ระบบ Wii
เรตเกม CERO A เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย
ในยุคปัจจุบันที่อุดมไปด้วยเกมคอนโซลมีกราฟิกเทพๆ เน้นความสมจริง อลังการงานสร้าง ระเบิดภูเขาเผากระท่อม แม้มันจะสนุกแต่มันก็แฝงด้วยความรุนแรง ส่วนเกมที่มีความคิดสร้างสรรค์ เกมที่มีรูปแบบการเล่นที่สนุกสนานที่อาจจะ ถูกดูถูกว่าเป็นเกมไร้สาระ หรือถูกลดบทบาทไปเป็นเกมบนเครื่องมือถือ หรือ แท็บเล็ต ที่ไว้เล่นแก้เซ็งมากกว่า ทั้งที่ความจริงแล้วเกมแนวนี้แหละประสบความสำเร็จมหาศาลกว่าเกมฮาร์ดคอร์เสียอีก
หนึ่งในนั้น Rhythm Tengoku ที่เป็นเกมจับหวะดนตรีแบบไม่ใช้เครื่องดนตรี แต่ใช้เสียงประกอบเกมในการเล่น ที่สร้างโดยทีมงาน wario ware โดยออกภาคแรกบน เกมบอยแอดวานซ์ และ มีภาคต่อที่ใช้จอสัมผัสเล่นบน NDS ที่แม้กราฟิกในเกมจะดูน่ารัก เรียบง่าย แต่เกมมีความยากระดับเกมฮาร์ดคอร์ ยังอาย เพราะผู้เล่นต้องจับจังหวะการเล่นที่เที่ยงตรงมากๆ แต่ความยากระดับโหดหินนี้เองเป็นเสน่ห์ของเกม ที่แม้จะไม่ได้ดังเท่าเกมอื่น แต่ความสนุกของเกมก็ไม่แพ้ใคร
วันนี้ Rhythm Tengoku กลับมาบนเครื่องเกมจับการเคลื่อนไหวที่ใกล้ตกยุคอย่าง วี และแน่นอนทุกคนต้องคาดหวังว่ามันจะได้นั่งสะบัดวีโมตกันมันมือแน่ แต่เสียดายมันไม่เป็นเช่นนั้นเพราะเกมใช้การกดปุ่มบนวีโมตเป็นหลัก โดยใช้แค่ปุ่ม A กับ B ในการเล่นเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะต่อหนึ่งด่านในเกมต้องใช้การกดจังหวะเป็นร้อยๆครั้ง แถมเกมต้องการความเที่ยงตรงสูงมาก การจับการเคลื่อนไหวอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีนัก เพราะผู้เล่นคงได้สะบัดแขนจนไหล่หลุดก่อนจบเกมแน่
แม้เกมจะถูกย้ายมาบนเครื่องคอนโซล แต่กราฟิกในเกมก็ไม่ได้อัพเกรดจากมือถือมากนัก ภาพในเกมยังคงเป็น การ์ตูนแบบ 2 มิติแบบภาคก่อน แต่มันก็สร้างได้ดีและยังน่ารักเรียกเสียงฮาจากผู้เล่นได้ไม่ยาก ส่วนดนตรีประกอบในเกมที่แม้ไม่ได้โดดเด่นเหมือนเกมดนตรีทั่วๆไป ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่เพื่อถ่ายทอดความสนุก แต่มันก็ทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม ยิ่งถ้าเราจับจังหวะได้แทบจะโยกหัวไปพร้อมกับเพลงในเกมได้ไม่ยาก และเมื่อภาคนี้ถูกสร้างลงเครื่องคอนโซล ส่งผลให้ระบบเสียงดีกว่าบนเครื่องมือถือ ทำให้ไม่ต้องนั่งใส่หูฟังเพื่อเล่นอีกต่อไปแล้ว
