นับตั้งแต่ปี 2009 ที่งาน เทศกาลดนตรีแจ๊สนานาชาติ เพื่อการเรียนรู้ Thailand International Jazz Conference- TIJC2024 ได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนวงการดนตรีแจ๊สในประเทศไทย ด้วยรูปแบบงานที่ยังคงครองใจศิลปินและผู้หลงใหลในดนตรีแจ๊สทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ กำลังจะกลับมาอีกครั้งเป็นปีที่ 15 ระหว่างวันที่ 26-28 มกราคม2567 พร้อมประกาศจุดยืนเป็นเวทีการแสดงดนตรีแจ๊สเต็มตัว รวมพลชุมชนคนแจ๊สมาแสดงผลงาน พบปะ แลกเปลี่ยนมุมมอง บนพื้นที่เดียวกันที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
“ TIJC คือการสร้างชุมชนแจ๊สให้เป็นสังคมอุดมปัญญา โดยใช้การศึกษานำ” ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวพร้อมแจงเนื้อของงานเพิ่มเติมว่า ปีนี้จะมีการเปิดแคมป์ให้ศิลปินระดับโลกมาอบรมให้กับผู้ที่สนใจตั้งแต่เช้าถึงเย็น โดย Jonathan Kreisberg มือกีต้าร์แจ๊สชั้นนำของโลก จับมือกับ Eric Harland และทีมมาทำเวิร์คชอปก่อนโชว์ฝีมือการแสดงในค่ำคืนวันที่28 มกราคม 2567
“ส่วนไฮไลต์พิเศษ ที่หาดูได้ยาก แม้แต่ในต่างประเทศ ที่เรายังคงไว้คือการแสดงของวงออร์เคสตร้า
Thailand Philharmonic Orchestra (TPO) ร่วมกับดนตรีแจ๊ส โดยปีนี้บรรเลงร่วมกับวง The Pomelo Town ที่จะนำเสนอในแบบของดนตรีแจ๊ส แต่ง และเรียบเรียงเสียงประสานโดยคนไทยทั้งหมด เป็นการโชว์อัตลักษณ์ ที่ยังไม่เคยมีใครทำ อาทิ การนำบทสวดมานำเสนอในรูปแบบ Jazz Orchestra เวทีนี้ยังส่งเสริมให้ทุกคนก้าวข้าม “การทำเหมือน”หรือ “เลียนแบบ” มาเป็น”การสร้างผลงาน” ขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนให้คนไทยพยายามสร้างงานของตัวเอง”ดร.ณรงค์ กล่าว
อาจารย์นพดล ถิรธราดล รองคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล และ Project Manager ของงาน TIJC บอกว่า ปัจจุบันวงการแจ๊สทั่วโลกรู้จักงานนี้เป็นอย่างดี เป็นงานแจ๊สที่เปิดกว้าง ทำให้ทุกคนพร้อมจะตบเท้าเข้าร่วมในฐานะของงานแจ๊สที่เข้มข้น
“ยุคนี้คนจะเข้าหาสิ่งที่ตัวเองสนใจเฉพาะด้านมากขึ้น เราจึงพยายามดึงนักดนตรีแจ๊สสายตรงมาเสิร์ฟให้ผู้ชม สร้างความสุข ความยั่งยืนให้สังคม ก็หวังว่าสิ่งที่เราเลือกจะได้รับการตอบรับที่ดี”
สำหรับวงไฮไลต์ที่พร้อมตบเท้าขึ้นเวที TIJC ทั้ง 3 วง ได้แก่ Jonathan Kreisberg Quartet (Featuring Eric Harland) เป็นวงที่มีชื่อเสียงอยู่ในขั้นสุดยอดของโลกทั้งวง Steven Feifke Trio with Chad Lefkowitz-Brown คือวงของสุดยอดนักเปียโนเจ้าของรางวัลแกรมมี่ ที่มาแรงในนาทีนี้ และ Jochen Rueckert คือวงที่รวมตัวจี๊ดของวงการแจ๊สเอาไว้ทุกตำแหน่ง
