ข่าวผลประโยชน์ไม่ลงตัวระหว่าง 2 แกนนำนักพัฒนาเกมฝีมือดีจาก “อินฟินิตี้ วอร์ด”เจ้าของผลงานเกมซีรีส์ Call of Dutyและ “แอ็กติวิชัน”บริษัทผู้จัดจำหน่ายเกมรายใหญ่ หลังเปิดศึกร้าวฉานกันในช่วงสัปดาห์นี้ด้วยการปลดออกจากตำแหน่งให้เห็นผ่านทางออนไลน์ และแม้แต่ในแถลงข่าวของบริษัทก็ตาม สุดท้ายทั้งสองฝ่ายได้เลือกวิธีเผชิญหน้ากันผ่านการฟ้องศาลเป็นที่เรียบร้อย
วินซ์ แซมเพลลา และเจสัน เวสต์ สองผู้ก่อตั้งสตูดิโอ “อินฟินิตี้ วอร์ด” ออกมาให้สาเหตุที่ถูกปลดประจำการ โดยยื่นเอกสารจำนวน 16 หน้าว่า ทางต้นสังกัดไม่ได้จ่ายเงินค่าตอบแทนผลดำเนินการ (Royalty Fee)ที่เขาควรจะได้รับ ขณะที่แอ็กติวิชันก็สวนกลับมาว่า สิ่งที่ทั้งคู่อ้างถึงไม่เป็นความจริง และไม่สมควรที่จะได้รับ เนื่องจากบริษัทได้ทำการสนับสนุนทีมงานอย่างเต็มที่แล้ว รวมถึงแสดงความผิดหวังที่ทั้งคู่เลือกใช้วิธีทางกฏหมาย
Robert Schwartz ทนายความของทั้งคู่ กล่าวว่า แอ็กติวิชันปฏิเสธที่จะปฏบัติตามข้อตกลง มันเป็นสิ่งที่นายจ้างต้องจ่ายให้กับลูกจ้างกับสิ่งที่พวกเขาควรได้รับ แทนที่บริษัทจะขอบใจ ,ยกย่อง หรือให้เงินตอบแทนตามปกติกับผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นเหลือ แต่แอ็กติวิชันเลือกที่จะจ้างทนายเมื่อเดือนก่อนเพื่อตรวจสอบดูว่าทั้งคู่บกพร่องหรือทำผิดสัญญาตรงไหนบ้าง จนกลายมาเป็นเรื่องราวของการระงับการต่อสัญญาเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
ด้านเวสต์ ระบุว่า พวกเขารู้สึกช็อกจากการที่ต้นสังกัดยกเลิกสัญญาจ้างงาน พวกเขาไม่เพียงจะสร้างสตูดิโอพัฒนาเกมระดับโลกหนึ่งขึ้นมาเท่านั้น แต่ได้ก่อร่างสร้างทีมที่เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจในการทำงานมาเกือบ 10 ปี และเขาก็ไม่ได้คิดจะฟ้องเพื่อที่จะเอาเงินหรอกนะ
ทั้งนี้ สิ่งที่เวสต์และแซมเพลลายื่นฟ้องแอ็กติวิชันนั้นก็มีประเด็นเกี่ยวกับการเรียกร้องเงินกว่า 36 ล้านเหรียญสหรัฐ,การใช้แบรนด์โมเดิร์น วอร์แฟร์ และห้ามไม่ให้แอ็กติวิชันวางขายเกมคอลล์ ออฟ ดิวตี้ หลังจากภาคสงครามเวียดนาม โดยปราศจากการยินยอมจากพวกเขา
ทีมอินฟินิตี้ วอร์ดนั้น ถูกทางแอ็กติวิชันซื้อเข้ามาอยู่ในสังกัดเมื่อปี 2003 พัฒนาเกมแนวชูตเตอร์มุมมองบุคคลที่หนึ่ง(FPS)ซีรีส์คอลล์ ออฟ ดิวตี้ เรียกว่าดังมาตั้งแต่ออกภาคแรกบนเครื่องพีซีเมื่อปี 2003 ปัจจุบันภาคโมเดิร์น วอร์แฟร์ 2 ถือเป็นเกมลำดับที่ 6 ในตระกูล และสามารถทำยอดขายทุบสถิติโลกตั้งแต่วันแรกที่วางจำหน่าย รวมไปถึงรายได้สูงสุดในวงการเกมด้วย 550 ล้านเหรียญสหรัฐใน 5 วันแรก และรวมรายได้ในเดือน ม.ค.ผ่านหลักพันล้านเหรียญสหรัฐไปแล้ว
เรื่องราวความขัดแย้งในเรื่องเกมขายดีเกมนี้คงยังไม่ยุติง่ายๆ ผลที่ตามมาสำหรับกรณีดังกล่าว คงลงท้ายด้วยการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้แบรนด์เกมไปสานต่อ ส่วนฝ่ายผิดหวังน่าจะเลือกเส้นทางที่จะตั้งแบรนด์เกมใหม่เพื่อมาท้าชนกัน ท่วงทำนองเดียวกันกับกรณี “กีตาร์ ฮีโร่” กับ “ร็อก แบนด์”
ข้อมูลจาก...
www.gamesindustry.biz
www.gamasutra.com
www.ign.com