xs
xsm
sm
md
lg

สาธุ : พุทธังเอากะตังค์ใส่ตู้ฯ พระไม่อยู่ ทุบตู้เอากะตังค์!/อภินันท์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์



ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องฉาวในวงการผ้าเหลือง มีปรากฏเป็นข่าวดังอยู่เรื่อย ๆ โดยหนึ่งในข่าวฉาวที่เป็นประเด็นดัง คือเรื่องของคนหรือกลุ่มบุคคลที่ใช้วัดหรือศาสนาเป็นที่ทำมาหากิน จากความศรัทธาของสาธุชน ซึ่งคนหรือกลุ่มบุคคลที่ว่านี้ สามารถเป็นได้ทั้งพระและโยม หลายคนมั่งคั่งร่ำรวยเป็นล่ำเป็นสันจากการประกอบธุรกิจบนความศรัทธาที่เรียกกันว่า “พุทธพาณิชย์”

ซีรีส์เรื่อง “สาธุ” (The Believers) ซึ่งสตรีมทางเน็ตฟลิกซ์ ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา ก็มีเจตนาแน่วแน่ในการตีแผ่เรื่องราวฉาวโฉ่ทำนองนี้ที่เป็นอีกหนึ่งมุมมืดในวงการผ้าเหลืองเมืองไทย และต้องบอกว่า ซีรีส์ทำออกมาได้ดีมากทีเดียว

เนื้อเรื่องโดยย่อ “สาธุ” บอกเล่าเรื่องราวของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไฟแรง 3 คน ทั้ง “วิน” , “เกม” และ “เดียร์” ที่ติดหนี้ก้อนโตและต้องหาทางใช้คืน หลังจากสตาร์ตอัปของพวกเขาล้มไม่เป็นท่า และแล้วพวกเขาก็ได้พบโอกาสทางธุรกิจที่จะช่วยให้พวกเขาปลดหนี้ก้อนใหญ่นี้ได้ โดยใช้ช่องทางการหาเงินจากความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน คือเห็นตัวละครพวกนี้แล้วก็นึกถึงคำที่เขาชอบพูดกันขึ้นมาทันที อย่างคำว่า “พุทธังเอากะตังค์ใส่ตู้ ธัมมังเอากะตังค์ใส่ตู้ สังฆังเอากะตังค์ใส่ตู้ พระไม่อยู่ ทุบตู้เอากะตังค์” อย่างใดก็อย่างนั้นเลย เพราะมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน

ทั้งนี้ เชื่อว่าชาวพุทธคงรู้กันเป็นอย่างดีอยู่แล้วเกี่ยวกับการบริจาคหรือถวายปัจจัยตามศรัทธาให้แก่วัด ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีการนำไปสร้างประโยชน์ทำนุบำรุงพระศาสนาและวัดวาอารามให้สมกับเจตนาและความศรัทธาของญาติโยมผู้บริจาคจริง ซึ่งสิ่งนี้ก็มีมาทุกยุคทุกสมัย อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีพวกที่แฝงตัวหาผลประโยชน์จากจุดนี้อยู่ หรือที่คนชอบเรียกกันว่าพวก “มารศาสนา” ยิ่งในยุคปัจจุบัน ดูเหมือนมีมากยิ่งขึ้น และนั่นก็เป็นจิตเจตนาในการตีแผ่ของซีรีส์เรื่องนี้


“สาธุ” ฉายภาพให้เราเห็นถึงเส้นทางการเงินที่จะเข้าวัด ผ่านการจัดกิจกรรมทำบุญในรูปแบบต่าง ๆ และความสนุกของซีรีส์เรื่องนี้ก็คือ เพราะตัวละครหลักทั้งสามมีพื้นฐานมาจากการทำสตาร์ตอัป จึงมีการจับเอาเทคนิคแบบสตาร์ตอัปมาใช้ในเกมกอบโกยทรัพย์อย่างเป็นลำดับขั้น เราจะได้ยินศัพท์แสงต่าง ๆ ในวงการสตาร์ตอัปที่ตัวละครหยิบจับนำมาใช้ในการบริหารจัดการวัดแบบที่สัมผัสได้ว่า มันยกระดับเป็น Business Model อย่างเต็มรูปแบบ

