กรณีการแชร์ข้อมูลในโลกออนไลน์ว่ามีการนำเข้าวัคซีนของไฟเซอร์ (Pfizer) เข้ามาในประเทศไทยแล้วนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเท็จ โดยข้อมูลจากด่านอาหารและยา ยืนยันไม่พบมีการนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์แต่อย่างใด รวมทั้งได้ตรวจสอบจากบริษัทผู้ผลิตแล้ว ได้รับการยืนยันจากบริษัทว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงเช่นกัน
วันนี้ (6 พ.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง พบวัคซีน Pfizer เข้าไทย ในรูปแบบ emergency ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีการแชร์ข้อมูลในโลกออนไลน์ว่ามีการนำเข้าวัคซีนของไฟเซอร์ (Pfizer) เข้ามาในประเทศไทย โดยยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยานั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเท็จ โดยข้อมูลจากด่านอาหารและยา ยืนยันไม่พบมีการนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์แต่อย่างใด รวมทั้งได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงการนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์จากบริษัทผู้ผลิตแล้ว ได้รับการยืนยันจากบริษัทว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงเช่นกัน ซึ่งกระบวนการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ต้องเป็นผู้ที่รับอนุญาตนำเข้า และมีทะเบียน รวมทั้งต้องผ่านด่านอาหารและยาเพื่อนำเข้าอย่างถูกต้อง หากมีการนำเข้าวัคซีนแต่ไม่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยขอยืนยันว่าวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในขณะนี้มีทั้งสิ้น 3 ราย ได้แก่ 1. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด 2. วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้า โดยองค์การเภสัชกรรม และ 3. วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลค จำกัด
สำหรับวัคซีนโมเดิร์นนา โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด อยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียน และอีก 2 ราย อยู่ระหว่างทยอยยื่นเอกสารคำขอขึ้นทะเบียนต่อเนื่อง ได้แก่ วัคซีนโควัคซีน โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และวัคซีนสปุตนิค วี โดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ยังไม่ได้มายื่นเอกสารขึ้นทะเบียนกับ อย.
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และหากมีข้อสงสัยเรื่องวัคซีนที่มีการนำเข้า ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของ อย. www.fda.moph.go.th หรือโทรสายด่วน 1556
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ปัจจุบันยังไม่พบการนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ในประเทศไทย และวัคซีนไฟเซอร์ยังไม่ได้มายื่นเอกสารขึ้นทะเบียนกับ อย. แต่อย่างใด
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข