นี่คืออีกหนึ่งภาพยนตร์ไทยคุณภาพดีของปี 2566 นี้ที่ฉายบนเน็ตฟลิกซ์ มันว่าด้วยเรื่องราวการดิ้นรนของคนชายขอบที่ต้องการจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ว่าด้วยทางเลือกของชีวิต และที่สำคัญคือการสะท้อนภาพของ “อำนาจมืด” ซึ่งยังคงทำงานอย่างเงียบ ๆ ในมุมมืดของสังคมไทย
สำหรับคนที่รักและชอบการดูหนังสารคดี คงคุ้นเคยกับชื่อและผลงานของ “เบิ้ล-นนทวัฒน์ นำเบญจพล” ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา เขาคือคนทำหนังไม่กี่คนที่ยังคงปักหลักในการสร้างสรรค์งานสารคดีด้วยใจรักในการเล่าเรื่องของผู้คน ผลงานอย่าง “ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง” , “สายน้ำติดเชื้อ” , บีเคเควาย และล่าสุด กับสารคดีเรื่อง ดินไร้แดน ล้วนได้รับคำชื่นชมจากคนดู
คงไม่ผิดนัก หากจะพูดว่า ดอยบอย คือเรื่องราวภาคต่อจาก ดินไร้แดน เพียงแต่นำเสนอในรูปแบบของเรื่องแต่ง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อบุคคลตามมาภายหลัง หากทำเป็นหนังสารคดี แต่ถึงอย่างนั้น กลิ่นอายเรื่องจริง ก็ยังคงมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ทำสารคดีเรื่องดินไร้แดนมาก่อน ทำให้เบิ้ล นนทวัฒน์ ได้ค้นพบว่า คนไทใหญ่หลายคนไม่มีความฝัน และไม่รู้ว่าคนเราสามารถวาดฝันได้ เพราะชีวิตของพวกเขาไม่มีอะไรให้เลือกมากนอกจากการถูกเกณฑ์ไปเข้ากองทัพในรัฐฉานเพื่อต่อสู้กับรัฐพม่า ความฝันเดียวที่พวกเขาพอจะฝันได้ก็คือ การย้ายมาอยู่เชียงใหม่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ทางเลือกนี้หรือความฝันนี้ก็มีอุปสรรคติดขัดมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของ “เอกสารรับรอง” จนทำให้หลายคนจบความฝันตัวเองด้วยการทำงานในบาร์เกย์ ซึ่งก็ไม่ต่างไปจาก “ศร” ตัวละครเอกในหนังเรื่องนี้
ดอยบอย เล่าเรื่องราวของ “ศร” หนุ่มไทใหญ่ในรัฐฉานที่หนีทหารในกองทัพรัฐฉาน เข้ามาเมืองไทย ด้วยความฝันว่าจะมีโอกาสพบกับคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า แต่ก็ต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะยังไม่มีเอกสารรับรอง เขาผ่านการทำงานรับจ้างหลายอย่าง จนกระทั่งมาจบที่การทำงานในบาร์เกย์ในเชียงใหม่ แต่ชีวิตของเขาก็เริ่มสั่นคลอนเมื่อเกิดโรคระบาดโควิด และในขณะที่ชีวิตกำลังเจอทางตัน เขาก็ได้รับข้อเสนอจากนายตำรวจที่เป็นลูกค้าประจำอย่าง “จิ” ให้ช่วยทำภารกิจที่เกี่ยวข้องกับ “วุธ” นักกิจกรรมทางการเมืองที่ทางการกำลังล่าตัว ซึ่งภารกิจดังกล่าวได้นำตัวละครทั้งสามไปสู่จุดพลิกผันที่ยากจะหวนคืน
