xs
xsm
sm
md
lg

อย.โต้ปมการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 จาก “ไฟเซอร์” ยันบริษัทยังไม่ขอนำเข้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อย. แจงข้อเท็จจริงกรณีนำวัคซีนโควิด-19 จากบริษัท “ไฟเซอร์” เข้าประเทศไทยบางส่วนแล้ว ยืนยันไม่เป็นความจริง ยันบริษัทยังไม่ขอนำเข้าและไม่ได้ขึ้นทะเบียน

กรณีมีกระแสข่าวว่าวัคซีนโควิด-19 จากบริษัท ไฟเซอร์ ได้มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยในภาวะฉุกเฉินแล้ว

วันนี้ (5 พ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ว่า อย.ยืนยันว่า วัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ ยังไม่ได้มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย โดยเราได้ตรวจสอบและยืนยันอีกครั้งว่า บริษัท ไฟเซอร์ ยังไม่มีการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์เข้ามา กลไกในการนำเข้ามา 1. บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย จะต้องยื่นเป็นผู้ขอรับอนุญาตนำเข้า 2. ขออนุมัติยื่นขึ้นทะเบียน 3. เมื่อได้รับทะเบียนแล้วก็จะต้องให้ผู้ได้รับอนุญาต ทำเรื่องขออนุญาตกับ อย. เพื่อนำเข้าอีกครั้ง และเมื่อจะเข้ามาก็ต้องผ่านด่านอาหารและยา จากกองยา

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ขณะนี้ตรวจสอบแล้วว่า ไม่พบวัคซีนของไฟเซอร์เข้ามา และได้สอบถามไปที่บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย เขาก็ยืนยันว่า ยังไม่ได้มีการยื่นขึ้นทะเบียน อยู่ในระหว่างการเจรจา ซึ่งจะมายื่นขึ้นทะเบียนเร็วๆ นี้ ดังนั้น เขาก็จะไม่สามารถนำสินค้าเข้ามาได้ และทางบริษัท ไฟเซอร์ ยืนยันว่า มีนโยบายขายวัคซีนให้กับภาครัฐเท่านั้น”

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ขณะนี้ อย. ขึ้นทะเบียนวัคซีนแล้ว 3 ราย ได้แก่ 1. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศ โดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด 2. วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้า โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ 3. วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด และอยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียน 1 ราย คือ วัคซีนโมเดอร์นา โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ราย อยู่ระหว่างทยอยยื่นเอกสารพร้อมประเมินคำขอขึ้นทะเบียนต่อเนื่อง ได้แก่ วัคซีนโควัคซีน โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และ วัคซีนสปุตนิก วี โดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า มีบางเว็บไซต์ระบุพื้นที่ ว่า “ประเทศไทยมีการอนุญาตให้ใช้วัคซีนภายในภาวะฉุกเฉินแล้ว” นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นกับบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นเว็บไซต์ของทางบริษัท โดยเว็บไซต์ที่ปรากฏในสื่อต่างๆ เป็นเพียงเว็บไซต์ของสำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คาดว่า ทางบริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย จะมีการแถลงข่าวชี้แจง เรื่องอีกครั้ง

นพ.ไพศาล กล่าวว่า อย.ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง และขอเตือนว่า หากวัคซีนหรือยาตัวใดที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และมีการนำเข้าโดยไม่มีทะเบียน ก็ถือว่าเป็นยาที่ไม่มีทะเบียน โทษตามพระราชบัญญัติยา จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนรับทราบ ติดตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของ อย. เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงว่าวัคซีนตัวไหนที่ขึ้นทะเบียนและสามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้





กำลังโหลดความคิดเห็น