รูปแบบการเล่นยังคงไม่ต่างจากภาคแรก โดยเป็นมินิเกมดนตรีที่ใช้การกดปุ่มเพื่อจับจังหวะให้ตรงกับเพลง โดยด่านยังสรรค์สร้างด้วยไอเดียน่ารัก ทั้งด่าน ตีแบดมินตันแข่งกันบนเครื่องบิน , ด่านไขน๊อตประกอบหุ่นยนต์ , ด่านที่ต้องกดให้ตัวละครร้องตามจังหวะเพลง , รวมทั้งด่านที่เราต้องเตะลูกบอลสารพัดแบบเพื่อไม่ให้มากวนการจีบสาว , ด่านเดินสวนสนามด้วยเพลงมาร์ชของนกน้อยน่ารัก หรือด่านเก่าๆอย่างซามูไรฟันปีศาจก็กลับมา และเพราะเป็นภาคคอนโซลเกมจึงได้ใส่มินิเกมมาอย่างจุใจถึง 50 ด่าน รับประกันคุ้มค่าสุดๆ
ส่วนจุดเด่นของเกมในซีรีย์ Rhythm Tengoku คือเกมจะไม่มีแถบหรือค่าพลังบอกว่าเราเล่นได้เท่าไรถึงผ่านด่าน ผู้เล่นต้องไปรอลุ้นเอาเองตอนจบด่านว่าจะทำคะแนนถึงเกณฑ์หรือไม่ และเมื่อผ่านจะปลดล็อกด่านใหม่ๆมาให้เล่น รวมทั้งมีมินิเกมสั้นๆให้เล่นฆ่าเวลาด้วย โดยจะมีการแบ่งเป็นด่านย่อยๆ และมีด่านบอสเป็นการรีมิกซ์เพลงของแต่ละด่านมารวมกันเหมือนเดิม และสำหรับแฟนเกม ก็ยังมีโหมดท้าทายอย่างโหมดPerfect ที่ห้ามพลาดให้เหมือนภาคก่อนๆ และในภาคนี้ยังมีโหมดเล่นกับเพื่อนที่ไว้แข่งทำคะแนนกันได้ด้วย
เกมยังคงรักษาความยากชนิดมหาโหดไว้ครบและอาจจะยากเกินจนอยากปาจอยทิ้งด้วยซ้ำ แต่ถ้าคุณเข้าใจและจับจุดได้ก็จะผ่านไปได้ไม่ยาก เพราะการเล่นเกมในซีรีย์นี้ ภาพในเกมไม่สำคัญเท่าเสียงดนตรี ที่ผู้เล่นต้องกดให้ตรงจังหวะพอดีแบบเที่ยงตรงมาก และถ้าคุณสามารถจับจังหวะได้แล้ว จะสามารถหลับตาเล่นได้เลย เพราะภาพในเกมจะหลอกตาผู้เล่นให้สับสน และในด่านจะมีอุปสรรคมาบดบังภาพการเล่น ทำให้มองไม่ถนัด เหมือนบังคับให้ผู้เล่นปิดตาเล่น ซึ่งถ้าคุณเข้าใจรูปแบบการเล่นของ Rhythm Tengoku แล้วคุณจะสนุกไปกับมันได้
สรุปแล้วแม้เกมจะมีความยากมหาโหดขัดกับรูปลักษณ์ของเกมจะดูเป็นเกมเพื่อเล่นแบบผ่อนคลายในวันหยุด แต่ถ้าจับจุดได้เกมก็ไม่ได้ยากจนเล่นผ่านไม่ได้ และเรายังได้ฝึกสมาธิในการจับจังหวะดนตรีที่ทั้ง สนุก มัน ฮา แฟนเก่าที่ตามมาตั้งแต่สมัย เกมบอย ห้ามพลาดเพราะการมาครั้งนี้แม้จะดูออกช้าไปนิด แต่ความสนุกแบบเดิมๆยังคงมีครบ ส่วนคอเกมที่ไม่ได้มองเกมแค่ภาพภายนอกก็อยากให้ลอง เพราะแม้เกมจะไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการด้วยกราฟิก แต่ความความสนุกก็ไม่แพ้เกมดนตรีเทพๆเกมอื่นเลย
Rhythm Tengoku จังหวะแห่งเกม
Review: "Rhythm Tengoku Gold" สัมผัสเสียงจากสวรรค์
เกมการเล่น | 8.5 |
กราฟิก | 6.5 |
เสียง | 8 |
ความคิดสร้างสรรค์ | 8 |
ความคุ้มค่า | เกมจับจังหวะที่สนุก |
ภาพรวม | 8.5 |
ข้อดี : มินิเกมเยอะ เกมเพลย์สนุกท้าทาย เล่นกับเพื่อนได้
ข้อเสีย : กราฟิกที่ดูน่ารัก ขัดกับความยากของเกม
ข้อแนะนำ : ถ้าชอบ 2 ภาคแรก ไม่ควรพลาด
Darth.Vader (วงศกร ปฐมชัยวัฒน์)
สนับสนุน บทความโดย ร้านเกม NADZ PROJECT