xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังการเป็นศิลปิน สะท้อนความคิด และการใช้ชีวิตในวงการบันเทิง ผ่านมุมมองของ “แหม่ม-พัชริดา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถ้าจะยกกรณีศึกษาของศิลปินผู้มาก่อนกาล ใช้ชีวิตอยู่ในวงการบันเทิง อย่างหยัดยืนและสง่างาม

หนึ่งในนั้น ต้องหมายรวมถึงผู้หญิงคนนี้ด้วย

"แหม่ม-พัขริดา วัฒนา"

จากหนึ่งในสมาชิก "สาว สาว สาว" เกิร์ลกรุ๊ปวงแรกของประเทศ ในสังกัดค่าย "รถไฟดนตรี" ผู้สร้างตำนานลานโลกดนตรีแตก สู่การเป็น "ผู้หญิงมีฝัน" ในภาพลักษณ์การเป็นศิลปินหญิงเดี่ยวของ "อาร์เอส โปรโมชัน 1992"  (ชื่อในยุคนั้น)

และอีกหนึ่งบทบาทที่สร้างภาพจำให้กับเธอไม่แพ้การเป็นคนเบื้องหน้า คือการอยู่เบื้องหลังการเฟ้นหา และพัฒนาศิลปินในยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของ อาร์ เอส

จาก "น้องแหม่ม" ที่เป็นน้องเล็กในวง กลายมาเป็น "ครูแหม่ม" ที่มีลูกศิษย์เป็นศิลปินดังมากมาย


และประเด็นที่นำพาให้มีการพูดคุยในวันนี้ ก็ด้วยสถานะหลังสุดนี่เอง

“ตอนนั้นทีมพัฒนาศิลปินของ อาร์เอส แข็งแกร่งนะ จะมีคนที่ออกไปหาตามโรงเรียน ตามเวทีประกวด ก็จะเป็นคนที่มีสายตาของแมวมอง อย่าง แหม่ม เนี่ย หาไม่เป็น แต่เราแยกแยะเป็น ว่าคนนั้นเราควรจะให้เป็นไอดอล คนนี้ควรจะให้เป็นซิงเกอร์”

กว่าที่คนหนึ่งคน จะกลายมาเป็นศิลปิน โดยเฉพาะที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะผ่านแต่ละกระบวนการ คือถ้าร้องเพลงไม่เก่ง ก็ต้องมีจุดเด่นด้านอื่น ซึ่งนั่นหมายถึงคนที่มีคุณสมบัติที่จะเป็นศิลปินได้นั้น จะต้องมี “อาวุธ” ติดตัวมาในระดับหนึ่งเลยทีเดียว


อาวุธที่ว่า ก็คือ “ความพร้อม” ซึ่ง แหม่ม แยกออกเป็น 2 หัวข้อหลัก

“คือถ้าครอบครัวเลี้ยงมา แล้วให้ความรู้รอบตัวมาดี อันนี้คือเฟอร์เฟคเลย รู้ว่าต้องวางตัวยังไง รู้ว่าต้องออกงานสังคมยังไง รู้ว่าเจอผู้ใหญ่ต้องสวัสดี เพราะบางทีศิลปินเนี่ย ถ้าเค้าไม่มั่นใจในพฤติกรรมของคนร่วมสังคมเนี่ย เค้าจะเคอะเขิน แล้วจะวางตัวไม่ถูก ตรงนี้คือความพร้อมส่วนตัว

ส่วนความพร้อมด้านอาชีพ ก็คือต้องมีความกล้า ต้องมีความโดดเด่น คนบางคนหน้าตาหล่อ แต่ยืนให้ตายแล้วไม่มีเสน่ห์ เช่น เราเคยมีนะ คนที่หามา แล้วหล่อมาก แต่ออกไปแล้ว พูดไม่เป็น คือสุดท้ายแล้วเนี่ยไม่พอ”

