สกสว. วช. และ บพค. ในนามประเทศไทย ร่วมกับประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพจัดประชุม “สภาวิจัยโลกระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” ครั้งที่ 22 (2022 Global Research Council - Asia Pacific Regional Meeting) โดยมีผู้นำหน่วยงานให้ทุนวิจัยระดับโลกจาก 17 ประเทศเข้าประชุม เพื่อร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางการสนับสนุนทุนวิจัยโลก
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.65 - ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในการประชุม “สภาวิจัยโลกระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” ครั้งที่ 22 (2022 Global Research Council - Asia Pacific Regional Meeting) จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) พร้อมด้วยหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยรายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น Science and Technology Agency (JST) และ Japan Society for the Promotion of Science (JSPS) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 พ.ย. 65 ที่โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ กรุงเทพมหานคร
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก (รมว.อว.) กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม โดยกล่าวว่าการประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่เกิดขึ้นหลังจากการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการจัดประชุมนานาชาติในประเทศไทย โดยการประชุมเรื่องการวิจัยก็นับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะประเทศไทยประกาศจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ภายใน 15 ปีข้างหน้า กระทรวง อว. มุ่งสนับสนุนให้คนไทยทุกคนเป็นนักวิจัย ทั้งที่เป็นนักวิจัยมืออาชีพและนักวิจัยมือสมัครเล่น โดยใช้ประโยชน์จากการวิจัยในเรื่องต่างๆ ทั้งในทางวิชาการขั้นสูงและในวิถีชีวิตประจำวัน เหมือนที่ ตนเองได้ฝึกปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่นการวิจัยเรื่องการทำงานให้ดี ประสบความสำเร็จ
นอกจากนั้น รมว.อว.ยังกล่าวปาฐกถาแสดงความสำคัญของความเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลกระทบวงกว้างต่อสังคม โดยเน้นย้ำความสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สามารถโตได้ด้วยเศรษฐกิจสองขา ขาแรกคือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอีกขาคือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งทั้งสองขานี้จะนำพาให้ประเทศต่างๆ เจริญก้าวหน้าได้เมื่อเกิดการทำงานร่วมกันที่เป็นสหวิทยาการ ตัวอย่างเช่น งานวิจัยเรื่องดินแดนสุวรรณภูมิที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 2,500-3,000 ปี เป็นการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศขั้นสูง (LiDAR) เพื่อวิเคราะห์สภาพทางกายภาพของโบราณสถานที่ถูกปกคลุม มองด้วยตาเปล่า ไม่เห็น ถือเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของไทยว่าเราอยู่ในดินแดนที่เก่าแก่มาหลายพันปี มิได้อายุเพียง 700 ปีตามที่เคยรับรู้มาจากหนังสือเรียนทั่วไป
สภาวิจัยโลกเป็นการรวมตัวของหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยจากทั่วโลกที่ริเริ่มมาจาก US National Science Foundation (NSF) เมื่อปี พ.ศ.2555 ปีนี้ถือเป็นปีแรกในหน้าประวัติศาสตร์ที่หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยของประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุม “สภาวิจัยโลกระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” มีผู้นำจากหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยชั้นนำระดับโลกจาก 17 ประเทศ ได้แก่ กาตาร์ สาธารณรัฐเกาหลี ซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น ติมอร์-เลสเต ไทย นิวซีแลนด์ บราซิล ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ เวียดนาม ศรีลังกา อินโดนีเซีย อิหร่าน และอิตาลี เข้าร่วมประชุม โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเตรียมความพร้อมของหัวข้อและกรอบการประชุมสำหรับการประชุมประจำปีที่ผู้นำหน่วยงานให้ทุนจากทั่วโลกจะรวมตัวกันที่ประเทศเนเธอร์แลนด์กลางปีหน้า โดยเน้น 2 หัวข้อหลักได้แก่ 1.เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และ 2.เรื่องรางวัลและกระบวนการในการให้การยอมรับนักวิจัยที่มีบทบาทในการสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ (Reward and Recognition Mechanism for Researchers)
ขณะที่ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยได้มีการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาตั้งแต่ปี 2562 หรือประมาณ 3 ปีที่แล้ว โดยตอนนี้มีหน่วยบริหารและจัดการทุน 9 แห่ง ซึ่ง สกสว.เป็นผู้ประสานงานในระดับประเทศ และจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงาน ประเทศไทยได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนในด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG การประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วยหน่วยงานให้ทุนหลักด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมจากทั่วโลก ที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานร่วมกัน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดระหว่างหน่วยงานจัดหาเงินทุนทั่วโลก การประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของสภาวิจัยโลกได้กลายเป็นเวทีสำคัญสำหรับหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุนในการทำงานร่วมกัน เปิดโอกาสให้ร่วมอภิปรายถึงหัวข้อที่น่าสนใจร่วมกันและประเด็นที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาค ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ ข้อมูล และแนวคิด ที่จะชี้ให้เห็นทิศทางในอนาคตของการวิจัยและนวัตกรรมของภูมิภาค และความสามารถในการวิจัยนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่ต้องก้าวไปในทิศทางเดียวกัน
โดยในที่ประชุมในครั้งนี้ ประเทศไทยได้ยกตัวอย่างการทำงานของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการสนับสนุนที่เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียทุกระดับลงไปถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่ สร้างผู้ประกอบการในพื้นที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากกว่า 6,000 ราย สร้างรายได้กว่าสองร้อยล้านบาทให้แก่ชุมชนทั่วประเทศ โดยหวังว่าโมเดลการสนับสนุนทุนแบบสหวิทยาการที่ยึดโยงการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับนี้จะเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยทั่วโลกจะได้หยิบยกไปพิจารณา และขยายผลในที่ประชุมประจำปีสภาวิจัยโลกที่ประเทศเนเธอร์แลนด์กลางปีหน้าได้ และเห็นได้ชัดเจนว่าการเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุมครั้งนี้ของสกสว.พร้อมด้วย วช.และบพค. ตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพและบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก เป็นประโยชน์และโอกาสอันดีต่อระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่จะได้เรียนรู้จากประเทศสมาชิกรวมถึงได้แบ่งปันประสบการณ์ให้กับประเทศสมาชิกอื่นๆ วิธีการทำงานร่วมกันเช่นนี้ จะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาที่ประสบร่วมกันในระดับโลกได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการประชุมประจำปี GRC ครั้งที่ 11 ในปี 2023 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ต่อไป