จุดเด่นอันดับแรกสุดที่อยากพูดถึงคือเรื่องของการแสดง โดยเฉพาะตัวละครเอกอย่างศร ซึ่งรับบทโดย “อัด-อวัช รัตนปิณฑะ” ที่ก่อนหน้านี้เคยแสดงซีรีส์มาหลายเรื่อง และนี่คือการเล่นหนังเรื่องแรกของเขา ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมและอาจจะพูดได้ว่าเป็นเดอะแบกของหนังเลยก็ว่าได้ บทของเขาเป็นทั้งจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรื่องราวของตัวละครอีกสองตัวมาบรรจบกันและนำพาไปจนถึงสุดท้ายปลายทาง บทนี้มีความขัดแย้งในตัวเองสูงมาก ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของตัวละครที่ดี เขาต้องเล่นเป็นทั้งชายขายบริการให้ผู้ชายในเวลาทำงาน แต่เวลาปกติคือเด็กหนุ่มที่มีแฟนเป็นหญิง
ที่น่าชื่นชมคือเรื่องของความพยายามของนักแสดงที่ต้องการเล่นให้สมบทบาทจริง ๆ โดยที่ “อัด-อวัช” ต้องใช้เวลาฝึกพูดภาษาไทใหญ่นานหลายเดือน จนกระทั่งกลายเป็นธรรมชาติ เขาบอกว่า กว่าจะกลับมาพูดไทยได้ชัดแบบไม่ติดสำเนียงไทใหญ่ต้องใช้เวลานานกว่า 3 เดือน แต่เมื่อดูที่ผลลัพธ์ก็ต้องถือว่าคุ้มกับความทุ่มเท และในส่วนของการสื่อสารถ่ายทอดบทบาท ก็ไม่มีจุดไหนเป็นรอยตำหนิ แม้บางคนอาจจะแซวว่า ทำไมศรพูดไทยได้ชัดเกือบชัดมาก นั่นก็มาจากเหตุผลที่เขาบอกว่า เขาต้องพยายามทำตัวให้เหมือนคนไทยมากที่สุด เพราะต้องไม่ลืมว่า เขายังไม่มีเอกสารรับรอง อย่างน้อยต้อง “อำพรางตัว” ให้เนียนที่สุด หรือ ทำตัวไม่ให้ถูกจับผิดได้ให้มากที่สุด แต่ถึงกระนั้น ก็มีบางครั้งที่เขาต้องบึ่งมอเตอร์ไซค์หลบไปอีกทาง เมื่อเห็นว่าข้างหน้ามีด่านตรวจ
ชีวิตของศร เป็นเรื่องราวผจญภัยของเด็กหนุ่ม “คนนอก” ที่ออกไปเผชิญโชคในต่างแดน และต้องการการยอมรับ เพื่อให้อยู่ได้โดยไม่ต้องคอยหลบคอยซ่อน เอาเข้าจริง พอหนีมาเมืองไทย ก็ดูเหมือนจะไม่ต่างไปจากตอนที่อยู่ศรไทใหญ่ เพราะเหมือนคนไร้ตัวตนทั้งสองที่ อยู่ไทใหญ่ มีชีวิตก็คล้ายไม่มี เพราะไม่มีโอกาสทางเลือกอะไร ส่วนอยู่เมืองไทยก็ยังไม่มีเอกสารรับรอง เหมือนอยู่แบบล่องหนไปวัน ๆ ครั้งหนึ่งเขาถึงกับพูดว่า เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบ้านของเขาอยู่ที่ไหน ดังนั้น ความฝันอันสูงสุดของศร จึงได้แก่การดิ้นรนหาเงินเพื่อทำเอกสารรับรองหรือพาสปอร์ตให้ได้โดยเร็วที่สุด และนั่นก็ทำให้เขาต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง ที่ “จิ” ยื่นข้อเสนอให้ เพื่อทำความฝันของตัวเองให้สำเร็จ
ลูกค้าประจำของศรอย่าง “จิ” ซึ่งรับบทโดยเป้ อารักษ์ อมรศุภศิริ ก็ไม่มีอะไรให้ต้องสงสัยในความเป็นมืออาชีพด้านการแสดง เขาเหมือนเหรียญอีกด้านของศร ที่ชีวิตสามารถเลือกได้มากกว่า แต่ทว่าก็เลือกที่จะอยู่ภายใต้ระบบ แม้จะเห็นว่าระบบนั้นมันมีความบิดเบี้ยวแฝงอยู่ (คำว่า บอย ในชื่อหนังบนโปสเตอร์ ดูบิด ๆ เบี้ยว ๆ ไม่แน่ใจว่า เป็นความตั้งใจจะสื่อสารถึงความบิดเบี้ยวของระบบอะไรที่ว่านี้ด้วยหรือเปล่า?) หรือบางทีเขาก็อาจไม่ต่างจากศร คือต้องทำไปเพราะไม่มีทางเลือก แต่ถึงอย่างไร มันก็ทำให้เขาอยู่ในสถานะฟันเฟืองตัวหนึ่งซึ่งขับเคลื่อนรับใช้ระบบนั้นให้เดินต่อไป ฉากสุดท้ายของ “จิ” ถือว่าเป็นฉากที่ดีที่สุดฉากหนึ่งของหนัง ภารกิจสุดท้ายของเขา เป็นได้ทั้งการปลดเปลื้องตัวเองแทนคำสารภาพผิด และถือเป็นการชดใช้ไถ่บาปมลทินจากงานสีเทาที่เขาทำมาตลอด
