xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวบิดเบือน! ตั้งครรภ์ 3 เดือน แล้วกินยาฟาวิพิราเวียร์ อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากที่มีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องตั้งครรภ์ 3 เดือน แล้วกินยาฟาวิพิราเวียร์ อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าหญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูง จึงมีการพิจารณาการใช้ยาต้านไวรัสเหมือนกับผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ โดยขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ประวัติและความเสี่ยง ต้องให้แพทย์เป็นคนสั่งยา

วันนี้ (2 เม.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพเรื่องตั้งครรภ์ 3 เดือน แล้วกินยาฟาวิพิราเวียร์ อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน

จากที่มีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพโดยระบุว่า ต้องรู้! ผลข้างเคียงอันตรายจากฟาวิพิราเวียร์ อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความพิการ หากรับประทานยาในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโควิด 19 ที่รุนแรง ร่วมกับอาจจะมีข้อจำกัดของทางเลือกในการรักษา หลังการรักษาโควิด 19 ในหญิงตั้งครรภ์จึงให้พิจารณาการใช้ยาต้านไวรัสเหมือนกับผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ ยกเว้นบางกรณีดังต่อไปนี้

1. การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในหญิงตั้งครรภ์อาจทำให้เด็กอ่อนในท้องเสียชีวิตหรือพิการได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นหญิงวัยเจริญพันธุ์ควรพิจารณาตรวจการตั้งครรภ์ก่อนเริ่มยา
2. ไม่แนะนำให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาส 1
3. สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาส 2 และ 3 ถ้ามีข้อบ่งชี้ และแพทย์พิจารณาแล้วว่าจะได้ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง โดยมีการตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วยและญาติ
4. มีข้อมูลความปลอดภัยของการใช้ Remdesivir ในหญิงตั้งครรภ์จำนวนหนึ่งแต่ไม่มาก สามารถใช้ Remdesivir ได้ในหญิงตั้งครรภ์ทุกไตรมาส และควรใช้ตามข้อบ่งชี้เหมือนผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ ถ้ามีข้อบ่งชี้และแพทย์พิจารณาแล้วว่าจะได้ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง โดยมีการตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วยและญาติ
5. ยังไม่มีข้อมูลการศึกษา Nirmatrelvir/Ritonavir ในหญิงตั้งครรภ์ แต่ถ้าแพทย์พิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง ให้ใช้ได้ถ้ามีข้อบ่ชี้โดยมีการตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วยและญาติ
6. เนื่องจาก Molnupiravir มี Teratogenic Effect จึงห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ในทุกไตรมาส
7. หากหญิงตั้งครรภ์มีแนวโน้มอาการรุนแรง ให้รีบส่งต่อโรงพยาบาลที่สามารถดูแลได้ให้เร็วที่สุด ตามดุลยพินิจของแพทย์

ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.dms.go.th/หรือโทร. 0-2590-6000

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูง จึงมีการพิจารณาการใช้ยาต้านไวรัสเหมือนกับผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ โดยขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ประวัติและความเสี่ยง ต้องให้แพทย์เป็นคนสั่งยา

หน่วยงานที่ตรวจสอบ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


กำลังโหลดความคิดเห็น