หากจะหา "นักแสดง" บ้านเราสักคนหนึ่งที่สมควรกับการได้รับการยกย่องว่าเป็นนักแสดงระดับ "ชั้นครู" หรือเป็น "ตำนาน" แล้ว เชื่อได้เลยว่าชื่อของ "สรพงศ์ ชาตรี" จะต้องถูกรวมอยู่ในนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย
ไม่เพียงแต่หลากหลายบทบาทการแสดงที่เข้มข้นเท่านั้น หากแต่ชีวิตจริงของเขาก็เข้มข้นไม่แพ้กัน
"สรพงศ์ ชาตรี" เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ครอบครัวเป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่เดิมเจ้าตัวมีชื่อว่า "พิทยา เทียมเศวต" ส่วนชื่อจริงก่อนเสียชีวิตคือ "กรีพงศ์ เทียมเศวต" ขณะที่ชื่อเล่นก่อนเข้าวงการคือ "ชิ้น" ก่อนเปลี่ยนเป็น "เอก"
โดยหลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เจ้าตัวในวัย 8 ปีได้บวชเป็นเณรและทำให้เขาได้มีโอกาสรู้จักกับ "รุ่งเรือง ธรรมรักษ์" พี่ชายของเพื่อนสามเณรคนหนึ่งที่ทำงานเป็นคนควบคุมห้องอัดของสถานีวิทยุในรายการของ "พิศาล อัครเศรณี" จึงทำให้พอรู้จักกันบ้าง
หลังสึกออกมา ในวัย 19 ปี เขาตัดสินใจไปหาอีกฝ่ายเพื่อของานทำก่อนมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในกองถ่ายเรื่อง "นางไพรตานี" (พ.ศ. 2511) ในตำแหน่งเด็กยกร่มให้กล้องถ่ายหนังและเข้ากล้องแทนตัวประกอบ ซึ่งเจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ไว้ว่า...
“ตอนนั้นเขาถามว่าอยากไปเที่ยวกองถ่ายไหม เผื่อมีงานอะไรทำ พอไปถึงที่กองก็บอกว่าดีเลย ตอนนี้ไม่มีคนแบกร่ม ช่วงแรกผมก็คิดว่าแบกให้คนถ่ายหนัง เพราะฉะนั้นเวลาเขาวางกล้องเสร็จปุ๊บ แล้วไปทำธุระ ผมก็เลยถือร่มตาม ปรากฏว่า เขาหันกลับมาด่าผม บอกว่า เอาร่มมาทำไม แล้วกล้องใครจะดูแล สุดท้ายก็ถึงเข้าใจว่า กางร่มให้กล้อง เพราะฟิล์มมันร้อน คนไม่สำคัญ กล้องสำคัญกว่าคน”
ระหว่างทำงานเป็นเด็กยกของและตัวประกอบ "สรพงศ์" มีโอกาสรู้จักกับ "สุรพงศ์ โปร่งมณี" ซึ่งเป็นดีไซเนอร์ออกแบบเสื้อผ้าให้กับละโว้ภาพยนตร์และอัศวินภาพยนตร์ที่ได้พาเขาไปแนะนำตัวกับ "ท่านมุ้ย" ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ที่ตอนนั้นเพิ่งจะจบการศึกษามาจากเมืองนอกกำลังจะทำละครทีวีเรื่อง "ผู้หญิงก็มีหัวใจ" (2511)
โดย "สรพงศ์" ให้สัมภาษณ์เล่าถึงการเจอกับ "ท่านมุ้ย" ครั้งแรกไว้ว่า..."วันแรกที่เจอ ผมก็ไปซื้อไทด์ที่บางลำพูมาใส่ เสื้อขาวแขนยาว พอไปถึง ท่านมุ้ยก็ถาว่า มึงชื่ออะไร ผมก็บอกว่าชื่อเอกครับ ท่านก็ถามต่อว่ามึงอยากเล่นไหม ผมก็บอกเล่นได้ก็ดีครับ ท่านก็บอกว่าเดี๋ยวจะมีเด็กตกน้ำ มึงว่ายน้ำเป็นไหม"
"ผมก็บอกว่า เป็นครับ ผมเด็กอยุธยา แล้วท่านก็พูดต่อว่า เดี๋ยวกูบอกว่าโดด มึงโดดเลยนะ ผมก็โดดทันที ทั้งชุดนั้นเลย..."
