ในขณะที่หนังผีจากเรื่องเล่ายอดนิยมในรายการเดอะ โกสท์ เรดิโอ เดินหน้ากวาดรายได้อย่างดุดัน เข้าโรง 2-3 วันก็ทำเงินไปกว่า 200 ล้าน และขึ้นแท่นหนังไทยทำรายได้ในการเปิดตัวฉายวันแรกสูงสุดแห่งปี 2566 ที่ 39 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ก็มีหนังไทยอีกเรื่องทำเงินถล่มทลายไปเกือบ 700 ล้านแล้วในขณะที่เขียนบทความนี้ และยังไม่รู้จะไปจบที่ตัวเลขเท่าไหร่ เพราะยังคงยืนโรงฉายในวันที่ “ธี่หยด” เข้าฉายเช่นกัน หนังเรื่องที่ว่านี้ก็คือ “สัปเหร่อ”
สัปเหร่อ คือผลงานล่าสุดในจักรวาลไทบ้าน เดอะซีรีส์ ที่เนื้อหาตัวเรื่องมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงมาจากภาคก่อนหน้า โดยที่สัปเหร่อ นอกจากจะเป็นการหาบทสรุปให้กับตัวละครบักเซียงกับอดีตแฟนสาวอย่างใบข้าวซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ยังเป็นการขยายจักรวาลออกไปอีกด้วยการเล่าเรื่องของตัวละครที่เคยปรากฏตัวในฉากทิ้งท้ายของไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2 นั่นก็คือ “ลุงศักดิ์” ซึ่งเป็นสัปเหร่อ และ “บักเจิด” ลูกชายของลุงศักดิ์ที่ไปเรียนกฎหมายอยู่กรุงเทพฯ นานหลายปี
แม้จะเลิกเป็นแฟนกันไปนานแล้ว แต่ความรักความผูกพันยังฝังตรึงอยู่ในจิตใจ บักเซียงจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะติดต่อแฟนเก่าซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เพราะเชื่อว่าใบข้าวต้องมีอะไรสักอย่างอยากจะบอกเขาเป็นแน่ สุดท้ายเขาก็ได้ค้นพบวิธีการถอดจิตที่ลุงศักดิ์เป็นคนแนะนำให้ ขณะที่ตัวของลุงศักดิ์เองก็เริ่มแก่ตัวลงและมองหาคนที่จะมาเป็นสัปเหร่อแทน แต่หาเท่าไหร่ก็ไม่มีใครอยากทำ สุดท้าย “บักเจิด” ลูกชายจึงขันอาสาทำแทน โดยชวนบักเซียงมาเป็นผู้ช่วย พร้อมข้อเสนอสุดเด็ดที่บักเซียงไม่สามารถปฏิเสธได้
โครงเรื่องหลัก ๆ ของสัปเหร่อก็จะยึดโยงอยู่กับตัวละครสองคู่ดังที่กล่าวมา แต่ต้องบอกว่า สีสันเรื่องราวระหว่างทางยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยความตลกสนุกสนานสไตล์ไทบ้านที่ขาดไม่ได้ในหนังทุกภาค ตัวละครหลากหลายในก๊วนไทบ้านที่คุ้นหน้าคุ้นตา ร่วมกันมาเติมแต่งเรื่องราว รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ โดยแต่ละคนต่างก็มีซีนของตัวเองที่โดดเด่น
ไม่ว่าจะเป็น “จาลอด” ที่กำลังจะเป็นพ่อคนแต่ยังคงรักเพื่อนและคอยช่วยเหลือไม่ขาด , “บักมืด” หนุ่มน้อยน้องชายจาลอด บทอาจจะดูน้อย แต่บทจะออก คมทุกดอกบอกเลย คำพูดของบักมืดคือคมคายเชือดเฉือนบาดจิตโดนใจ , “เฮิร์ป” ที่เคยมีหนังภาคแยกของตัวเอง (เซียนหรั่ง) ก็โดนผีใบข้าวหลอกซะคนดูฮาลั่นโรง เช่นเดียวกับ “ป๋าคำตัน” ผู้ใหญ่บ้านโนนคูณที่ท่าทางการเดินตอนถูกผีหลอก แม้แต่เด็กน้อยยังหัวเราะลั่น นอกจากนี้ยังมี “ปริม” สาวสวยที่คอยเป็นลมใต้ปีกอยู่เคียงข้างบักเซียง และอีกคนที่อยากพูดถึง คือคุณยายของบักเซียงที่ปริมช่วยดูแล เชื่อแน่ว่า ฉากเล็ก ๆ ที่ยายปลอบใจบักเซียงและผูกด้ายข้อมือให้พร้อมทั้งเอิ้นขวัญ (เรียกขวัญ) เป็นอีกฉากที่จะอยู่ในใจหลาย ๆ คนและระลึกนึกถึงคุณย่าคุณยายที่เป็นเสาหลักทางใจให้ลูกให้หลานเสมอ
