ใช้เนยแท้ทาเคลือบแผลน้ำร้อนลวก ช่วยแก้ปวด ลดตุ่มพองใส จากข้อความข้างต้นสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้ชี้แจงว่า เมื่อมีน้ำร้อนลวก แผลไฟไหม้ ไม่ควรทาเนยหรือสารอื่น ๆ ที่ไม่ทราบคุณสมบัติชัดเจน ลงบนบาดแผล เพราะผิวหนังที่มีบาดแผลจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย การทาสารอื่นๆ ที่ไม่สะอาดลงบนบาดแผล ทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูงตามมา ซึ่งการได้รับการดูแลปฐมพยาบาลที่ถูกต้องและรวดเร็วเป็นเรื่องสำคัญมาก
วันนี้ (21 ก.พ.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลระบุรายละเอียดว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องใช้เนยแท้ทาเคลือบแผลน้ำร้อนลวก ช่วยแก้ปวด ลดตุ่มพองใส ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีที่มีการแชร์ข้อมูลว่าเมื่อโดนน้ำร้อนลวก ให้ใช้เนยแท้มาทาเคลือบแผลไว้ ช่วยแก้ปวด ลดรอย ลดตุ่มพองใส คืนเดียวยุบหมดเลยนั้น ทางสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เมื่อมีน้ำร้อนลวก แผลไฟไหม้ ไม่ควรทาเนยหรือสารอื่นๆ ที่ไม่ทราบคุณสมบัติชัดเจน ลงบนบาดแผล เพราะผิวหนังที่มีบาดแผลจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย การทาสารอื่นๆ ที่ไม่สะอาดลงบนบาดแผล ทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูงตามมา ซึ่งการได้รับการดูแลปฐมพยาบาลที่ถูกต้องและรวดเร็วเป็นเรื่องสำคัญมาก ตั้งแต่ระยะก่อนมาพบแพทย์เพื่อลดโอกาสในการลุกลามของบาดแผล และลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงรวมถึงเกิดการติดเชื้อผิวหนัง
โดยทั่วไปผิวหนัง มีหน้าที่สำคัญในการปกป้องร่างกายจากเชื้อโรค สารเคมี รังสีต่าง ๆ รวมถึงมีส่วนในการควบคุมความชื้น และอุณหภูมิของร่างกาย มีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่เป็นจำนวนมาก สำหรับบาดแผลจากไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวกที่บริเวณผิวหนัง สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ตามความลึกของบาดแผล คือ
แผลลึกระดับที่ 1 (First-degree burn) การบาดเจ็บอยู่เฉพาะที่ชั้นหนังกำพร้า เป็นชั้นผิวหนังส่วนตื้น แผลอาจมีลักษณะคล้ายผิวหนังไหม้จากการโดนแสงแดดจัด อาการที่พบ เจ็บแสบ แดง และแห้ง ไม่มีลักษณะของตุ่มน้ำให้เห็น หายได้เองภายใน 7 – 14 วัน
แผลลึกระดับที่ 2 (Second-degree burn) การบาดเจ็บลงลึกถึงชั้นหนังแท้ อาการขึ้นอยู่กับความลึกที่ได้รับบาดเจ็บ มักพบตุ่มน้ำ แผลถลอกร่วมด้วย การหายของแผลอาจใช้เวลามากกว่าสองสัปดาห์และมีโอกาสเกิดแผลเป็นหรือสีผิวผิดปกติตามมา
แผลลึกระดับที่ 3 (Third-degree burn หรือ Full-Thickness burn) ผิวหนังทุกชั้นถูกทำลายด้วยความร้อน แผลมีลักษณะแห้งแข็ง ไม่ยืดหยุ่น แผลชนิดนี้มักไม่หายเอง ต้องได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง มีโอกาสเกิดการหดรั้งหรือแผลเป็นนูนตามมาได้ค่อนข้างมาก
ซึ่งการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับบาดแผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก คือ 1. ออกจากแหล่งความร้อนโดยเร็วที่สุด รวมถึงกำจัดแหล่งความร้อนที่จะทำให้บาดแผลลุกลามมากขึ้น เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับที่อยู่บริเวณแผล เป็นต้น 2. ล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดที่อุณหภูมิปกติ เพื่อลดความร้อนและทำให้แผลเย็นลง 3. กรณีมีบาดแผลถลอก มีตุ่มน้ำ สีของผิวหนังเปลี่ยนแปลง มีบาดแผลลึก หรือมีแผลไหม้เป็นบริเวณกว้าง สามารถปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ หรือผ้าสะอาด และให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน 4. ไม่ควรทาหรือใช้สารอื่น ๆ ทาลงบนบาดแผล เช่น เนย ยาสีฟัน ไข่ขาว และน้ำปลา เนื่องจากอาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อที่บาดแผลได้ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์ สามารถติดตามได้ที่ www.dms.go.th หรือโทร 02 5906000
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ไม่ควรทาเนยหรือสารอื่นๆ ที่ไม่ทราบคุณสมบัติชัดเจน ลงบนแผลน้ำร้อนลวก เพราะการทาสารอื่นๆ ที่ไม่สะอาดลงบนบาดแผล ทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูงตามมา
หน่วยงานที่ตรวจสอบ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข