อุบลราชธานี - ชาวบ้านตำบลท่าไห อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี รวมตัวตั้งกลุ่มอนุรักษ์ร้องเรียนเอกชน 3 รายรุมดูดทรายในลำน้ำชีทำตลิ่งเสียหายเป็นแนวยาวหลายจุด-กุฏิพระ ถนน ที่นาพัง เผยร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดแล้วแต่ไม่เป็นผล อ้างขออนุญาต-ทำประชาคมหมู่บ้านถูกต้อง กลุ่มอนุรักษ์ยันการทำประชาคมไม่โปร่งใส เรียกร้องให้ทำประชาคมใหม่ทั้งตำบล และให้จังหวัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผลกระทบ
นายธนพงษ์ ชูเนตร อายุ 74 ปี อดีตข้าราชการครู ชาวบ้านท่าไห ในฐานะที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์หาดทรายลำน้ำชีเพื่อชาวตำบลท่าไห อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า กลุ่มอนุรักษ์หาดทรายลำน้ำชีฯ เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านที่ต้องการอนุรักษ์หาดทรายในตำบลท่าไหเอาไว้
ทั้งนี้ เนื่องจากมีบริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัด 3 รายในจังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษเข้ามาทำธุรกิจดูดทรายในลำน้ำชีบริเวณหาดกุดฟ้า หมู่ที่ 12 เพื่อเอาทรายไปขายเป็นทรายก่อสร้าง เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งการดูดทรายในน้ำทำให้เกิดผลกระทบ ทำให้ตลิ่งทรุดตัวเป็นแนวยาวประมาณ 2 กิโลเมตร และทำให้กุฏิพระวัดป่าเสาธุงที่ตั้งอยู่ริมน้ำชีพังเสียหายด้วย
นอกจากนี้ยังทำให้เส้นทางลำลองเลียบลำน้ำชีที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมาและที่นาของชาวบ้านหลายรายริมน้ำชีพังเสียหายด้วย โดยที่ผ่านมาเอกชนที่ดูดทรายได้มาชดเชยค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้านเป็นเงินรายละ 5,000 บาทแล้ว แต่ชาวบ้านก็กลัวว่าที่นาจะพังทลายลงน้ำเสียหายอีก เงินชดเชยเพียง 5,000 บาทไม่คุ้มกับที่นาที่ต้องเสียไป
“หาดทรายริมน้ำชีในตำบลท่าไห เมื่อถึงวันสงกรานต์แต่ละปีชาวบ้านจะจัดงานก่อเจดีย์ทราย แล้วนิมนต์พระมาฉันเพลที่ริมหาดทราย เป็นประเพณีที่ชาวบ้านสืบทอดกันมานาน ผมเห็นประเพณีนี้ตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ตอนนี้ผมอายุ 74 ปีแล้ว
จึงอยากจะอนุรักษ์หาดทรายและประเพณีนี้เอาไว้ให้ลูกหลาน และหาดทรายยังเป็นแหล่งพักผ่อนและท่องเที่ยวของชาวบ้านด้วย แต่หากยังมีการดูดทรายต่อไปเรื่อยๆ หาดทรายก็จะพังเสียหาย ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบด้วย โดยเฉพาะคนที่ทำนา และคนหาปลาในลำน้ำชี พวกเราจึงตั้งกลุ่มอนุรักษ์ขึ้นมา”
ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์กล่าวต่อไปว่า แม่น้ำชีมีต้นกำเนิดมาจากจังหวัดชัยภูมิ ไหลผ่านจังหวัดต่างๆ และผ่านอำเภอเขื่องใน ไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ช่วงที่น้ำชีไหลผ่านตำบลท่าไห อ.เขื่องใน ไหลผ่าน 8 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 5, 8, 9, 3, 11, 2, 1 และหมู่ที่ 12 มีความยาวเกือบ 20 กิโลเมตร โดยมีเอกชน 3 รายมาทำธุรกิจดูดทรายในลำน้ำชีบริเวณหาดกุดฟ้า หมู่ที่ 12 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
“ในช่วงปีแรกชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เมื่อมีการทำประชาคมหมู่บ้านชาวบ้านจึงลงมติเห็นชอบให้เอกชนมาดูดทราย เพราะไม่คิดว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้น และคิดว่าจะทำให้ อบต.มีรายได้จากการอนุญาตดูดทรายเพื่อเอามาพัฒนาตำบล เมื่อกลุ่มอนุรักษ์เริ่มคัดค้าน อบต.ท่าไหจึงจัดให้มีการประชามติทั้งตำบลเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา มีชาวบ้านมาประมาณ 1 พันคน ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะอนุญาตให้ดูดทราย เพราะเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว แต่มีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนกับคัดค้าน จนต้องยุติการทำประชามติในวันนั้น” ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์กล่าว
นายธนพงษ์กล่าวต่อไปว่า หลังจากนั้นกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงไปร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดอุบลราชธานี เช่น ที่ดินจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด กรมเจ้าท่า ผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งร้องเรียนออนไลน์ไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร โดยมีผู้แทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ และคณะกรรมาธิการที่ดินฯ เดินทางมาดูข้อเท็จจริงแล้วในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนที่ผ่านมา
ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนการต่อใบอนุญาตดูดทรายให้เอกชน 3 รายที่เพิ่งหมดลงไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
“หน่วยงานในจังหวัดอุบลราชธานีต่างก็อ้างว่า อบต.ท่าไหและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดอนุญาตดูดทรายถูกต้องแล้ว เพราะมีการทำประชาคมลงมติไปแล้ว กลุ่มอนุรักษ์จึงขอเรียกร้องให้มีการทำประชาคมเพื่อลงมติใหม่ทั้งตำบล เพราะที่ผ่านมามีการทำประชาคมเพียงไม่กี่หมู่บ้าน และทำประชาคมแบบรวบรัด บางหมู่บ้านประกาศทางเสียงตามสายตอนเช้าวันนั้น แล้วให้ชาวบ้านมาประชุมเลย บางหมู่บ้านมีการแจกเงิน หัวละ 200-500 บาทเพื่อให้ชาวบ้านสนับสนุน
จึงขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ และขอให้ทางจังหวัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายจากการดูดทรายที่เกิดขึ้นด้วย” ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์หาดทรายลำน้ำชีฯ กล่าวในตอนท้าย
ทั้งนี้ ตำบลท่าไหอยู่ห่างจากตัวจังหวัดตามเส้นทางอุบลราชธานี-ยโสธร ประมาณ 38 กิโลเมตร มี 13 หมู่บ้าน ประมาณ 1,800 ครอบครัว ประชากรรวมกว่า 9,000 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา รับจ้างทั่วไป จับปลาในลำน้ำชี และเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ชาวบ้านนิยมเข้ามาขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