สำหรับตัวละครที่เป็นแกนหลักของเรื่อง ถ้าไม่นับรวมบักเซียงแล้ว ต้องบอกว่า “ลุงศักดิ์” นั้น คือความดีความงามของหนังโดยแท้จริง บทนี้แสดงโดย “อัจฉริยะ ศรีทา” หรือ อาจารย์โต้ง เป็นอาจารย์สอนนิเทศศาสตร์ในมหาวิทยาลัย เราจึงได้เห็นฝีมือการแสดงในบทสัปเหร่อศักดิ์แบบที่พูดได้ว่า “ของแท้” หรือการแสดงชั้นครูเลยก็ว่าได้ และในเทศกาลมอบรางวัล เราคงได้เห็นอาจารย์โต้งรับรางวัลด้านการแสดงจากหลากหลายสถาบันรางวัลอย่างแน่นอน บทของลุงศักดิ์ พร้อมจะเป็นที่รักของทุกคน มีความสุขุม ลุ่มลึก เข้าอกเข้าใจ อีกทั้งเป็นบทที่ดูอบอุ่นและห่วงใย แบบผู้ใหญ่ใจดีมีเมตตา
จากเรื่องของนักแสดง...อีกหนึ่งจุดเด่นที่จะไม่พูดถึงคงไม่ได้ และถือเป็นความตั้งใจอย่างที่สุดของ “ต้องเต ธิติ ศรีนวล” (ผู้กำกับที่ทั้งเขียนบทเอง ร่วมตัดต่อ ทำมิวสิกสกอร์ และร่วมแสดงเป็นโรเบิร์ต คนบ้าประจำหมู่บ้าน) นั่นก็คือ การสื่อสารให้เห็นถึงประเพณีพิธีกรรมการจัดการงานศพแบบคนอีสาน ซึ่งเขาบอกว่าใช้เวลาค้นคว้าข้อมูลนานนับปี และจากผลลัพธ์ที่ออกมา ก็ต้องบอกว่า นอกจากจะทำให้คนดูเห็นภาพการทำงานของสัปเหร่อแล้ว ยังมีการสอดแทรกคำอธิบายให้เข้าใจถึงแก่นของพิธีกรรมแต่ละจุดที่สำคัญ ๆ อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจคือหนังไม่ได้ยึดติดจะนำเสนอพิธีกรรมที่เคร่งครัดตามแบบแผนโบราณเท่านั้น เราจึงได้เห็นการจัดงานศพหลากหลายรูปแบบที่เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสีสันของงานศพยุคใหม่ที่เห็นได้ทั่วไปในยุคปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน องค์ประกอบหนึ่งซึ่งเหมือนเป็นภาพแทนแห่งการไม่ติดยึดในอดีตหรือขนบแต่อย่างเดียว คือการสร้างสรรค์มิวสิกสกอร์ ด้วยการนำเพลงธรณีกรรแสงมาจัดแจงแต่งตัวใหม่ด้วยเครื่องดนตรีให้ได้ท่วงทำนองที่แปลกหูไปจากเดิม มีทั้งจังหวะที่เศร้าลอย ๆ (ไม่ถึงกับเศร้าโศกคร่ำครวญแบบต้นฉบับ) ไปจนถึงจังหวะที่ “เซิ้ง” (เต้น) ตามได้ ซะอย่างนั้น นอกจากนั้นยังมีการนำไปเรียบเรียงผสมผสานในเพลง “หล่าคำเอย” ซึ่งเป็นหนึ่ง 1 ใน 3 เพลงประกอบของหนังเรื่องนี้
แน่นอนว่า ด้วยความที่หนังเกี่ยวข้องกับงานศพ และมีตัวละครสำคัญเป็นคนที่ตายไปแล้ว ในมุมหนึ่ง สัปเหร่อจึงมีความเป็นหนังผีด้วย โดยผีที่ว่านี้ก็คือ ผีสาวใบข้าวที่ตายทั้งกลม ซึ่งตามความเชื่อแล้ว ผีตายทั้งกลมจะเฮี้ยนมากและออกมาหลอกหลอนผู้คน ผีใบข้าวก็ไม่พ้นไปจากนี้ เพียงแต่หนังไม่ได้ทำให้เธอเป็นผีดุหรือน่ากลัวมากนัก มีฉากหลอกแบบดุดันเพียงครั้งสองครั้งก็ว่าได้ นอกจากนั้นก็คือหลอกแบบเบา ๆ มาเดิน ยืน หรือนั่งสวย ๆ ให้เห็น พอให้ตกใจเล่น และคนที่ถูกหลอก ซึ่งมีกิริยาท่าทางแตกต่างกันไป (เดินย่อง ๆ แบบผู้ใหญ่คำตัน หรือวิ่งจีวรปลิวแบบพระป่อง) ก็ทำให้คนดูตลกขบขัน มากกว่าจะกรี๊ดหรือยกมือปิดตาด้วยความกลัว
ในความรู้สึกส่วนตัวของผม ถ้าสัปเหร่อจะเป็นหนังผีที่น่ากลัว ก็คงไม่ใช่เพราะมันทำให้เรารู้สึกกลัวว่าผีจะมาหลอกหลอน แต่ยังมีอย่างอื่นที่น่ากลัวกว่าผีหลายเท่า
“...ความเยือกเย็นกลืนใจขุ่นมัว บ่ฮู้กำลังหวาดกลัวอีหยัง ย่านต้องใช้ชีวิตลำพัง ฝืนอยู่ต่อไปโดยบ่มีเจ้า...”
