xs
xsm
sm
md
lg

แอ็กชั่นเร้าใจ เนื้อหาร้ายจริง Bangkok Breaking ฝ่านรกเมืองเทวดา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



หากไม่พูดพล่ามทำเพลงอะไรมากมาย คงต้องกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ณ ย่อหน้าแรกนี้ว่า นี่คือหนังแอ็กชั่นที่สนุกควรค่าแก่การรับชม เป็นหนึ่งในหนังดีที่น่าจดจำอีกเรื่องของผู้กำกับที่ชื่อ “ก้องเกียรติ โขมศิริ” และเป็นหนึ่งในหนังไทยที่สามารถพรีเซนต์ได้อย่างเต็มภาคภูมิว่าเจ๋งจริง

ทั้งนี้ “Bangkok Breaking Heaven and Hell” หรือ “ฝ่านรกเมืองเทวดา” ไม่ใช่ภาคต่อของซีรีส์ “Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง” ซึ่งสตรีมบนเน็ตฟลิกซ์เมื่อปี 2564 แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกันในฐานะภาคแยก ซึ่งนำเอาตัวละครหลักอย่าง “วันชัย” (เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารส) มาเล่าในอีกสถานการณ์หนึ่งซึ่งกำหนดให้เขาต้องเข้าไปพบกับอันตรายที่เกิดขึ้นในอีกมุมหนึ่งของมหานครกรุงเทพ

ถ้าพูดแบบโลกไม่สวย หนังมีความตั้งใจที่จะพาคนดูไปลัดเลาะซอกซอนไปดูสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในหลืบมุมบางมุมของสังคม ขณะที่กรุงเทพฯ ได้รับความนิยมระดับนานาชาติว่าเป็นเมืองน่าอยู่หรือสวยงาม แถมมีนิยามที่ติดหูผู้คนมานานหลายสิบปี อย่างเช่น “กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มหานครแห่งนี้ยังมีด้านที่ไม่น่าอภิรมย์อยู่ไม่น้อย (ซึ่งก็ดูไม่ต่างจากมหานครทั่วไป) การที่หนังใช้ “นรก” กับ “เมืองเทวดา” มาเป็นส่วนประกอบในชื่อเรื่อง จึงเป็นการสะท้อนความย้อนแย้งของเมืองแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะในที่ที่คนคิดว่าเป็นเมืองฟ้าเมืองสวรรค์หรือเมืองเทวดา แต่ก็ยังมีมุมที่เป็น “นรก” ซุกซ่อนอยู่


ขณะที่ตัวละครอย่าง “วันชัย” เปรียบไปก็คงคล้ายขั้วตรงข้ามกับดาร์กไซด์ดังกล่าว เพราะตัวตนของเขาที่เป็นด้านสว่าง ทั้งดีและซื่อ แต่ก็มีความเป็นฮีโร่ที่น่าชมเชยยกย่อง คนแบบวันชัยนี้เป็นประเภทที่หาได้ยาก เพราะคงไม่มีใครอยากหาเรื่องลำบากใส่ตัวด้วยการเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น

หรือถ้าจะพูดอีกที ก็คือ พระเอกแบบนี้เป็นตัวละครในระดับอุดมคติ คือคนที่พร้อมเสียสละและช่วยเหลือผู้อื่นอย่างบริสุทธิ์ใจ และไม่เคยครั่นคร้ามต่อภยันตรายใด ๆ ล่าสุดผมเองเพิ่งได้ดู “สัตว์สยองกยองซอง” ซีซั่นที่ 2 ตัวละครพระเอกก็ดูจะมีลักษณะแบบนี้ เป็นตัวละครที่น่าประทับอกประทับใจ ท่ามกลางผู้คนทั้งหลายที่คิดถึงแต่ตัวเอง

ทั้งนี้ ในความเป็นหนังแอ็กชั่น “ฝ่านรกเมืองเทวดา” ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม ด้วยจังหวะการเดินเรื่องชนิดที่ว่ามีอะไรให้ลุ้นแทบไม่พัก หนังออกสตาร์ทแบบสับสนอลหม่านด้วยฉากการต่อสู้ในม็อบซึ่งเหมือนเป็นการวอร์มคนดูก่อนประมาณสิบนาที จากนั้นผ่อนลงเล็กน้อยแล้วค่อยไต่ระดับความลุ้นระทึกและแอ็กชั่นรันไปอีกครั้งอย่างต่อเนื่องไม่ลดละ หนังเร่งเร้าให้เราตื่นเต้นติดตามแบบอยู่หมัด ขนาดที่รู้สึกว่า เวลา 2 ชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพราะมันไม่มีจุดไหนที่ก่อความรำคาญใจเลยแม้แต่น้อย


ความสนุกลุ้นระทึกไปกับตัวละครนั้นเกิดจากการที่หนังเก่งในการสร้างเงื่อนไขปัจจัยที่ตัวละครจะต้องเอาตัวรอด จากด่านหนึ่งไปยังอีกด่านหนึ่ง จากเงื่อนไขหนึ่ง ไปสู่เงื่อนไขหนึ่ง ซึ่งทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้ความซับซ้อนไม่ได้อยู่แค่ที่สถานการณ์ซึ่งมีบุคคลหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพัน แต่ยังมีความซับซ้อนวกวนในจิตใจของมนุษย์ที่จะเป็นอีกหนึ่งจุดชี้วัดว่างานนี้จะรอดไปถึงปลายทางหรือหล่นร่วงตกตายในระหว่างการฝ่าฟัน

สิ่งที่รู้สึกชอบอีกอย่างก็คือ ขณะที่การเดินเรื่องดำเนินไปอย่างรวดเร็วกระชับฉับไว พร้อมสถานการณ์มากมายที่เกิดขึ้นและพลิกผลันไปมา แต่ทว่าในระหว่างทาง หนังก็มีการ Flashback เพื่อป้อนข้อมูลที่จำเป็นแทรกเข้ามาเป็นระยะ ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจเหตุผลแห่งการกระทำของตัวละครมากยิ่งขึ้น และเป็นการ “เติม” มิติให้กับตัวละครไปด้วยในขณะเดียวกัน

ขณะที่ในพาร์ทของแอ็คชั่นทำหน้าที่ของตัวเองอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เราจะพบว่า พาร์ทของดราม่าก็เหยียบคันเร่งขับจี้ตีคู่มาในเลนส์คู่ขนานได้อย่างลงตัว และสามารถจะพูดได้ว่า ความดราม่านี้เองที่เป็นตัวเร่งตัวเร้าเรื่องราวให้หนักหน่วงเข้มข้นและดูอลหม่านทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกคือต้องหนีให้รอดจากการถูกตามล่า ภายในคือสู้รบปรบมือกับภาวะจิตใจของตัวเองและตบตีกับความคิดของคนที่มาด้วยกัน ซึ่งก็ต้องบอกว่า การปรุงรสชาติดราม่าผสมผสานเข้ากับแอ็กชั่นได้เหมาะเจาะพอดีเช่นนี้ ก้องเกียรติ โขมศิริ เคยทำได้อย่างยอดเยี่ยมมาแล้วในเรื่อง “ไชยา” เพียงแต่สิ่งที่ “ฝ่านรกเมืองเทวดา” มุ่งไปในขั้นกว่า ด้วยการเล่นกับสถานการณ์ที่เร่งเร้าดุเดือดแบบคนบ้าพลัง

ด้วยความที่ตัวละครเยอะ มีหลายคน หลายกลุ่ม หลายอุดมการณ์ความคิด เปรียบไปก็อาจจะพูดว่ามีเลเยอร์เป็นร้อย ๆ เรื่องราวเป็นร้อย ๆ แต่หนังสามารถร้อยเรียงและบอกเล่าออกมาได้เรียบร้อยสวยงาม และกล่าวได้ว่า แม้ตัวละครจะเยอะ เรื่องราวจะมาก แต่ไม่มีใครหลุด หนังใส่ใจในตัวละครสำคัญแต่ละตัว มีการวางและเก็บรายละเอียดของตัวละครนั้น ๆ พร้อมทั้งให้บทสรุปซึ่งทำให้คนดูรู้สึกกับตัวละครเหล่านั้นต่าง ๆ กันไป เช่น รู้สึกแย่ รู้สึกดี หรือรู้สึกสะเทือนใจ


หนึ่งในตัวละครที่น่ายกตัวอย่าง ก็คือ “เมจิ” ซึ่งรับบทโดย “มายด์ 4EVE” ที่ต้องการพูดถึง เพราะหนึ่ง เธอคือตัวแทนความคิดของคนจำนวนไม่น้อยที่อยู่อีกด้านตรงข้ามของ “วันชัย” ซึ่งมีอยู่มากมายในสังคม คือคนที่เห็นว่า จะเปลืองแรงเปลืองตัวเอาชีวิตไปเสี่ยงเพื่อคนอื่นทำไม เพราะการเอาตัวรอดให้ได้น่าจะง่ายกว่า อย่างที่เธอถามวันชัยว่า “พี่จะอยากเป็นฮีโร่อะไรนักหนาวะ แล้วพี่ทำแบบนี้ พี่ไม่กลัวเหรอ” ขณะที่คำตอบจากวันชัยคือ “กลัวสิ แต่ถ้ามันช่วยคนอื่นได้ด้วย มันก็น่าจะดีกว่า”

ดังนั้นแล้ว บท “เมจิ” แม้จะดูเหมือนเป็นด้านตรงข้ามกับวันชัย แต่ก็เป็นด้านตรงข้ามที่ทำให้บทวันชัยเฉิดฉายเปล่งประกายยิ่งขึ้นในแง่ความคิดและชูคอนเซปต์ของหนังให้ฉายแสงงดงาม อันว่าด้วยความดีมีน้ำใจ แต่อย่างไรก็ดี พอปูตัวละครเมจิมาแบบนี้ หนังก็ไม่ลืมที่จะให้สถานการณ์มากมายที่เธอพบเจอระหว่างทาง ปรับจูนตัวตนของเธอและก่อให้เกิดเป็นความประทับใจแก่คนดู

และดังเราจะเห็นได้ว่า ตัวละครหลายคนไม่ได้โดดเด่นด้วยเฉพาะบทบาทและการแสดงเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของเทคนิคเข้ามาหนุนเสริมให้เตะตายิ่งขึ้นไปอีก นั่นก็คือ เรื่องของเมคอัพ ที่ทำให้นักแสดงหน้าตาคุ้นเคยหลายคนเปลี่ยนลุคไปจน(แทบ)จำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น “เดย์ ไทเทเนียม” ที่รับบท “ดาร์ลี่” หัวหน้าแก๊ง ซึ่งนอกจากบทบาทที่ดูร้าย เทคนิคเมคอัพยังขับเน้นความอำมหิตน่าประหวั่นพรั่นพรึงตั้งแต่แรกเห็น


และที่ทุกคนพูดถึงตรงกันก็คือ ดู๋-สัญญา คุณากร กับบทมือปืนเจ้าของฉายา “สิญจน์ หนึ่งนัด” ซึ่งเป็นการพลิกบทบาทไปอย่างสิ้นเชิง การออกแบบตัวละครตัวนี้ถือว่ากินขาด ไม่สามารถตัดสินได้ด้วยความรู้จักเพียงผิวเผิน แต่ต้องดูไปยาว ๆ และแน่นอน..มันจะกลายเป็นตำนานอีกบทหนึ่งของนักแสดงและพิธีกรรุ่นเดอะคนนี้

ไม่ว่าจะอย่างไร ในขณะที่ฉากแอ็กชั่นรีดเค้นอะดรีนาลินจากคนดู มองไปยังฝั่งของเนื้อหา เราก็จะพบอีกเช่นกันว่า หนังมีความลึกและสะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่างออกมาให้เรารู้สึกร่วมได้ โดยเฉพาะการตีแผ่ความเป็นมนุษย์ ทั้งจุดที่หยาบกระด้างอัปลักษณ์ และความอ่อนโยนงดงาม ที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

หนังเรื่องนี้มีเซ็ตติ้งหลักอยู่ในแหล่งชุมชนที่กำลังโดนไล่ที่ นำไปสู่ม็อบประท้วงขั้นรุนแรง ความขัดแย้งนี้ทำให้เกิดภาพที่เราสามารถโยงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างไม่ต้องพยายาม

หนังพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยบุคคลหลายฝ่าย ทั้งนายทุน นักการเมืองหรือข้าราชการที่เอื้อนายทุน หรือขาใหญ่เจ้าถิ่นที่ทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ ไปจนถึงม็อบที่ประท้วง (ซึ่งบางส่วนก็มีเบื้องหลังที่ไม่ตรงไปตรงมา) แต่ละฝ่ายดูแล้วชวนวุ่นวายสับสน แต่หนังก็กัดหมดไม่สนว่าฝ่ายไหน ไม่ได้เข้าข้างใครเป็นพิเศษ เพราะสุดท้ายแล้ว ก็ดูเหมือนว่า ไม่ว่าจะฝ่ายใด ชั่วช้าเลวทรามแบบออกนอกหน้า หรืออำพรางตัวเองภายใต้วาทกรรมการพัฒนาเลิศหรูแค่ไหน ก็ไม่วายที่จะมีเป้าหมายแอบแฝงด้วยกันทั้งนั้น

ก็นี่แหละคือเหตุผลสำคัญว่าทำไมเมืองนี้จึงควรต้องมีคนซื่อคนตรงอย่าง “วันชัย” ให้มาก ๆ...











กำลังโหลดความคิดเห็น