ในสังคมปัจจุบันที่โลกหมุนอยู่ได้ด้วยกระแสทุนนิยม สิ่งธรรมดาในชีวิตประจำวันทั้งหลายต่างสูบพลังชีวิตโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว จนแม้เหือดแห้งไร้วิญญาณ สังคมก็ยังคงฉุดพาให้เราร่วมขับเคลื่อนระบบนี้ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ราวกับมนุษย์เป็นเพียงสินค้า ไร้ซึ่งชีวิตและจิตใจ
นี่คือแก่นที่ "Know Your Worth: A Cabaret" ละครเพลงแนวคอมเมดี้เสียดสีสังคมต้องการสื่อสารถึงคนดู โดยหยิบยกสิ่งธรรมดาในชีวิตประจำวันมานำเสนอด้วยเพลงที่สนุกสนาน พร้อมหยอดมุขตลกเป็นระยะ แต่ไม่ลืมที่จะจิกกัดสังคมทุนนิยมอย่างเจ็บแสบให้ผู้ชมได้ขบคิด โดยการแสดงนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลละครกรุงเทพ หรือ Bangkok Theatre Festival 2023 จัดขึ้นในห้องสตูดิโอของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 18 – 19 พ.ย. ที่ผ่านมา
จากมหานครนิวยอร์ก ถึงกรุงเทพ ประกอบเป็นโชว์สุดประทับใจ
จากการรวมตัวของนักเขียนละครเพลงชาวไทยในนิวยอร์ก ลลิต ศรีธรา ผู้เป็นทั้งนักเขียนบท นักแต่งเพลง และผู้จัด ร่วมด้วย ฑิตยา สินุธก เจ้าของรางวัลละครเพลงชื่อดังในนิวยอร์ก (Fred Ebb Award, Billie Burke Ziegfeld Award, Jonathan Larson Grant) และนักเขียนละครเพลงต่างชาติ Alexander Ronneburg, Christopher Bullé-Goyri และ Daphny Maman บทเพลงภาษาอังกฤษทั้งหมด 5 เพลงถูกเรียงร้อย ถ่ายทอดผ่านนักแสดงทั้งสี่ อาดาม แก้วเก็บ (อดีตนักแสดงบรอดเวย์), ณิชา รอดอนันต์ (ผู้ชนะ The Next Boy Girl Band Thailand 2018), บุษยพัชร อุ่นจิตติกุล (เจ้าของเสียงพากย์ Nimona ใน Netflix),และพีรวิชช์ ปุณณะตระกูล (นักพากย์ดิสนีย์ เช่น Frozen II) กำกับการแสดงโดยธาริน ปริญญาคณิต (เจ้าของรางวัล IATC Best Musical 2020-2022) นอกจากนี้ยังมีทีมเบื้องหลังอย่าง ชนิสสา เอี่ยมสุวรรณ กำกับเวทีและร่วมเขียนบท และพิชญา คลิมอฟ เป็น Vocal Coach ให้นักแสดง
แม้ห้องจัดแสดงและฉากจะเรียบง่ายเป็นสไตล์คาบาเร่ต์ มีเพียง โต๊ะ เก้าอี้ และฉากหลังที่เปลี่ยนได้จากการฉายโปรเจคเตอร์บนผนัง อีกทั้งดนตรีประกอบก็ถูกบรรเลงด้วยเปียโนเพียงตัวเดียวโดย กวิรัตน์ ไทรเมฆ การแสดงที่เบื้องหน้าดูเรียบง่ายนี้กลับดึงความสนใจได้ตลอดระยะเวลาการแสดง เนื่องด้วยทีมนักแต่งเพลง นักแสดง และทีมงาน ต่างมีประสบการณ์ด้านละครมิวสิคัลในระดับประเทศหรือระดับโลกกันมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเมืองไทยรัชดาลัย ดิสนีย์ หรือแม้กระทั่งบรอดเวย์ ทำให้ทั้งบท คำร้อง ทำนอง การร้องและการแสดง ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างกลมกล่อมและเปี่ยมไปด้วยพลัง เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้แทบตลอดการแสดง จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่บัตรเข้าชมจะ sold out หลังเปิดขายได้เพียงไม่กี่วัน
