จากประเด็นใช้น้ำมัน E85 ขัดผิวหลังคอ ทำให้คราบดำที่คอออกได้ไวขึ้น ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า การเอาน้ำมัน E85 มาขัดฟอกบริเวณรอยโรคนั้นไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะไม่ช่วยรักษารอยโรคแล้วอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เนื่องจากน้ำมัน E85 มีส่วนประกอบของเอทานอล 85% และน้ำมันเบนซิน 15% ซึ่งเมื่อสัมผัสกับผิวหนังโดยตรงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวอย่างรุนแรงได้
วันนี้ (26 ก.พ.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการส่งต่อข้อมูลในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องใช้น้ำมัน E85 ขัดผิวหลังคอ ทำให้คราบดำที่คอออกได้ไวขึ้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีที่มีคลิปวิดีโอแนะนำถึงการใช้น้ำมัน E85 ขัดหลังคอ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้คราบที่คอ ออกได้ไวขึ้นนั้น ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า การเอาน้ำมัน E85 มาขัดฟอกบริเวณรอยโรคนั้นไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะไม่ช่วยรักษารอยโรคแล้วอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เนื่องจากน้ำมัน E85 มีส่วนประกอบของเอทานอล 85% และน้ำมันเบนซิน 15% ซึ่งเมื่อสัมผัสกับผิวหนังโดยตรงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวอย่างรุนแรงได้ หรือการสูดดมเข้าไปมากๆ อาจทำให้มีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ในระยะยาวอาจมีผลต่อระบบประสาทกับทางเดินหายใจด้วย
ทั้งนี้ ผิวหนังที่มีลักษณะสีดำคล้ำ เป็นปื้น ผิวมีความหนา ลักษณะคล้ายกำมะหยี่ ซึ่งมักจะพบบ่อยบริเวณซอกพับของร่างกาย โดยบริเวณที่พบบ่อย ได้แก่ หลังคอ รักแร้ และขาหนีบ โดยเรียกโรคนี้ว่าโรคผิวหนังช้าง หรือ “Acanthosis nigricans รอยโรคของโรคผิวหนังช้างนี้ ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการ” บางรายอาจมีอาการคันที่บริเวณรอยโรคได้บ้าง ลักษณะของโรคผิวหนังช้างมักจะสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคทางระบบฮอร์โมนและต่อมไร้ท่อ การมีระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ ยา และอาหารเสริมบางชนิด เช่น ไนอะซิน (niacin) ยาคุมกำเนิด ยากินเพรดนิโซโลน (prednisolone) และอาจจะสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีความสัมพันธ์กับมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งกระเพาะอาหาร การวินิจฉัยทางการแพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากลักษณะของรอยโรค ร่วมกับการซักประวัติ ในส่วนของแนวทางการรักษานั้น การรักษาโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุทำให้รอยโรคของโรคผิวหนังช้างดีขึ้นได้นั้น เช่นการออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร และหยุดใช้ยาที่อาจเป็นสาเหตุของโรค นอกจากนี้ อาจมีการใช้ยาทาหรือยากินบางกลุ่มก็สามารถช่วยให้รอยโรคทุเลาลงได้ ที่สำคัญคือควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองและหาสาเหตุของโรค เพื่อนำไปสู่การดูแลรักษาที่เหมาะสม
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.dms.go.th หรือโทร. 02-590-6000
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การเอาน้ำมัน E85 มาขัดฟอกบริเวณรอยโรคนั้นไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะไม่ช่วยรักษารอยโรคแล้วอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้
หน่วยงานที่ตรวจสอบ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข