xs
xsm
sm
md
lg

Call Center : อยากให้เธอได้ดูหนังเรื่องนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



รู้หรือไม่ว่า จากข้อมูลของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ระบุว่า ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 – 1 มีนาคม 2567 มีคดีออนไลน์เกิดขึ้นสูงถึง 474,721 คดี เฉลี่ยวันละ 627 คดี ในจำนวนนี้ มากกว่า 90% เกิดจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ลักลอบทำงานตามชายแดนประเทศไทย...

และในช่วงกลาง ๆ เดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา เชื่อแน่ว่า หลายคนคงรับรู้ข่าวสารของ “อาม่า” ท่านหนึ่งซึ่งโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงสูญเงินไปกว่า 2 ล้านบาทในช่วงเวลาไม่กี่วัน ซึ่งนับเป็นอาชญากรรมทางการเงินที่โด่งดังอีกครั้งหนึ่ง

ความรู้สึกและความคิดเห็นหลังจากได้ดูข่าว ก็มีต่าง ๆ กันไป บางคนอาจจะรู้สึกขุ่นเคืองอาม่าที่ดื้อดันต่อคำเตือนและทัดทานของลูกหลาน และก็มีไม่น้อยที่แสดงความโกรธแค้นแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้ที่หลอกได้แม้กระทั่งคนแก่


แต่ก็แน่ล่ะ เราพอจะรู้กันอยู่ว่า ผู้สูงอายุคือกลุ่มเป้าหมายหนึ่งซึ่งไม่ใช่แค่พวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์พุ่งเข้าใส่ แต่มิจฉาชีพแบบอื่น ๆ ก็ทำให้ผู้สูงวัยเจ็บปวดและสูญเสียมาแล้วไม่น้อยเช่นกัน ดังเช่นกรณีผู้สูงอายุท่านหนึ่งถูกหลอกให้ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล ก่อนจะสูญเงินไปกว่า 30 กว่าล้านบาท

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า กรณีของ “อาม่า” ไม่ใช่เคสแรก และคงไม่ใช่เคสสุดท้ายอย่างแน่นอน ขณะที่เหล่าสแกมเมอร์หรือมิจฉาชีพก็พัฒนากลวิธีในการต้มตุ๋นอย่างไม่หยุดหย่อน เชื่อว่าหลายคนที่เล่นโซเชียลก็คงเห็นว่ามันมาถึงขั้นหนักหนาสาหัสแล้ว คือถ้าไม่นับรวมพวกเพจชวนลงทุนโดยเอาชื่อบริษัทใหญ่ ๆ มาทำเพจปลอมได้อย่างไม่เกรงกลัวแล้ว ที่หนักกว่านั้นคือการที่มิจฉาชีพเปิดเพจเฟซบุ๊กแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อช่วยเหลือคนที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ ซึ่งมีหลายคนหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อกันไปแล้ว

การใช้มุกหลอกลวงแบบแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนี้ มีให้ได้ยินอยู่เรื่อย ๆ และนั่นก็คือสิ่งที่หนังสั้นความยาว 8 นาที เรื่อง Call Center หยิบมานำเสนอเป็นอุทาหรณ์


ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้อยู่ที่การสะท้อนภัยสังคมด้วยกุศลเจตนา ผลิตโดยทีมงานช่องยูทูปชื่อว่า “วิฬารปรัมปรา” ภายใต้แคมเปญ “ตื่นรู้” (Awake) ที่เกิดจากความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหลากหลายหน่วยงาน รวมทั้งภาคเอกชน ด้วยจุดมุ่งหมายในการสร้างความตระหนักรู้ในปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ เพื่อป้องกันประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในรูปแบบการหลอกลวงที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นแล้ว จึงกล่าวได้ว่า หนังเรื่องนี้มี “เป้าหมาย” ชัดเจนว่าต้องการจะสื่ออะไร ไปถึงใคร แต่ถึงอย่างนั้น ในระดับชั้นเชิงของการเป็นหนัง ก็ถือว่าทำออกมาได้น่าสนใจและชวนติดตาม มีการปูพื้นฐานรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่าง เพื่อจะไปเปล่งพลังในตอนท้าย ขณะที่ในระหว่างทาง ก็ใช้นักแสดงไม่เปลือง หรือพูดได้ว่า มีดารานักแสดงที่อยู่บนจอจริง ๆ เพียงคนเดียว ถือเป็น “เดอะแบก” ที่เล่นได้หลากหลายอารมณ์ในคนเพียงคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นความหงุดหงิดรำคาญใจ ความกระหายใคร่อยากจะได้เหยื่อ หรือแม้กระทั่งกิริยาวาจาข่มขู่คุกคามเพื่อให้เหยื่อติดกับดักและสนองเป้าหมายของตนเอง


เล่าให้ฟังแบบย่นย่อ หนังสั้น “Call Center” มีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวละครชายหนุ่มคนหนึ่งในขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งไม่มีแม้แต่เวลาจะคุยดี ๆ กับแม่ เพราะกำลังหน้าดำคร่ำเครียดกับการหาเหยื่อทางมือถือที่จะทำเงินเข้าสู่ขบวนการ เขาคงทำเรื่องนี้มาจนชำนิชำนาญแล้ว ถึงขั้นกล้าอ้างว่าตัวเองเป็นตำรวจ แต่หารู้ไม่ว่า เหยื่อรายล่าสุดที่เขาเลือก จะทำให้เขาก้าวไปสู่จุดที่ไม่คาดคิด ซึ่งต่อให้อยากจะสำนึกผิด ก็ไม่น่าจะทันแล้ว

มีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่หนังหยิบมาใช้ และผมคิดว่า สำคัญไม่น้อย นั่นคือการที่ผู้สูงวัยมักจะชอบส่งไลน์สวัสดีวันจันทร์ หรือภาพสวัสดีทุก ๆ เช้า ที่บางทีเป็นภาพพร้อมกับคำอวยพร เคยอ่านที่ไหนสักที่ว่า อย่ารำคาญกันเลย เพราะถ้าคนที่เรารักและรักเราส่งให้ ต่อให้มันเป็นคำอวยพรที่จินตนาการไม่ออกว่าจะเกิดขึ้นจริงในชีวิตได้อย่างไร แต่อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้เรารู้ว่า เขายังมีชีวิตอยู่ และแน่นอนที่สุด...ยังคงคิดถึงเรา ... ซึ่งมองไกลไปอีกหน่อย การที่หนังหยิบมาใช้ ก็คล้าย ๆ จะสื่อว่า แทนที่เราจะรำคาญ การสวัสดีกันทุกวัน อาจจะเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งยึดโยงเราไว้ในความห่างไกล และความใส่ใจดูแลสอดส่อง บอกเล่าภัยในโลกรูปแบบใหม่ ๆ ให้กันฟังบ้าง (หรือถ้าแชร์ข่าวปลอมมาในไลน์ เรารู้ เราก็บอกไป) ก็อาจจะพอช่วยเซฟหรือป้องกันคนที่เรารักไว้ได้จากภัยเหล่านั้น


นอกจากนั้น ผมเห็นว่า หนังใช้เวลาเพียงน้อยนิดก็สามารถทำให้เราคิดในมุมของ “มิจ” ได้ด้วย และอาจจะทำให้เราเข้าใจว่าทำไมขบวนการนี้จะไม่มีวันตายและนับวันมีแต่จะเติบโตแผ่ขยายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นั่นก็คือตั้งแต่ต้นเรื่อง เราจะเห็นปัญหาของตัวละครที่มาทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เขาบอกกับแม่ที่โทรมาหาถึงสาเหตุที่ไม่ได้กลับบ้านเพราะไม่มีเงินหรือเงินไม่พอ

ไม่ว่าหนังจะจงใจหรือไม่ก็ตาม แต่มันทำให้เราพอมองเห็นริ้วรอยบางอย่างว่าปัญหาเชิงเศรษฐกิจนั้นคือหนึ่งในปัจจัยที่ถีบส่งให้คนจำนวนหนึ่งกระโจนเข้าสู่วงจรงานบาปและอุ้มชูให้ขบวนการต้มตุ๋นมีชีวิตงอกงาม มันคือการที่หนังมองอย่างพยายามทำความเข้าใจในมนุษย์และเหตุผลที่มาแห่งการกระทำ คนเหล่านี้เป็นเพียงมือไม้แขนขา ยอมทำเรื่องที่ไม่สมควรกระทำเพื่อรับทรัพย์ยังชีพเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นเดียวกับพวกบัญชีม้า แต่เราก็พอรู้ว่า ยังมีตัวเอ้ที่อยู่ข้างหลังหรือแม้กระทั่งคนในระบบที่คบค้าหากินกับสแกมเมอร์พวกนี้อยู่


แต่ก็นั่นแหละ ไม่ว่าจะมองมุมไหน ความจนหรือการไม่มีกินมีใช้ ก็ไม่ใช่เหตุผลข้ออ้างที่ดีแต่อย่างใดในการที่จะไปทำร้ายบุคคลอื่นให้เขาสูญเสียทรัพย์สิน กระทั่งหลายคนถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สุดท้ายแล้วก็ต้องบอกว่า เราคงไม่สามารถมัดมือมัดเท้าหรือจับแข้งจับขาพวกมิจฉาชีพทั้งหมดไม่ให้กระทำในสิ่งที่เลวร้ายส่งผลเสียหายรุนแรงต่อผู้คน ทั้งทรัพย์สินและผลกระทบอันจะเกิดต่อจิตใจตามมา แต่สิ่งที่พอจะทำได้ในระยะใกล้และไวที่สุด คือทำอย่างไรจะให้ผู้คนรู้เท่าทันกลโกง ก่อนตกเป็นเหยื่ออันโอชะของขบวนการต้มตุ๋นเหล่านั้น และนี่ก็คือสิ่งที่หนังสั้นอย่าง Call Center ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมบูรณ์แล้ว

หนังสั้นเรื่องนี้โปรยเกริ่นไตเติ้ลนำด้วยคำว่า “โปรดส่งคลิปนี้ให้พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน หรือคนที่คุณรัก ได้ดูเพื่อเป็นอุทาหรณ์” และเชื่อแน่ว่า ถ้าใครได้ดูหนังสั้นเรื่องนี้แล้ว เมื่อเจอมุกของมิจฉาชีพแบบนี้โทรมาอีก ก็คงดีใจว่า “โชคดีที่ดูหนังเรื่องนี้ก่อน”







กำลังโหลดความคิดเห็น