“เวลา” ส่วนตัวที่เหลือเพียงน้อยนิด ยังต้องยกให้ทุนนิยม
เมื่อเข้ามาในห้องสตูดิโอที่จัดแสดง เราได้พบกับบรรยากาศอบอุ่น โดยก่อนเริ่มแสดง นักแสดงทั้งสี่ที่แต่งตัวด้วยด้วยชุดสูทสีดำได้พูดคุยกับผู้ชมอย่างสนุกสนานและเป็นกันเอง ขณะที่นักเปียโนบรรเลงเพลงคลาสสิกเพราะ ๆ คลอ จนเมื่อถึงเวลา การแสดงก็เริ่มขึ้นด้วยการร้องประสานเสียงในเพลง Sorry, I Can’t ซึ่งเป็นเพลงทำนองสนุกสนานที่ใช้เปิดตัวนักแสดงทั้งสี่ ในบทบาทของผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จในชีวิตแต่กลับไม่มีเวลาส่วนตัว เพราะชีวิตยุ่งวุ่นวายกับตารางงานจนไม่อาจปลีกตัวได้ เป็นที่มาของชื่อเพลง Sorry, I Can’t ที่ใช้ในการปฏิเสธนัด ซ้ำยังพากันสะกดจิตตัวเองว่า การยุ่งกับงานจนไม่มีเวลาส่วนตัวนั้น คือหลักฐานว่าตนมีคุณค่า และประสบความสำเร็จ
เพลงที่สอง Customer Disservice แสดงโดยอาดาม แก้วเก็บ และณิชา รอดอนันต์ เป็นเพลงที่พูดถึงความไม่จริงใจของทุนใหญ่ โดยนำเสนอผ่านสายตาของลูกค้าที่วัน ๆ ต้องทำงานจนชีวิตแทบหาเวลาพักผ่อนไม่ได้ แต่กลับต้องมาเสียเวลากับระบบแลกเครดิตเที่ยวบินอันแสนยากเย็นของสายการบิน เพลงนี้เรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้เต็มที่ เพราะหลายคนคงเคยผ่านประสบการณ์คล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นการรอสายที่ยาวนาน คอลเซ็นเตอร์ที่แทบจะช่วยอะไรลูกค้าไม่ได้เลย ลูกค้าที่เริ่มโมโหเพราะทนไม่ไหวกับระบบ ไปจนถึงการแต่งเรื่องให้ดูดราม่าใหญ่โตเพื่อเรียกคะแนนสงสารจากพนักงานคอลเซ็นเตอร์ เรียกได้ว่าเพลงนี้นำเอาประสบการณ์จากชีวิตจริงมาเล่าได้อย่างถึงพริกถึงขิงเลยทีเดียว
เพลงที่สาม We Did This For You ก็เป็นอีกเพลงที่เข้าถึงง่ายเช่นกัน กล่าวถึงโปรโมชั่นแจกโค้ดส่วนลดออนไลน์ และลูกค้าที่หลงไปกับโปรโมชั่นทุนนิยมเหล่านี้ก็ต้องจบลงด้วยการบริโภคเกินความจำเป็น เพลงนี้นักแสดงทั้งสี่ร่วมแสดงด้วยกันในฐานะพนักงานฝ่ายการตลาดของบริษัทใหญ่ ที่พิเศษคือนักเปียโนได้เข้ามาร่วมแสดงเป็นผู้ซื้อด้วย ดนตรีมีช่วงที่รุกเร้าให้ซื้อของ และมีช่วงที่นักแสดงทั้งสี่เต้นเหมือนซอมบี้เพื่อปลุกปั่นเร่งเร้าให้ผู้บริโภคกดปุ่มสั่งซื้อ สื่อให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่ถูกทุนนิยมลดทอนจนไม่ต่างจากผีดิบไร้วิญญาณ
เกือบได้หักมุม แต่ทุนนิยมกลับดำเนินต่อไป
