xs
xsm
sm
md
lg

"คอนทัวร์ รีอัลลิตี้"เทคนิคสร้างหน้าคน"แสนโพลิกอน"ขยับสู่วิดีโอเกม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ตามปกติแล้วเราจะเห็นเทคโนโลยี “โมชัน แคปเจอร์” ถูกนำมาใช้ในการแปลงสัญญาณท่าทางการเคลื่อนไหวของมนุษย์เพื่อนำไปใช้การสร้างตัวละครเกมออกมาให้มีอากัปกิริยาสมจริง โดยให้คนแต่งตัวด้วยชุดสีดำๆแล้วมีการติดลูกบอลขาวๆเล็กๆตามจุดต่างๆ ของร่างกาย แต่ทว่าสิ่งที่ยากเย็นเข็นใจที่สุดก็คงไม่มีอะไรหนักหนาไปกว่าความเคลื่อนไหวของใบหน้าคนให้สมจริงได้ แม้จะติดจุด reflective ไปร้อยจุดก็ยังถือว่ายังยากอยู่ดี และในเร็วๆนี้จะมีเทคโนโลยีใหม่ออกมาเหนือชั้นกว่าเดิมเสียอีกในชื่อ “คอนทัวร์ รีอัลลิตี้ แคปเจอร์” มาใช้กับวิดีโอเกม

สำหรับระบบเทคนิค “คอนทัวร์ รีอัลลิตี้ แคปเจอร์” (Contour Reality Capture) ถูกพัฒนาโดยบริษัท “โมวา” (Mova) ที่มี “สตีฟ เพิร์ลแมน” เป็นผู้ก่อตั้ง ประวัติความสามารถของเขาคนนี้ไม่ธรรมดาทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญในการพัฒนา QuickTime ให้กับแอปเปิลเมื่อปลายปี 1980 และยังทำ “WebTV Networks” ในปี 1995 ก่อนจะตกมาเป็นของไมโครซอฟท์ในปี 1997

“คอนทัวร์ รีอัลลิตี้ แคปเจอร์” เป็นระบบที่สร้างขึ้นมาโดยการใช้กล้องหลายตัวตั้งเรียงกันเป็นแถวเพื่อจับภาพในมุมมองต่างๆของโมเดลที่ต้องการ ซึ่งจะสามารถแปลงการเคลื่อนไหวของใบหน้าออกมาเป็นถึง 100,000 โพลิกอน โดยไม่ต้องใช้ reflective ball เหมือนโมชัน แคปเจอร์แต่อย่างใด

ในปีนี้ที่งาน “GDC” หรืองานประชุมเหล่านักพัฒนาเกมโลก บริษัทโมวาได้นำเทคนิคนี้ไปโชว์ตัว หลังเคยเปิดเผยข้อมูลมาก่อนหน้านี้มาบ้างแล้ว แน่นอนว่าคราวนี้ย่อมไม่ธรรมดา เนื่องจากบริษัทพยายามดึงดูดใจเหล่านักพัฒนาเกมด้วยการแสดงเทคนิคนี้ทำงานแบบเรียล-ไทม์บนเอนจินพัฒนาเกมชื่อดัง “อันเรียล เอนจิน3” (Unreal Engine 3) ของทีมเอปปิก เกมส์

เพิร์ลแมนกล่าวว่า นี่ถือเป็นการเพิ่มพละกำลังของอันเรียล เอนจิน3 ให้มากขึ้น โดยเขาได้แสดงภาพการทำงานด้วยชิปการ์ดจอ NVIDIA 8800 GTXs with SLI ถึง 2 ตัว และกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าค่อนข้างยากเหมือนกันในการทำออกมาให้ดูดี ไม่ว่าจะเป็นส่วนของหนังตา,ริมฝีปาก ไปจนถึงรอยย่นบนใบหน้า ในตอนนี้บริษัทของเขากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับบรรดานักพัฒนาเพื่อดัดแปลงระบบนี้ไปใช้กับวิดีโอเกม

“บนเครื่องเล่นเกมรุ่นใหม่ไม่แน่ว่าอาจจะมีภาพคนจริงๆเข้าไปอยู่ในเกมเลยก็ว่าได้” เพิร์ลแมนกล่าว

อย่างไรก็ตาม เพิร์ลแมนไม่ได้เปิดเผยว่ามีบริษัทใดที่ใช้เทคโนโลยีของเขาออกมาให้ทราบ เพียงแต่เปิดเผยว่า ตัวเขาคาดว่าจะเห็นเกมแรกที่ใช้เทคนิคนี้ออกมาในปี 2008 ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับตัวทีมพัฒนาเกมด้วย และคาดว่าระบบนี้จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมเกมในปี 2009

ทั้งนี้ “คอนทัวร์ รีอัลลิตี้ แคปเจอร์” สามารถสร้างออกมาเป็นโพลิกอนมากกว่า 100,000 โพลิกอนต่อซีน และสามารถแทรคแบบเฟรมต่อเฟรม หรือช็อตต่อช็อตได้กว่า 10,000 จุด ก่อนการใช้กล้องจับภาพจะต้องทาสารเรืองแสงพิเศษ (Phosphorescent) ลงไปบนใบหน้า และมีการใช้หลอดไฟ Florescent พิเศษเพื่อให้แสงทำปฏิกิริยากันสารเรืองแสง ในส่วนของโปรแกรม 3D ที่รองรับการทำงานของระบบก็มี XSI ,Face Robot, Maya, MotionBuilder ,3ds Max และซอฟต์แวร์ทั้งหมดของ Vicon

ข้อมูลและภาพประกอบจาก...
www.joystiq.com
www.mova.com






กำลังโหลดความคิดเห็น