ในจุดนี้ ต้องยอมรับว่า ทีมงานเขียนบทได้ทำการบ้านศึกษามาอย่างดี คือรู้สึกว่า ซีรีส์สามารถเล่าเรื่องได้เยอะมากในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัด การแข่งขันของแต่ละวัด อำนาจในวงการสงฆ์ที่วัดเล็กวัดน้อยต้องอยู่ใต้อาณัติของวัดใหญ่ที่ปกครองเขตหรืออำเภอ อีกทั้งเรื่องของคนที่เกี่ยวข้องกับวัด ไปจนถึงคนที่มาหากินกับวัด ด้วยความยาว 9 ตอน ถือว่าซีรีส์สามารถเล่าได้ครอบคลุมและไม่ตื้นเขิน


ขณะที่ในส่วนของนักแสดง ก็ผ่านการแคสติ้งมาอย่างเหมาะสมกับบทบาททุกคน “เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธ์ภิญโญ” กับบทของ “วิน” นี่คืออีกหนึ่งความสำเร็จด้านการแสดงของหนุ่มคนนี้ บทของหัวหน้าทีมที่ดูเฟียส ๆ และเอาจริง ไม่ยอมพ่ายให้กับอุปสรรคที่เกิดขึ้น พร้อมจะนำเสนอทางออกให้เพื่อนร่วมทีมได้เสมอ ๆ เป็นบทที่กล้าพูดขนาดว่า “ไม่รู้เหรอว่าคนไทยหิวบุญขนาดไหน” และเขาก็คือคีย์แมนที่แท้จริง เขาสามารถยืนซดหมัด(ด้านการแสดง) กับรุ่นใหญ่อย่าง “ปราโมทย์ แสงศร” ที่มาในบทบาทของตำรวจได้สบาย ๆ ถือเป็นมวยถูกคู่เลยทีเดียวสำหรับสองตัวละครนี้ในเวลาที่เผชิญหน้ากัน

ส่วน “พีช พชร จิราธิวัฒน์” อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นการฉีกคาแร็คเตอร์ไปอีกมาดพอสมควร กับความยียวนและพร้อมสบถได้ตลอดเวลา ในบทของ “เกม” เด็กหนุ่มบ้านรวย แต่พยายามสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเองโดยไม่คิดอยากจะพึ่งพาความรวยของที่บ้านเกินจำเป็น เขาคือทีม “มารศาสนา” ที่มีฉากและซีนโดดเด่นน่าจดจำมากมาย

เช่นเดียวกับ “แอลลี่ อชิรญา นิติพน” ทายาทคนสวยของคุณอ่ำ อัมรินทร์ นิติพน เธอรับบท “เดียร์” หญิงสาวร่วมก๊วนของวินกับเกม และคอยเติมเต็มในจุดต่าง ๆ ได้สมบูรณ์ บทของเธอถือว่าส่งมาก ๆ สำหรับการเปล่งประกายฉายแสงในฐานะนักแสดง เธอก็มีความตลกและยียวนไม่น้อยไปกว่า “เกม” และบางทีก็เล่นมุกตลกกวนพระซะด้วยซ้ำ แต่ที่มากกว่านั้นก็คือ การทำให้พระป่าอย่าง “พระดล” เกิดภาวะสับสนภายในใจและไหวเอนไปกับแรงเหวี่ยงของเรื่องทางโลก

แน่นอนว่า “พระดล” ซึ่งรับบทโดย “พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข” หรือที่แฟนเพลงรู้จักกันดีในนาม “ปั๊บ โปเตโต้” คืออีกหนึ่งการแสดงที่ต้องบอกว่า น่าจดจำและคงเป็นที่พูดถึงไปอีกนาน “พระดล” คือพระวัดป่าที่ก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์มาตั้งแต่บวชเป็นสามเณร ไม่เจนจัดในทางโลกและมีจิตใจที่ดี เมื่อได้พบกับกลุ่มแก๊งสามสหาย จึงไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมด้วยคิดว่าโยมเหล่านี้คงมีความหวังดีต่อศาสนาอย่างสุดซึ้ง