หลังจบเพลงที่สาม ตัวละครที่แสดงโดย บุษยพัชร อุ่นจิตติกุล เกิดความเหนื่อยล้ากับโลกทุนนิยม เป็นที่มาของเพลงที่สี่ Great ซึ่งเป็นเพลงช้าและเพลงเดี่ยวเพลงเดียวของคอนเสิร์ตนี้ เนื้อเพลงบรรยายถึงอดีตที่เคยอยู่ในชนบทใกล้ชิดธรรมชาติ นอนรับลมใต้ต้นไม้มองหิ่งห้อยอย่างมีความสุข เพลงนี้เรียกว่าเป็นจุดตัดทางอารมณ์ของทั้งการแสดงเลยก็ว่าได้ จากเสียงหัวเราะที่มีตลอดสามเพลงที่ผ่านมา เพลงนี้ได้กะเทาะเอาเปลือกคอมเมดี้ออกมา จนเห็นแก่นความทุกข์ของมนุษย์ในโลกวัตถุ ชวนให้คิดว่าโชว์นี้คงจบลงในแบบที่ตัวละครเลือกหันหลังให้โลกทุนนิยม
ทว่าในเพลงสุดท้าย Know Your Worth นักแสดงอีกสามคนที่เหลือกลับฉุดกระชากให้ตัวละครนี้กลับมาต่อสู้ในโลกทุนนิยมอีกครั้ง ท่วงทำนองของเพลงนี้จึงกลับมามีจังหวะที่เร่งเร้าเหมือนเพลงแรก ๆ แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ราวกับมนุษย์เป็นเพียงสินค้าที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ต้องทุ่มเทพัฒนาคุณค่าซึ่งก็คือ “ตัวเลข” ต่าง ๆ เพียงเพื่อคำว่า “ความสำเร็จ” เท่านั้น นับเป็นบทสรุปที่สมจริงสำหรับคนทั่วไปที่ยังคงต้องดิ้นรนอยู่ในวังวนทุนนิยมนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ปัญหาสากลที่จะยังต้องอยู่คู่โลกต่อไปอีกแสนนาน
เพลงทั้งห้าไม่ได้เป็นละครเรื่องเดียวกันเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ได้แยกขาด มีความเชื่อมโยง และบางครั้งก็ใช้ตัวละครตัวเดียวกันเหมือนหนังภาคต่อ และแม้เรื่องราวที่นำเสนอทั้งหมดจะอิงจากชีวิตในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโค้ดส่วนลดวันคริสต์มาสหรือภาพชนบทที่ตัวละครนอนใต้ต้นถั่วพีแคน ทว่าความเจ็บปวดของมนุษย์จากสังคมทุนนิยมก็มีความสากลมากพอให้คนไทยอย่างเรามีอารมณ์ร่วมได้ไม่ยาก ทั้งขบขันจากบทและการแสดงที่จิกกัด และหดหู่ไปพร้อม ๆ กัน เพราะสุดท้ายไม่ว่าจะที่ไทยหรือสหรัฐอเมริกา ทุนนิยมก็ได้ “ลดทอน” ความเป็นมนุษย์ลงไม่ต่างกัน
อย่างไรก็ตาม บทที่ขบขัน ทำนองสนุกสนาน การขับร้องและการแสดงที่เปี่ยมไปด้วยพลังได้ทำให้โชว์นี้ไม่จบลงอย่างหดหู่เหมือนเนื้อหาที่แฝงเอาไว้ แต่กลับเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะแห่งความสนุกสนานและรอยยิ้มแห่งความประทับใจจากผู้ชมทุกเพศทุกวัย พร้อมทิ้งตะกอนบางอย่างให้เราได้กลับไปขบคิด ทบทวนการดำเนินชีวิตในโลกทุนนิยมของตัวเอง เรียกได้ว่าเป็นโชว์ที่ใช้เปลือกของคอมเมดี้มาห่อหุ้มแก่นเรื่องที่พูดถึงความเจ็บปวดในทุนนิยมไว้ได้อย่างแนบเนียนไร้ที่ติ และเสียดสีสังคมได้อย่างเจ็บแสบเลยทีเดียว