แหม่ม ขยายความเพิ่มเติมให้มองเห็นภาพชัดๆ ว่าความพร้อมด้านอาชีพในส่วนของทักษะนั้น สามารถสร้างกันได้ ยิ่งสมัยนี้ง่ายกว่ายุคก่อนด้วยซ้ำ เพราะมีครูสอนร้องเพลง สอนเต้นมากมายสำหรับคนที่ใฝ่รู้จริงๆ ใช้เป็นบันไดขั้นแรกสำหรับการไขว่คว้าโอกาส

แต่ “เสน่ห์” ต่างหาก ที่สร้างกันไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม กลับสามารถนำพาให้เด็กบางคน กลายมาเป็นศิลปินได้ ทั้งที่ไม่ได้เป็นคนที่ร้องเพลงได้เพราะที่สุด พร้อมกับยกตัวอย่างกรณีของ “เต๋า-สมชาย เข็มกลัด”


“ดูอย่าง เต๋า-สมชาย สมัยที่เค้าดังเนี่ย ร้องเพลงเป็นยังไง น้องเต๋าไม่ได้เป็นคนร้องเพลงเพราะ แต่น้องเต๋าเป็นคนมีเสน่ห์ และน้องเต๋ามีความมั่นใจในตัวเอง คนที่จะบอกว่าตัวเองเป็นหัวโจกชาวบ้านได้ เค้าต้องมั่นใจ เค้ามีบุคลิกแบบนั้น เค้าก็แสดงออกมา แล้วเต๋าก็ประสบความสำเร็จ ทั้งๆ ที่ร้องเพลงในลักษณะที่มีความเป็นตัวตนสูงมากกว่าศักยภาพของการเป็นนักร้อง เค้าไม่ใช่นักร้องอาชีพ แต่ถูกสร้างให้เป็นศิลปิน เป็นไอดอล และคนเชื่อเค้า นี่คือเสน่ห์

ส่วนเพลง มันเป็นส่วนประกอบที่มาหลังสุด เพราะถ้าศิลปินไม่ได้ผลิตงานเอง คนอื่นผลิตให้ ถ้าคนผลิตศิลปินตีโจทย์ ผลิตเพลงที่มันใช่ตัวเค้า ยังไงก็เกิด”

ขณะที่ “ดัง-พันกร” ถือว่ามีครบหมด ทั้งความพร้อมในเรื่องครอบครัว และความพร้อมทางด้านอาชีพ

“อัลบั้มแรกของ ดัง-พันกร ออกมา ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงล้านตลับ เพราะน้องดังมาจากครอบครัวที่ดี มีความรู้ และร้องเพลงดีเป็นบ้า ที่สำคัญ ทีมเพลงทำเพลงให้ ดังทั้งอัลบั้ม”


สิ่งที่มักจะมาควบคู่กับคำว่าเสน่ห์ ก็คือ “ตัวตน”

“จำเป็นจะต้องมีตัวตน เพราะวันนี้ศิลปินเป็นเยอะมาก เมื่อก่อนยังพูดได้ว่า สร้างและคัดมาแล้ว วันนี้ใครก็ได้ แต่จะประสบความสำเร็จมั้ย เบอร์ไหน สุดท้ายต้องย้อนกลับมาว่า คุณจะเป็นศิลปินเพื่ออะไร ถ้าคุณจะเป็นศิลปินเพราะว่าคุณชอบ นั่นคือรุ่นแหม่ม รุ่นแม่ ที่ไมได้คาดหวังว่าฉันจะต้องเข้าค่ายแล้ว ดังแล้ว ประสบความสำเร็จ ฉันร้องเพลงเพราะ...? ใม่รู้ ลืมตามาแล้วก็อยากร้องแล้วอ่ะ มันสนุก คุณต้องมีแพชชั่น”

แหม่ม บอกต่ออีกว่า กรณีที่พบบ่อยมากในฐานะของคนที่ผ่านประสบการณ์ในการฝึกสอน และพัฒนาศิลปินมาอย่างยาวนานนั้น ก็คือเรื่องของ “พ่อแม่รังแกฉัน”