ตลอดระยะเวลา เราจะเห็นความกังขาสงสัยและการต่อสู้ภายในใจของพระดลเสมอ ๆ แต่ก็ต้องเล่นไปตามเกมของสามสหาย ด้วยเชื่อมั่นเชื่อใจว่าจะเป็นผลดีต่อพระศาสนา อย่างไรก็ดี ด้วยความใกล้ชิดกับอิสตรีอย่าง “เดียร์” นานวันเข้า ก็เหมือนกลายเป็นสิ่งเร้าที่โยกไกวหัวใจของพระดลให้ไหวเอนจนสูญเสียบาลานซ์ หรือ “เก็บทรงไม่อยู่” และนำไปสู่การตัดสินใจบางอย่าง แต่กระนั้นก็มีฉากที่เรียกได้ว่า ทำให้เราเข้าใจพระดลได้อย่างสมบูรณ์คือฉากที่ท่านสนทนากับเดียร์ ที่ถามว่าท่านรู้สึกเสียดายหรือไม่กับการไม่ได้ใช้ชีวิตตามช่วงวัยเหมือนคนอื่น ๆ ทั่วไป ฉากนี้คือฉากที่มาก ๆ ฉากหนึ่งของงานชิ้นนี้

อย่างไรก็ดี ยังมีตัวละครอื่น ๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นหลวงพี่เอกชัย หรือทนายความ คนที่รับบทก็แสดงดีกันทุกคน และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เด็ดขาด คือ น้าแต๋ง มัคนายกวัด ซึ่งแสดงโดยคุณติ๊ก กลิ่นสี ที่ต้องบอกว่าเป็นทั้งสีสันของซีรีส์ และเป็นสัจธรรมความจริงอีกข้อที่ซีรีส์ต้องการจะสื่อ เพราะถ้าจะว่าไป คนแบบน้าแต๋ง ก็เหมือนคนใกล้เกลือกินด่าง ทำให้นึกถึงว่า แม้จะได้อยู่ใกล้ชิดพระบาทพระศาสดา แต่ก็ไม่สามารถมองเห็นธรรมได้ ประหนึ่งการตอกย้ำถ้อยคำของพุทธองค์ที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา แต่น้าแต๋งนั้นเห็นเงิน

ที่ผ่านมา มีหนังหลายเรื่องที่เล่นประเด็นเกี่ยวกับด้านมืดที่แฝงอยู่ในพุทธศาสนาและวัดวาอาราม ทั้งเรื่อง นาคปรก ศพไม่เงียบ อาปัติ ซึ่งทุกเรื่องทำออกมาได้สนุกและมีประเด็นโดดเด่น ขณะที่ซีรีส์เรื่อง “สาธุ” นี้ ก็ไม่ได้น้อยหน้า คือดูแล้วก็ต้องอนุโมทนาในเจตนาอันดี เพราะว่ามีแนวทางของตัวเองชัดเจน เล่าออกมาให้คนดูรู้สึกร่วมและอยากติดตามเรื่องราวไปจนจบ ด้วยเนื้อหาที่ดูจริงจัง แต่ทุกครั้งที่ปล่อยมุกตลก ก็ทำเอาขำและยิ้มได้เช่นกัน

“สาธุ” นับเป็นผลงานอีกเรื่องที่เล่าความจริงในวงการผ้าเหลืองแบบที่คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรเคืองใจของพุทธศาสนิกชนไทย เพราะคงไม่มีใครปฏิเสธว่า สิ่งที่ซีรีส์นำมาเล่านั้นไม่มีเค้ามูลความจริง จริงไหม?















กำลังโหลดความคิดเห็น