“ผมเชื่อว่า วันหนึ่งศิลปินเหล่านี้ จะได้รับการบันทึกในหนังสือประวัติศาสตร์ของวงการดนตรีแจ๊ส”
นอกจากนี้ ยังมีวงชื่อดังอื่นๆ อาทิ Loop Doctors with Alemay Fernandez, Candlelight Ficus, Gabriele Buonasorte Quartet ฯลฯ รวมไปถึงวงที่สถานทูตประเทศต่างๆ สนับสนุนให้มาร่วมงานนี้ ทั้งสถานทูตฝรั่งเศส, สถานทูตอิตาลี, สถานทูตออสเตรีย และสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ และวงจากประเทศสิงคโปร์ที่มาเกือบทุกปี รวมถึงวงจากไต้หวัน แสดงให้เห็นว่าเมื่อ TIJC เปิดเวที คนในวงการมากมาย พร้อมจะมาปักธงที่นี่
สำหรับการแสดงภายในงานแบ่งเป็น 3 เวทีหลัก ได้แก่ เวที Main Stage เป็นการแสดงของนักดนตรีแจ๊สไทยและวงต่างประเทศ ซึ่งจะมีไฮไลต์ผลัดเปลี่ยนโชว์ฝีมือทุกคืน เวที Ovel Stage เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักดนตรีแจ๊สทั่วประเทศมาปล่อยของ และต่อยอดเป็นอีกเวทีคือ Cat Stage ซึ่งเป็นอีกเวทีหนึ่ง ที่เปิดโอกาสให้นักดนตรีที่มาร่วมงาน ได้แสดงและลุ้นเล่นร่วมกับศิลปินระดับโลก
“เรามีการแสดงให้ คนที่มางานได้ชมดนตรีเต็มพื้นที่ในงาน มีนักดนตรีอายุตั้งแต่ 7 ขวบ ซึ่งมาจาก Jazz Camp ไปจนถึงผู้สูงวัย และนักดนตรีผู้บกพร่องทางสายตา เรียกได้ว่าเราคือ Jazz For All โดยTIJC พิสูจน์แล้วว่าเป็นเสาหลักของ Jazz Education เป็นงานรวมนักดนตรีแจ๊ส ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับโลก ไปจนถึงคนที่สนใจ มารวมตัวกัน โดยมีดนตรีแจ๊สเป็นตัวเชื่อม ปรากฎการณ์นี้ทำให้ผมนึกถึง คำพูดของ Sonny Rollins ที่พูดว่า ดนตรีแจ๊สทำให้เราได้มาพบกัน เพื่อที่จะมาอยู่ในโลกที่สร้างสรรค์ ผมเชื่อว่าหมุดหมายที่ทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ สำเร็จได้ไม่ยาก หากทุกๆปีเราได้มาแสดงพลังร่วมกัน” อาจารน์นพดล กล่าว
ในปีนี้TIJC ยังได้ร่วมกับ บริษัทยามาฮ่า ริเวอร์ซิตี้ และศิลปิน ที่ทำงานศิลปะ ภายใต้ผลงานชื่อOctober29 หรือ ฐกฤต ครุฑพุ่ม ได้เพนท์เปียโน โดยจะนำมาตั้งไว้ภายในงาน เพื่อให้ศิลปินระดับโลกและคนที่มางานบรรเลง ตลอดทั้ง3 วัน หลังจากนั้นจะนำไปเปิดประมูลที่ ริเวอร์ซิตี้ นำเงินรายได้เข้าโครงการJazz aid ขยายโอกาสให้เด็กๆ ในต่างจังหวัด ได้มาเข้าแคมป์ในปีต่อไป
เทศกาลดนตรีแจ๊สนานาชาติ เพื่อการเรียนรู้ 2567 หรือ TIJC 2024 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 มกราคม 2567 ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา สำหรับผู้ที่สนใจ ติดตามข้อมูลได้ที่ www.tijc.net และfacebook.com/tijc.net