“แหม่ม สอนมาเยอะ พ่อแม่หลายคนจะรู้สึกว่าลูกฉันเก่ง อันนี้ต้องล้าง ลูกคุณไมได้เก่ง แต่คุณอยากให้เค้าเก่ง และคุณเชื่อว่าเค้าเก่ง หรือถึงเก่ง ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เก่งจะได้เป็นศิลปิน

หลายคนที่มาด้วยความคาดหวังของพ่อแม่ สุดท้ายไม่ได้ เพราฉะนั้นก่อนอื่นที่จะมาถามว่าฉันใช่มั้ย ถามตัวเองก่อน ชอบร้องเพลงเหรอ ชอบเพลงอะไร รู้จักศิลปินคนไหน หรือว่ามีความสนใจ ใฝ่รู้ที่จะรู้เรื่องเพลง รู้เรื่องการแสดง ไม่ใช่อยากเป็นศิลปิน แต่ในหัวว่างเปล่า บางคนบอกว่าชอบเต้น แต่พอให้เต้นให้ดูแล้ว อยากจะบอกว่าแค่เรียนเต้นนะ แต่ไม่ใช่ศิลปินที่จะเต้นได้ เพราะมันไม่มีเสน่ห์ เห็นมั้ยมันจะวนกลับมาที่เรื่องของเสน่ห์

สุดท้ายถ้าคนมองออก และมองอย่างเป็นกลาง และมองอย่างคนที่มีประสบการณ์ในวงการ มันจะชัดเจนว่าคุณคือคนที่เหมาะสม นั่นคือคุณต้องเข้าไปสู่วงจรของการประกวด ที่มีคนกลางตัดสิน ถึงจะชัดว่า ที่บอกเก่ง มันคือเป็นแบบนี้”


หลายคนพยายามให้คำแนะนำสำหรับคนที่อยากเป็นศิลปินว่า ต้องหาตัวเองให้เจอก่อน แต่ในมุมมองของ แหม่ม กลับเห็นต่าง

“ไม่อยากใช้คำว่าหา เอาจริงๆ นะ ถ้าเราชอบจะเป็นอะไร มันจะไปเอง เพราะคำว่าหาเนี่ย เป็นตัวเลือกของคนที่อยากจะเป็น แล้วพยายามจะหา

คำถามคือถ้าคุณพยายามจะหาในสิ่งที่คุณอยากจะเป็น มันมีสองแยกเสมอ คือหาเจอแล้วได้ กับหาเจอแล้วไมได้ แล้วผิดหวัง”

อีกหนึ่งประเด็นที่ แหม่ม บอกว่าสำคัญมากสำหรับคนที่อยากจะเข้ามาเป็นศิลปิน ก็คือการเข้าใจในสัจธรรมของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ยอมรับให้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลง เมื่อขึ้นได้ ก็ต้องลงเป็น

“แม่จะสอนตลอด บังเอิญโชคดีว่า แหม่ม อยู่ในครอบครัวนักดนตรี นักร้อง แม่จะบอกอยู่ตลอดว่าดังได้ ก็ดับได้ เป็นลูกแม่ก็ไมได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จนะ เค้าจะสอนตลอด เพราะฉะนั้นมันเหมือนมันมีวัคซีนอยู่ในตัว


ตอน 14 ร้องเพลง ยังเป็นนักเรียนอยู่เลย อยู่ดีๆ ดัง ไมได้ตั้งหลักว่าจะดัง ดังแล้วทำยังไงชีวิต ก็เรียนหนังสือต่อไป ถ้ามีแกนให้เกาะเราจะไม่เสียหลัก

พอผ่านไปซัก 10 ปี สาว สาว สาว เริ่มดร็อป เพราะว่าคนดูก็เบื่อ เราร้องเพลงกันดีขึ้นนะ เราโตขึ้น เราพัฒนา แต่คนดูเบื่อแล้ว ทำยังไงดี ยอมรับกัน ก็เบรก แยกกันไปทำงานส่วนตัว อย่าง แหม่ม ไปโฟกัสเรื่องการร้องประสานเสียง พี่แอม ไปออกอัลบั้มเดี่ยว พี่ปุ้ม ไปร้องกลางคืน เราไปหาสาขาของนักร้องที่เราชอบ เป็นช่วงที่ฉันเหมือนคนเคยดัง ถ้าคุณ suffer คุณ suffer เอง แต่ถ้าไม่ ก็ถือเป็นเรื่องปกติ


