่อ แม้อาจจะดูวุ่นวาย แต่ถ้าเข้าใจรูปแบบการเล่นแล้วเกมจะสนุกมาก

และจำนวนตัวของ เคอร์บี้ ที่ออกมาในฉาก ล้วนส่งผลกับเกม ทั้งในต่อสู้และแก้ปริศนา เพราะยิ่งจำนวนตัวมากจะทำให้ต่อสู้ศัตรูที่ตัวใหญ่กว่าได้ และยังใช้เพื่อแก้ปริศนา เช่นการดึงรากไม้ ที่ต้องใช้น้ำหนักในการถ่วง ดังนั้นเราต้องมีเคอร์บี้จำนวนมากมาช่วยดึง รวมทั้งยังใช้ในการดันก้อนหินเพื่อเปิดทาง ซึ่งถ้าเรามีเคอร์บี้น้อยก็จะไม่สามารถดึงได้ ต้องไปกินให้ตัวเพิ่ม จนถึงจำนวนที่กำหนดจึงจะผ่านได้ และเนื่องจากตัวเล็กทำให้แต่ละตัวโดนโจมตีแค่ 2 ครั้งก็จะตาย ยังดีที่สามารถเรียกกลับมาได้ถ้าให้เคอร์บี้ตัวที่ไม่ตายไปจับดวงวิญญาณได้ทันก่อนจะลอยออกจากฉาก จึงทำให้เราต้องเล่นอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาชีวิตของเคอร์บี้แต่ละตัวให้ไปถึงจุดหมายให้ครบตามจำนวนที่เกมกำหนดถึงจะผ่านด่าน โดยในแต่ละด่านยังมีทั้งปริศนาให้แก้ และมีอุปสรรคที่แปลกใหม่แทบจะไม่ซ้ำกัน และมีซับซ้อนพอควร

นอกจากปริศนาแล้ว เกมยังใส่มินิเกมสนุกๆมาในแต่ละด่านระหว่างเล่น ทั้งการบังคับบอลลูนให้ลอยไปยังทิศทางต่างๆผ่านการถ่วงน้ำหนักของจำนวนตัวเคอร์บี้ หรือมินิเกมจับคู่ภาพ หรือบอสที่เล่นกับการใช้จำนวนตัวเคอร์บี้ไปตลอดเกมเช่นการเล่นไม้กระดกเพื่อจัดการบอส และเกมยังแถมเกมสั้นๆแยกออกมาให้เล่น ที่จะค่อยๆปลดล็อกออกมาเรื่อยๆ โดยมีทั้งเกมพัซเซิ่ลน่ารักเช่นการตีตัวตุ่น หรือลากยาวแบบเกมยานยิง โดยใช้เคอร์บี้แทนยานอวกาศ เหมือนเกม ทวินบี และส่วนเสริมของเกมก็มีมาครบทั้ง การเก็บเหรียญทอง เหมือนเกม นิว ซูเปอร์มาริโอ ก็ถูกใส่มา

แต่หลายคนคงแปลกใจที่กราฟิกในเกมดูย้อนยุคไปไกลเหมือนเกมสมัยซูเปอร์แฟมิคอม 16 บิท แต่ถ้าคิดว่ามันเป็นภาพแนวย้อนยุคที่เข้ากับตัวเกมที่เป็นแนวแอ็คชั่นน่ารักๆที่เน้นความสนุกมากกว่าความสมจริงอยู่แล้ว ซึ่งก็ทำได้น่ารัก ดูง่ายเหมาะกับเกม เช่นเดียวกับเพลงประกอบเกมที่เป็นเสียงแบบ 16 บิทแท้ๆ แต่ก็มีการแต่งเพลงที่ติดหู และมีเสียงประกอบที่น่ารักน่าชัง และมันก็ไม่ได้เลวร้ายถึงขนาดรับไม่ได้

สรุปแล้ว แม้กราฟิกในเกมจะดูธรรมดา และการควบคุมบังคับที่เมื่อมีตัวละครในฉากมากๆก็อาจจะดูวุ่นวายไปบ้างในบางด่าน แต่เกมก็ยังสนุก เต็มไปด้วยจินตนาการ และสอนให้เห็นถึงการร่วมมือร่วมใจ ได้ใช้สมองในการแบ่งงานกัน ทำให้เกมมีความสนุกที่หลากหลาย ได้สาระ และดูดีกว่าเกมใช้จอสัมผัสบนสมาร์ทโฟน ถ้าคุณชอบเกมน่ารักๆ เล่นได้ทุกเพศทุกวัย มีเกมเพลย์ที่สนุกเกินคาด Kirby Mass Attack เป็นทางเลือกที่ดี แถมยังได้ฝึกสมองไปในตัว

Review Kirby: Canvas Curse
Review: "Kirby's Epic Yarn"

เกมการเล่น8.5
กราฟิก6.5
เสียง8
ความคิดสร้างสรรค์8
ความคุ้มค่าสนุกเล่นง่าย
ภาพรวม8


ข้อดี : เกมเพลย์สนุก ง่าย หลากหลาย
ข้อเสีย : กราฟิกตกยุค
ข้อแนะนำ : แฟนเจ้าอ้วนกลมห้ามพลาด

Darth.Vader (วงศกร ปฐมชัยวัฒน์)
สนับสนุน บทความโดย ร้านเกม NADZPROJECT















กำลังโหลดความคิดเห็น