Red Life คือหนังไทยที่เข้าฉายในโรงเมื่อช่วงปลายปี 2566 ถือเป็นหนังไทยอีกเรื่องของปีที่ได้รับการพูดถึงค่อนข้างเยอะในแง่ของคุณภาพ และตอนนี้มีให้รับชมทางเน็ตฟลิกซ์ นี่คือหนังไทยไม่กี่เรื่องในยุคหลัง ๆ ที่มาพร้อมกับเนื้อหาซีเรียสจริงจัง สะท้อนแง่มุมสีเทาที่ซุกซ่อนอยู่ในหลืบมุมของสังคมไทยมาช้านาน รวมถึงเรื่องราวความรักแบบ “ฟีลแบ๊ด” ชวนหดหู่สิ้นหวัง เรียกว่ามาในแนวทางมืดหม่น ดำดิ่งแบบสุดติ่งก็ว่าได้
หนังเรื่องนี้เป็นผลงานการสร้างของค่ายหนังน้องใหม่อย่าง BrandThink Cinema ที่ทางผู้กำกับ “เอกลักญ กรรณศรณ์” ซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการทำหนังโฆษณาและสารคดีมานานกว่ายี่สิบปี ต่อยอดมาจากสารคดีที่เขาลงพื้นที่สำรวจชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในย่านวงเวียนกรกฎาคม 22 แล้วนำมาย่อยเพื่อบอกเล่าในรูปแบบของภาพยนตร์โดยมีเค้าโครงความจริงที่ได้พบเห็นมา
ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นหนักอึ้ง หนังพาเราไปรู้จักกับโสเภณีรุ่นใหญ่ชื่อว่า “อ้อย” ซึ่งขายตัวอยู่ย่านวงเวียนกรกฏา 22 เธอมีลูกสาวหนึ่งคนชื่อว่า ส้ม แม้ว่าจะมีเสี่ยหลายคนมายื่นข้อเสนอให้ไปอยู่ด้วย แต่อ้อยก็อดทนทำงานเพื่อลูก ด้วยความรักลูก เพื่อจะได้อยู่กับลูก และส่งเสียให้ลูกได้เรียนโรงเรียนดี ๆ ด้วยความหวังว่าลูกจะมีอนาคตและชีวิตที่ดีกว่าแม่ แต่แล้ววันหนึ่ง เมื่อส้มได้เจอกับสาวรุ่นพี่อย่าง “พีซ” ทำให้ส้มมีความหวังใหม่และคิดว่าความรักครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอไปในทางที่ดีขึ้น
เรื่องราวแม่ลูกคู่นี้ดำเนินไป คู่ขนานกับเรื่องราวของตัวละครอีกคู่ อย่าง “เต๋อ” กับ “มายด์” เต๋อเป็นเด็กหนุ่มในแก๊งโจรที่ดำรงชีวิตด้วยการปล้นและฉกชิงวิ่งราว ส่วนมายด์เป็นสาววัยรุ่นขายตัวที่ดูไปแล้ว รายได้หลักจะมาจากมายด์เสียมากกว่า ขณะที่เต๋อก็พร่ำให้สัญญาว่าเขาจะหางานดี ๆ ทำ และพามายด์หลุดพ้นออกไปจากชีวิตอันโสมมนี้ให้ได้ แต่จนแล้วจนรอด แม้จะพยายามหางานทำแบบสุจริตชน แต่ชีวิตก็คล้ายจะหมุนวนอยู่ในวงเวียนเดิม ๆ ไม่สิ้นสุด และต้องกลับมาหาเงินจากการทำผิดกฎหมายอยู่อย่างนั้น และที่สำคัญ เต๋อดูเหมือนจะมีความกลัวอยู่ลึก ๆ ว่าเขาอาจจะเสียมายด์ไป หากเธอเจอคนหล่อ ๆ รวย ๆ มาเปย์ให้หรือขอไปเป็นแฟน
กล่าวโดยภาพรวม Red Life คือหนังที่มีเป้าหมายชัดเจนในการเป็นหนังสะท้อนสังคม ลักษณะแบบเดียวกับวรรณกรรมเพื่อชีวิตแบบตึง ๆ หนักอึ้งด้วยภาพชีวิตอันข้นแค้นของตัวละครที่ต้องเผชิญกับปัญหาอันหนักหน่วง หรือถ้าเป็นหนัง ก็มาในทางของหนังยุคก่อน อย่าง “เสียดาย” หรือ “น้ำพุ” ซึ่งงานแบบนี้มักจะสอดแทรกประเด็นปัญหาสังคมบางด้านมาเล่าให้เราเห็น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นอะไรที่ “โลกไม่สวย” อย่างเช่นใน Red Life ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย หรือ สลัมมุมสูง เรื่องการค้าประเวณี ไปจนถึงคุณภาพชีวิตที่น้อยทางเลือกหรือเลือกไม่ได้ซึ่งบีบคั้นให้คนต้องทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ
ภาพชีวิตของ “คนจนเมือง” เด่นชัดต่อสายตา ทำให้เห็นชะตากรรมของคนจำนวนหนึ่งซึ่งเชื่อว่ามีอยู่ไม่น้อยในเมืองใหญ่ ชีวิตของพวกเขาเหมือนจะหมุนวนอยู่ในวงจรเดิม ๆ แบบไร้ที่สิ้นสุด เหมือนกับวงเวียนกรกฎาที่เป็นวงกลม แม้จะพยายามวิ่งไล่ไขว่คว้าหาเส้นทางใหม่ แต่สุดท้ายเมื่อไปถึงที่สุดของวงกลม มันก็คือจุดเดิมตอนที่เริ่มออกสตาร์ท เป็นเช่นนี้อยู่ร่ำไป
อย่างไรก็ดี โจทย์ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นหัวข้อใหญ่ในใจของผู้สร้างพอสมควรคือ เรื่องความรัก ทั้งความรักในแบบที่ว่า ถ้าต้องมีความรักกับคนที่เป็น Sex Worker แล้วจะเป็นยังไง ซึ่งความรู้สึกนี้เราจะสัมผัสได้จากเต๋อที่ดูจะว้าวุ่นพอสมควรกับการที่มีแฟนทำงานเป็น Sex Worker หรือพูดง่าย ๆ คือ ขายตัว เต๋ออยากได้ความรักจากมายด์แบบสมบูรณ์ ขณะที่ในส่วนของ “ส้ม” ก็มองความรักเป็นเหมือนยานวิเศษที่จะนำพาเธอเดินทางสู่โลกใหม่ที่สดใสกว่าเดิม พ้นไปจากสิ่งแวดล้อมและชีวิตอันโสมมนี้
ความรัก จึงเป็นเสมือนแกนกลางที่เกาะเกี่ยวตัวละครเหล่านี้ไว้ในธีมเดียวกัน ความรักคือสิ่งชักพาให้เกิดการกระทำต่าง ๆ กันไปของแต่ละตัวละคร ไม่ว่าจะรักลูก รักแฟน รักคนที่ให้ความหวัง ซึ่งก็ต้องไปดูกันต่อไปว่า ความรักนั้นจะนำพาไปสู่จุดใดในท้ายที่สุด
ตัวละครหนึ่งซึ่งถือได้ว่า เข้ามาตอกย้ำประเด็นความรักให้แจ่มชัดยิ่งขึ้นก็คือ ลุงกั๊ก ที่ยังคงปักใจอยู่กับคนรักเก่าและหวังว่าสักวันจะได้พบกับรักอีกครั้ง บทลุงกั๊ก เป็นทั้งความงามและความเศร้า โดยนักแสดงที่รับบทนี้ คือ คุณมานพ มีจำรัส ก็เล่นได้แบบเข้าถึงบทและทำให้คนดูรู้สึกสุขและเศร้าไปกับตัวละครนี้ได้โดยสมบูรณ์ เช่นเดียวกับตัวละคร “อ้อย” ซึ่งรับบทโดยคุณกรองทอง รัชตะวรรณ ที่ส่องแสงความเป็นนักแสดงมืออาชีพออกมาอย่างเฉิดฉาย ทำให้เราเชื่อทั้งในลุคและความคิดจิตใจของตัวละคร เป็นอีกหนึ่งบทที่เห็นควรว่าน่าจะได้เข้าชิงรางวัลด้านการแสดงบ้าง
สุดท้ายแล้ว ต้องยอมรับว่า นี่คือผลงานเปิดตัวของค่าย BrandThink Cinema ที่ไม่มีอะไรต้องตำหนิติติง แม้บางทีจะรู้สึกว่า สถานการณ์ที่หนังโยนเข้าใส่ตัวละครแบบจัดหนักจัดเต็ม อัดแน่นด้วยความหนักหน่วงแบบล้น ๆ จนดูแล้วชวนอึดอัดขัดข้องไปซะทุกอย่าง มันมืดมนจนไม่รู้ว่าแสงสว่างทางออกอยู่หนใด... แต่ก็นั่นแหละ ใครล่ะจะกล้าปฏิเสธว่า ชีวิตหลายชีวิตก็คงเป็นเช่นนี้จริง ๆ จริงไหม?