สำหรับ แหม่ม ไม่ได้คิดว่าการเป็นนักร้อง มันคือฉันเป็นเซเลป แหม่มรู้สึกว่ามันคือการทำงาน เราก็จะไม่รู้สึกตื่นเต้นกับการเป็นนักร้อง

แต่ถ้ามาจากครอบครัวที่ไมได้อยู่ในวงการ มีความฝันบวกเข้าไปอีก มันทำได้ทั้งความหวัง และทำให้เด็กพังมาเยอะแล้ว ด้วยความที่คิดว่าใครก็เป็นซูเปอร์สตาร์ได้ ได้เข้าวงการ คุณต้องขาดก่อน แล้วคุณจะรู้ว่าอะไรมีค่ากับคุณ แล้วพอเรารู้ปุ๊บ โอกาสถ้ามันเข้ามา มันก็ขึ้นอยู่ว่าคุณจับ แล้วทำ แล้วมุ่งไปกับมันแค่ไหน”

นั่นก็คือเรื่องของ Mindset ล้วนๆ

“ Mindset สำคัญมาก คือถ้า Mindset คุณมองว่า เราก็แค่คนคนหนึ่ง ทำหน้าที่ของเราไป เราอาจจะมีความสุขกับการดังในบางเรื่อง ไม่มีความสุขกับการดังในบางเรื่อง คุณต้องเวทมันให้ดี แล้วคุณชอบตรงไหน เหมือนบางคนบอก หนูชอบร้องเพลงมาก หนูอยากเป็นนักร้องมาก ถ้าอยากเป็นนักร้องมาก ไปร้องกลางคืนได้มั้ย อุ๊ย อยากออกอัลบั้มมากกว่า คุณไมได้อยากเป็นนักร้อง คุณแค่อยากเป็นศิลปินดัง พอถามเจาะไปลึกๆ เราจะเจอ Mindset ที่ฝังไว้ในตัวคนแต่ละคน คุณมีสิทธิ์อยากให้ลูกคุณเป็นได้ คุณเชื่อมั่นในลูกคุณได้ แต่คุณต้องดูลูกคุณให้ขาดจริงๆ”

และเมื่อให้ยกแบบอย่างของศิลปินที่ถือว่ามี Mindset ที่ดี แหม่ม สามารถขึ้นชื่อได้ทันที โดยแทบไม่ต้องเสียเวลาตรึกตรอง 

“..... “แดน บีม” สองคนนี้ มี Mindset เหมือนกันอยู่อย่าง คือเมื่อได้ทำงานแล้วก็จะทำให้ดี มี Mindset ของคนที่เจอเพื่อนร่วมงานแล้ว พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

พอเกิดอุบัติเหตุใหญ่กับ D2B เค้าเหมือนพอมันไม่มี เค้าเห็นทันทีว่านี่คือสิ่งที่เรารัก


เพราะช่วงที่ D2B ดัง มันคือคืนเดียวดังเลย แล้วดังมาก ในช่วงที่ดังมาก ปัญหาเยอะมาก เพราะบางคนเหนื่อย บางคนงอแง มันมีงานทุกวัน วันละ 3-4 งาน บางงานไม่อยากไป ก็ต้องไป ชีวิตของเด็ก 3 คนพัง แต่ความพังไม่เท่ากัน

กำลังจะแย่แล้วนะ ช่วงนั้นเกิดอุบัติเหตุกับ บิ๊ก ทุกอย่างหยุด เด็กที่เคยมีงานทุกวัน ต้องนั่งอยู่เฉยๆ เป็นครึ่งปี ตระหนักรู้ซิ พอมันไม่มี หลังเหตุการณ์ของ บิ๊ก ยิ่งดีขึ้นไปใหญ่ในแง่ที่ว่า เมื่อรู้ว่าเพื่อนไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ แต่ตัวเองรู้แล้ว ว่าที่ตัวเองเคยงอแง นั่นคืองานที่รัก สองคนนี้กลับมาใหม่ ตั้งใจทำงาน ไม่งอแงอีกแล้ว เหนื่อยขึ้น แต่พอพักคือพัก ทำงานแทนน้องซึ่งไม่มีโอกาสอีกแล้ว