เนื้อหาท่อนฮุกในเพลง “ยื้อ” ซึ่งเป็นหนึ่งในเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ (ขับร้องโดย ปรีชา ปัดภัย) น่าจะสื่อถึงความรู้สึกกลัวในแบบที่ว่าได้อย่างดี ... เป็นความกลัวการจากลาของคนที่เรารักและผูกพัน มันคือการจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ซึ่งนับเป็นความโศกเศร้าที่เราพบเห็นเป็นประจำในงานศพ แม้จะพยายามยื้อไว้เพียงใด สุดท้ายก็ยื้อไว้ไม่ได้ การพบเจอและการจากลาคือกฎแห่งธรรมชาติที่ไม่อาจฝืนต้าน เข็มนาฬิกาชีวิตมันจะเดินไปเรื่อย ๆ จนถึงสุดท้ายปลายทาง
สัปเหร่อ คือหนังที่กระตุกให้ฉุกคิดถึงคนสำคัญในชีวิตของเรา ผ่านเรื่องราวของตัวละคร อย่างในกรณีของเซียง ตอนคนรักยังอยู่ ก็อาจจะไม่ได้ดูแลเทคแคร์เต็มที่จริงจัง ต่อเมื่อเสียไปแล้ว จึงรู้สึกสำนึกได้ ส่วนในกรณีของบักเจิด ก็ไม่ค่อยต่างกัน เดินทางตามล่าฝันในเมืองไกล โดยบางครั้งอาจจะหลงลืมไปหรือไม่ทันได้สังเกตว่าคนข้างหลังอย่างพ่อก็ร่วงโรยไปทุกวัน ดังนั้น เนื้อหาภาพรวมของสัปเหร่อ ในด้านหนึ่งจึงทำหน้าที่เป็นเหมือนเครื่องเตือนใจให้เราเกิดสติว่า ตอนยังมีชีวิตอยู่หรือคบกันอยู่ เราดูแลคนที่เรารักและรักเรา ดีพอหรือยัง? และถ้าลงมือทำได้ตั้งแต่วันนี้ก็จะดี ก่อนจะไม่มีโอกาสได้ทำแล้ว
จากจุดเริ่มต้นที่ว่าด้วยเรื่องราววุ่น ๆ ของวัยรุ่นไทบ้านซึ่งอบอวลด้วยความรักและมิตรภาพในภาคก่อน ๆ “สัปเหร่อ” ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของจักรวาลไทบ้าน มันคือการยกระดับเนื้อหาให้เข้มข้นขึ้นอีกขั้นด้วยการเล่าเรื่องที่แฝงแง่คิดปรัชญาชีวิต จะว่าไปก็คล้าย ๆ วัยรุ่นหนุ่มสาวที่ก้าวผ่านวันเวลาและเรื่องราวมาพอสมควรแล้ว และเริ่มเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เริ่มเข้าอกเข้าใจชีวิต ยอมรับความจริงของชีวิต และเดินหน้าต่อไป
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเติบโตไปสักแค่ไหน เชื่อแน่ว่า สิ่งหนึ่งซึ่งจะยังไม่จางหายไปจากลมหายใจของจักรวาลไทบ้าน คือ ความสนุกสนานในการใช้ชีวิต อารมณ์ขันและความตลกโปกฮาประสาไทบ้าน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์สำคัญที่ทำให้คนดูผู้ชมพร้อมจะร่วมเดินทางต่อไปกับไทบ้านในผลงานข้างหน้าที่ยังมีเรื่องเล่าและเรื่องราวอีกมากมายรออยู่