“จิ” แตกต่างค่อนข้างมากกับ “วุธ” ผู้ไม่ยอมจำนนต่อระบบดังกล่าว วุธ รับบทโดย “เอม ภูมิภัทร ถาวรศิริ” อีกหนึ่งนักแสดงฝีมือดีที่ครั้งนี้ถือเป็นการพลิกบทบาทพอสมควรเพราะต้องแสดงบทที่ดู “สาว” หน่อย ๆ เอม เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่กำลังเปิดโปงเรื่องการค้ามนุษย์ และแฟนหนุ่มของเขาถูกอุ้มหาย เขาจึงต้องต่อสู้เพื่อแฉเรื่องนี้ รวมทั้ง “ระบบ” หรือ “อำนาจมืด” ที่ทำให้แฟนของเขาและอีกหลาย ๆ คนต้องพบกับการถูกลบให้สูญหาย
อีกหนึ่งตัวละครที่น่าพูดถึงคือ “บี๋” หญิงสาวแฟนของศร ซึ่งรับบทโดย แคร์-ปาณิสรา ริกุลสุรกาน แม้จะเป็นบทสมทบ แต่ก็มีซีนที่น่าจดจำ โดยเฉพาะฉากที่เธอจำต้องยอมเสียตัวให้เสี่ย ฉากนี้ออกแบบและทำการบ้านมาดีมาก เพราะแทนที่เราจะได้เห็นฉากบนเตียงระหว่างเธอกับเสี่ย แต่หนังตัดสลับไปที่ฉากเธอแสดงความรักกับศร ซึ่งเหมือนคำบอกเล่าของหญิงหลายคนที่จำใจต้องทำอะไรแบบนี้ด้วยความจำเป็น และเวลามีอะไรกับคนอื่น จะนึกถึงการมีอะไรกับคนที่ตนเองรัก ซึ่งฉากนี้ในหนังก็สะท้อนมุมแบบนั้นออกมา ซึ่งดูแล้วน่าสะเทือนใจและน่าเห็นใจในชีวิตของคนที่ไม่มีอะไรให้เลือกในช่วงเวลายากลำบาก ซึ่งก็ไม่ต่างจากอีกหลายชีวิตในช่วงโควิดระบาดหนัก
ทั้งนี้ ดอยบอย ถือเป็นอีกหนึ่งหนังที่ทำการบันทึกประวัติศาสตร์สังคมยุคโควิดในบางแง่มุม โดยเฉพาะมุมลบ ๆ ของเจ้าหน้าที่บางส่วนที่นอกจากไม่ช่วยอะไรได้แล้ว ยังซ้ำเติมความทุกข์ของผู้คนให้เดือดร้อนยิ่งขึ้นไปอีก ขณะเดียวกัน ช่วงโควิดก็เป็นช่วงที่ถือว่าการเมืองค่อนข้างแรงมาก ตัวละครของเอม ภูมิภัทร ในด้านหนึ่ง คือภาพแทนของคนรุ่นใหม่ที่มีความรักในแผ่นดินถิ่นเกิดและอยากเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้ดีขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง เรื่องราวการหายตัวไปของแฟนเขา ในลักษณะ “ถูกทำให้หายไป” ก็ชวนให้นึกถึงกรณีการหายตัวไปของ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งหนังเอาการเมืองคนรุ่นใหม่กับการหายตัวไปมาผสมผสานแบบที่พอเนียนไปด้วยกันได้ (เพราะมันเป็นหนังและเรื่องแต่ง ไม่ใช่ความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์)
สุดท้ายแล้ว ต้องบอกว่า เป็นหนังที่มีประเด็นเนื้อหาเข้มข้นจริงจังและมีแง่มุมทับซ้อนกันอยู่หลายชั้น แต่ร้อยเข้ากันได้อย่างกลมกลืน ธีมหนังที่ว่าด้วยทางเลือก เป็นธีมที่คลุมหนังทั้งเรื่องไว้ แต่ยังมีแง่มุมปลีกย่อยให้แกะเก็บมาคิดได้อีกมาก มันมีมวลสารองค์ประกอบที่เรียกได้ว่าครบถ้วนของการเป็นหนังดี ๆ เรื่องหนึ่ง ทั้งมวลสารด้านเนื้อหาที่เฉียบคม บทภาพยนตร์ที่ดี การแสดง โปรดักชั่นงานภาพ มีความประณีตพิถีพิถัน ดนตรีประกอบที่รับใช้เรื่องราวในแต่ละช่วงได้ดีแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวะสถานการณ์ ทั้งหมดทั้งมวลแสดงถึงความใส่ใจทุกขั้นตอนงานสร้างของทีมงานทุกคน เป็นหนังดีปี 2566 อีกเรื่องที่ควรได้ดู