อะไรคือแนวคิดเบื้องหลังความสำเร็จ ของวัฒนธรรมและค่านิยมของ “เกาหลี” ที่ทำให้คนทั่วโลกหันมาสนใจ และ soft power แบบไทยๆ จะไปได้ไกลแค่ไหน “Someone...หนึ่งในหลาย” วันอาทิตย์นี้มีคำตอบให้
ทั้ง ๆ ที่เคยเป็นประเทศที่ไม่เคยมีบทบาทด้านวัฒนธรรมในเวทีโลกมาก่อน แต่หลายปีที่ผ่านมา “เกาหลีใต้” กลับพุ่งขึ้นมาเป็นเจ้าแห่งการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านสื่อบันเทิงหลากหลายรูปแบบจนเป็นที่ยอมรับ
สิ่งกระตุ้นให้ผู้คนเปิดรับและอยากทำความรู้จักเกาหลีใต้ อาจเป็นวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม หรือวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานความร่วมสมัย แต่กว่าจะเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก บ้านเขาได้ผ่านการต่อสู้มาไม่น้อย
การลุกฮือของนักศึกษาและประชาชนชาวเกาหลีใต้ในปี ค.ศ.1987 เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจากเผด็จการทหาร ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมครั้งสำคัญ ซึ่งภายหลังจากประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้ว คนรุ่นใหม่ “เจนเอ็กซ์” ที่มีแนวคิดที่ว่า “ฉันก็คือฉันแบบนี้” ได้พารสนิยมและทัศนคติของตัวเองเข้ามามีอิทธิพลต่อการสร้างภาพยนตร์ ละคร และเพลงอย่างมาก
การเล่าเรื่องราวแบบตรงไปตรงมา เพื่อจะสะท้อนด้านมืดของสังคม เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Parasite หรือ Squid Game จึงปรากฏให้เห็นไปทั่วโลก
การสร้างคอนเทนต์อย่างเสรี โดยมีรัฐบาลช่วยสนับสนุน ทำให้วัฒนธรรมเกาหลีได้รับความนิยมอย่างมาก จากข้อมูลอ้างอิงในปี พ.ศ. 2563 อุตสาหกรรมคอนเทนต์เกาหลีที่มาจากการสร้างสรรค์ทุนทางวัฒนธรรม สร้างรายได้ให้กับประเทศราว 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนรายได้ที่สูงกว่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยซ้ำ
การสร้างสรรค์เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เข้าถึงได้ง่าย ก็เป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้คนหลั่งไหลเข้ามาเพื่อตามรอย อย่างที่เมืองโพฮัง จะเห็นป้ายโปสเตอร์ของซีรีส์เรื่อง “โฮมทาวน์ ชะชะช่า” กระจายอยู่ทั่วเมือง สะท้อนให้เห็นถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่คึกคัก แม้ซีรีส์เรื่องนี้จะลาจอไปหลายปีแล้วก็ตาม
ขยับมาแวดวงเพลงที่เรียกว่า เคป็อป ก็ผสมผสานหลากองค์ประกอบทางวัฒนธรรม ทั้งการรวมจังหวะเพลงอาร์แอนด์บี และแร็ปจากฮิปฮอป หรือแม้แต่ควบรวมแนวเพลงทรอปิคัลเฮาส์เข้าด้วยกัน ผนวกกับการเต้นที่พร้องเพรียง การแต่งตัว ทรงผม ล้วนเชื่อมโยงได้อย่างลงตัว
หันมามองที่บ้านเรา ก็มีทุนทางวัฒนธรรมที่ทั่วโลกรู้จักดี ไม่ว่า มวยไทย อาหารไทย รำไทย การนวด ยาดม กางเกงช้าง ฯลฯ ล่าสุด ซีรีส์วายของเรายังเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง บางเรื่องมีการแปลไปมากกว่า 10 ภาษา รวมไปถึงยังครองใจสาวกชาวญี่ปุ่นที่ถือเป็นต้นแบบของเรื่องลักษณะนี้ด้วยซ้ำ
มองกลับอีกด้าน กระแสความนิยมของซีรีส์วายไทย สะท้อนให้เห็นว่าประเทศของเรายอมรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์บางอย่างให้แก่ประเทศ ที่ลึกซึ้งกว่าการนำเสนอเรื่องของชายรักชายไปแล้ว
ติดตามการตีโจทย์ของ soft power ที่มากกว่างานศิลปะ หรืออุตสาหกรรมบันเทิง ตอน “Soft Power พลังแฝงเร้นในความหลากหลาย” วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2566 เวลา 09.30 น. ทาง MCOT HD 30 ชมย้อนหลังทาง Facebook และ YouTube : สารคดี SOME ONE หนึ่งในหลาย