ผลสำรวจความเห็นของนักพัฒนาเกมครั้งล่าสุด พบว่าเหล่านักพัฒนาเกมให้ความสนใจในการพัฒนาเกมลงเครื่องวี ของนินเทนโดลดลง โดยไปให้ความสนใจมากขึ้นในการพัฒนาเกมลงไอโฟน ซึ่งมากกว่าเครื่องเกมพกพา DS และ PSP ถึงสองเท่า
แม้ว่าก่อนหน้านี้ "ซาโตรุ อิวาตะ" ประธานนินเทนโด จะออกมาพูดว่า เครื่องวีสามารถทำยอดขายกลับมาดีขึ้น หลังจากยอดขายซบเซาไปในช่วงปี 2009 แต่ดูว่าในอนาคตข้างหน้า เครื่องวี อาจจะมีปัญหาจากการที่มีเกมออกน้อยลงเนื่องจากเหล่าผู้พัฒนาเกมให้ความสนใจเครื่องเกมตัวนี้น้อยลง
จากการสำรวจความเห็นของเหล่านักพัฒนาเกมครั้งล่าสุด ที่ไปสอบถามความคิดเห็นเหล่านักพัฒนากว่า 800 คนทั่วโลกในประเด็นต่างๆ พบว่า เหล่านักพัฒนาเกมพัฒนาเกมมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเกมลงเครื่องวี ของนินเทนโด น้อยลง และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเกมลงไอโฟนมากขึ้น
ผลสำรวจเปิดเผยว่า เหล่านักพัฒนาเกมประมาณ 41 เปอร์เซนต์ พัฒนาเกมลงเครื่องคอนโซล โดย 30 เปอร์เซนต์ระบุว่าจะทำเกมลงเครื่องวี ทิศทางความเห็นของนักพัฒนาที่จะทำเกมลงเครื่องวีในปีล่าสุด น้อยลงกว่าผลสำรวจของปีก่อนที่ระบุว่า มีนักพัฒนาทำเกมลงเครื่องวี 42 เปอร์เซนต์ ก่อนหน้านี้ก็มีสัญญาณออกมา จากการที่ยูบิซอฟต์ ได้มีการประกาศปรับแผนด้านทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับการพัฒนาเกมลงเครื่องเพลย์สเตชัน 3 และ Xbox360
จากผลสำรวจระบุว่านักพัฒนาเกมประมาณ 69 เปอร์เซนต์ พัฒนาเกมลงเครื่อง Xbox360 และ 61 เปอร์เซนต์ พัฒนาเกมลงเครื่องเพลย์สเตชัน 3
สำหรับแพลตฟอร์มที่ได้รับการสนับสนุนจากนักพัฒนาเกมมากขึ้นคือ แพลตฟอร์มประเภทพกพาเคลื่อนที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ไอโฟน นักพัฒนาเกมประมาณ 25 เปอร์เซนต์ ระบุว่าได้ทำเกมลงแพลตฟอร์มประเภทพกพาเคลื่อนที่เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว 12 เปอร์เซนต์ ซึ่งไอโฟน เป็นแพลตฟอร์มที่นักพัฒนาเกมให้การตอบรับมากที่สุดคิดเป็น 75 เปอร์เซนต์ของนักพัฒนาเกมที่ทำเกมลงแพลตฟอร์มประเภทพกพาเคลื่อนที่ และยังมากกว่าการสนับสนุนพัฒนาเกมลง DS หรือ PSP ถึงสองเท่า
ทางด้านแพลตฟอร์มที่ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดคือเครื่องพีซี ที่รวมถึงเกมบนเว็บไซต์ และเกมบนระบบคอมมิวนิตี้ออนไลน์ต่างๆ นักพัฒนาเกมกว่า 70 เปอร์เซนต์ ระบุว่าอยู่ระหว่างพัฒนาเกมลงเครื่องพีซี และแมคอินทอช อย่างน้อย 1 เกม สำหรับเหตุผลหลักที่นักพัฒนาใช้ตัดสินใจในการเลือกทำเกมป้อนแพลตฟอร์มตัวใดคือเรื่องของ ความยากง่ายในการพัฒนา และ การเข้าถึงตลาด นอกจากนั้นยังมีปัจจัยประกอบอื่นๆอีก อาทิ ความสามารถของทีมพัฒนา , ราคาต้นทุนชุดพัฒนาเกม และความยากง่ายในการแปลงโค้ดเกมจากแพลตฟอร์มหนึ่งไปลงให้กับแพลตฟอร์มอื่น
อีกหนึ่งผลสำรวจที่น่าสนใจคือ ทีมพัฒนาเกมขนาดเล็ก ที่มีทีมงานประมาณ 50 คนหรือต่ำกว่านั้น มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น 7 เปอร์เซนต์
ข้อมูลและภาพประกอบจาก
gamespot.com
joystiq.co
ign.com