xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนพัฒนาสื่อฯ ดึงนักเขียนบทเกาหลีแนะเคล็ดลับนักเขียนบทละครไทย สร้าง soft power

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ จัดงานกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนานักเขียนบทละครโทรทัศน์ ร่วมกับ นักเขียนบทละครจากสาธารณรัฐเกาหลี “Storyteller intensive program with Korean professional screenwriter 2023” โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมด้วยนายคฑาหัสต์ บุษปะเกศ นายกสมาคมนักเขียนบทโทรทัศน์ และนายเทินพันธ์ แพนสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับประชาชน ร่วมด้วย โดยจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน คือวันที่ 5-6 กันยายน 2566 เวลา 09.00 -17.00 น. ณ ห้องซาลอน เอ ชั้น 2 โรงแรม สวิสโซเทล กรุงเทพฯ รัชดา


โดยงานนี้ได้รับความร่วมมือจาก นักเขียนจากสาธารณรัฐเกาหลี ส่งนักเขียนบทละครมืออาชีพจากเกาหลี 3 ท่าน ได้แก่ Yoonjung Jung นักเขียนบทละครเจ้าของเรื่อง Idol - The Coup / The Bride of Habaek 2017 / Misaeng / Monstar / Arang and the Magistrate / Joseon Scientific Investigation Unit - Byulsungum รวมถึง Hyejin Park นักเขียนบทละครเจ้าของเรื่อง Sword and Flower / The Emperor: Owner of the Mask / Café MINAMDANG และ Jaeeun Kim นักเขียนบทละครเจ้าของเรื่อง The Forbidden Legend / Iris / Bad Guy / Iris for Movie / R2B: Return to Base มาเป็นวิทยากรในหลักสูตรเข้มข้นเกี่ยวกับการสร้างสรรค์บทโทรทัศน์ และการสร้างแนวความคิดของการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ โดดเด่น จนได้รับการชื่นชอบติดตามจากผู้ชม เป็นเวลา 2 วัน โดยมีนักเขียนบทละครโทรทัศน์มืออาชีพของไทย เข้าร่วมการอบรม


การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักเขียนบทโทรทัศน์ในระดับมืออาชีพ ในฐานะผู้คิดสร้างสรรค์งานเล่าเรื่องให้มีทักษะสร้างสรรค์สื่อปลอดภัยและเหมาะสมกับบริบทของสังคม ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้การเล่าเรื่องและการเขียนบทละครโทรทัศน์ที่สามารถนำมาพัฒนาทักษะการออกแบบและการสร้างสรรค์สื่อที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมส่วนรวม นอกจากนี้ยังส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกระบวนการคิดและผลิตสื่อที่มีเนื้อหาปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้วยองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยุ่ ภูมิปัญญา สภาพปัญหา ตลอดจนอัตลักษณ์ท้องถิ่นอันนำไปสู่แนวทางการสร้างสรรค์เนื้อหา (Content) และการคิดโครงเรื่อง (Plot) และศิลปะของการเล่าเรื่อง (Storytelling) สำหรับผลิตเป็นบทละครโทรทัศน์ หรือสื่อในมิติอื่นๆ ที่แปลกใหม่และน่าสนใจต่อไปในอนาคต


ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า เราสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตในประเทศไทย ซึ่งมีหลายโครงการที่จะดำเนินการ สำหรับโครงการในวันนี้ตั้งเป้าผลิตนักเขียนหน้าใหม่ปีละ 25 คน และจะผลักดันให้เกิดผลงานจริงๆ ปีละ 5 คน และเพิ่มเป็น 10-15 คนไปเรื่อย ๆ เราต้องการให้คนสามารถทำสื่อเป็นอาชีพได้ มีการต่อยอดเป็นหนังสั้น เป็นต้น

“เกาหลีมีการวางพลอตเรื่องแบบเดายากมาก หักมุมแบบไม่น่าเชื่อ ซึ่งเขาเก่งมาก จริงๆ คนไทยก็ทำได้ แต่อาจต้องการทริคบางอย่าง ที่ต้องการการเรียนรู้จากต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ถือเป็นทางลัด ไม่สามารถก็อปปี้ได้แต่เรียนรู้ได้” ดร.ธนกร กล่าว


นายคฑาหัสต์ บุษปะเกศ นายกสมาคมนักเขียนบทโทรทัศน์ กล่าวว่า เราได้รับความอนุเคราะห์จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่จัดงบประมาณในการนำนักเขียนเกาหลีมาร่วมแบ่งปันเทคนิคให้กับนักเขียนไทยที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ เราให้ความสำคัญกับ soft power เพื่อให้ประเทศไทยที่จะพัฒนาไปสู่นานาชาติได้ ส่วนหนึ่งเราต้องศึกษาจากผู้ที่ประสบความสำเร็จคือ เกาหลี ซึ่งส่วนที่สำคัญที่สุดของเกาหลีคือ content ที่มีความโดดเด่นมาก

นายเทินพันธ์ แพนสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับประชาชน กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่นักเขียนบทไทยจะได้รับความรู้และเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อก้าวสู่นานาชาติมากขึ้น เป็นมิติที่จะทำให้เกิดการพัฒนาของคนในแวดวงสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะคนทำงานด้านละคร โดยเฉพาะบทหรือการเล่าเรื่อง นี่คือต้นทางที่จะทำให้งานออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ







กำลังโหลดความคิดเห็น