จนวันนี้ แดน ก็เติบโตในส่วนของแดน เค้าชอบกำกับหนัง เค้าก็ไปเรียนรู้ของเค้า บีม เป็นคุณพ่อ มีชีวิตครอบครัว แล้วเค้าก็รู้ว่าเค้าอาจจะร้องเพลงเก่ง แต่เค้าถนัดกับการเป็นนักแสดงมากกว่า เค้าก็รับงานละคร แต่เมื่อเค้ากลับมาเป็น แดน บีม ก็ยังยิ่งใหญ่เสมอ

อันนี้คือภูมิใจ ถ้าเราสามารถสร้างเด็กคนหนึ่งที่มาจากไม่รู้อิโหน่อิเหน่ สุดท้ายแล้วเค้ารู้ว่าเค้าเก่งทั้งคู่ แล้วเค้าก็มั่นใจที่จะทำตรงนั้น ซึ่งมันไม่ได้เกิดกับศิลปินทุกคนนะ”

แต่ท้ายที่สุด แหม่ม ก็ยอมรับว่า สิ่งที่พูดมาทั้งหมดอาจจะไม่ใช่ดัชนีชี้ขาดว่า จะเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จได้ อย่างยาวนานหรือไม่? เพราะหลายครั้งหลายคราว ที่มาตรวัดจริงๆ ก็มาในรูปแบบของตัวเลขรายได้

“รายได้ มันไม่มีอะไรตายตัวค่ะ สำหรับการเป็นศิลปิน ไอดอล ทุกคนมองแต่คนที่ประสบความสำเร็จแล้ว มีรายได้ แล้วรวย แล้วดัง โฆษณาเข้า แต่ถ้าเค้าดัง แล้วเค้าไม่ดูแลตัวเอง 5 ปีเค้าดับ สิ่งเหล่านั้นก็จบ แต่ถ้าคุณไม่ดัง แหม่มก็เห็นหลายคน แล้วแหม่มก็เสียดายว่า คนนี้เก่งนะ คนนี้อยากเป็นนะ คนนี้ตั้งใจนะ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เค้าก็ไปเป็นอาชีพอื่น สุดท้ายจะแยกย่อยไปตามสิ่งที่คุณเป็น 


ความสนุกของคนที่เข้ามาในวงการนี้ คือคุณไม่รู้หรอกว่าคุณจะสำเร็จในเวลาแค่ไหน คุณไม่รู้หรอกว่าความสำเร็จของคุณ ตามมาด้วยเงินหรือเปล่า บางคนดั๊ง ดัง แต่ไม่รวย เพราะดังเพลง มีงานอีเวนต์ แต่ไม่เคยถูกจ้างไปโฆษณา เพราะฉะนั้น ถ้าจะเข้ามาวงการนี้ ต้องถามก่อนว่าย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น คุณรักมันจริงๆ หรือเปล่า วันหนึ่งถ้าคุณจนมากๆ คุณจะอยากเป็นนักร้องอยู่มั้ย? คุณยังอยู่กับมันได้มั้ย?

เพราะงั้นชีวิตแต่ละคน ถูกสร้างมาไม่เหมือนกัน”

ก่อนจะสรุปทิ้งท้ายด้วยวรรคทองสั้นๆ ว่า
“ถ้ามันใช่ มันก็ใช่”

ขอบคุณเรื่องราวจาก : รายการพอดแคสต์ประโยชน์บอกเล่า PYBL สนับสนุนโดย #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สงวนลิขสิทธิ์โดยPYBLและกองทุนพัฒนาสื่อฯ
รูปภาพจาก Instagram : mampatrida



กำลังโหลดความคิดเห็น