ขณะที่ "ท่านมุ้ย" เองก็ได้ให้สัมภาษณ์หลังการเสียชีวิตของอีกฝ่ายถึงการพบ "สรพงศ์" ครั้งแรกว่า..."ตอนที่เขามาสมัคร เขาแต่งตัวเต็มที่ ผูกเนกไทด์ ใส่เสื้อนอก ผมก็เลยทดลองเขาโดยการบอกเขาว่าให้เขาอุ้มเด็ก ซึ่งก็คือ ตุ๊กตา จินดานุช และกระโดดข้ามท้องร่อง ซึ่งเขาทำได้ทันทีเลย ทั้งๆ ที่ตกอยู่ในน้ำ เสื้อสูทของเขานี่คือเปียกโชกไปหมดเลย ผมก็เลยเห็นแววเขามาตั้งแต่วันนั้น"
ด้วยความไม่เลือกบทและมุ่งมั่นที่แสดงออกมาจากการพบกันเพียงครั้งแรก ทำให้ "ท่านมุ้ย" ตัดสินใจส่งบทร้ายในละคร "ผู้หญิงก็มีหัวใจ" ให้กับเขาและตัดสินใจที่จะผลักดันให้เป็นนักแสดงชื่อดัง
ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2512 - พ.ศ. 1513 "สรพงศ์" มีงานแสดงเป็นตัวประกอบอยู่บ้างแบบโผล่มากฉากสองฉากในภาพยนตร์เรื่อง "สอยดาว สาวเดือน", "ต้อยติ่ง" และ "ฟ้าคะนอง"
กระทั่งปีพ.ศ. 2514 หนึ่งปีหลังการเสียชีวิตของ "มิตร ชัยบัญชา" พระเอกคนดังแห่งยุค "ท่านมุ้ย" ที่ได้หันมาทำหนังเรื่องแรก "มันมากับความมืด" จึงมอบบทบาทพระเอกหนังเต็มตัวให้กับ "สรพงศ์" เป็นครั้งแรก แทนที่ "ไชยา สุริยัน" ที่ไม่สามารถมาแสดงได้ โดยประกบคู่กับนางเอกดังสมัยนั้นอย่าง "นัยนา ชีวานันท์"
อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นด้วยแนวหนังที่ค่อนข้างจะแปลกใหม่ในยุคนั้นทำให้ "มันมากับความมืด" เจ๊งสนิท ขณะที่ตัวของ "สรพงศ์" เองก็ถูกวิจารณ์ไม่น้อยถึงความ "ไม่หล่อ" พอที่จะเป็นพระเอก ทั้งจมูกที่โตและผิวพรรณที่ดำกร้าน แต่กระนั้น "ท่านมุ้ย" เองก็ไม่สนใจ ยืนยันจะปั้นเขาให้โด่งดังให้ได้
สองปีต่อมา "สรพงศ์" กลับมารับบทพระเอกให้ "ท่านมุ้ย" อีกครั้งในหนังเรื่อง "เขาชื่อกานต์" คราวนี้หนังประสบความสำเร็จได้รับคำชมเป็นอย่างมาก ขณะที่ตัวของ "สรพงศ์" เองก็ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลตุ๊กตาทอง ซึ่งแม้จะไม่ได้รับรางวัลดังกล่าวแต่ก็ทำให้เจ้าตัวเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และกลายเป็นหนึ่งในพระเอกตัวเลือกอันดับต้นๆ ของคนทำหนังในยุคนั้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สิ่งหนึ่งที่ทำ "สรพงศ์" มีความโดดเด่นและแตกต่างไปจากพระเอกในยุคเดียวกันนอกจากจะเล่นบทบู๊ในหนังล้างผลาญประเภทระเบิดภูเขาเผากระท่อมแล้วก็เห็นจะเป็นความสามารถในการแสดงของเขาที่สามารถรับบทได้หลากหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็น ชาวนา คนถีบสามล้อ คนขับแท็กซี่ ตำรวจ ทหาร ลิเก หมอ พระ ครู คนบ้า ขอทาน คนพิการ เรื่อยไปแม้กระทั่ง สัตว์ประหลาด มนุษย์หมาป่า ฯลฯ
เฉพาะอย่างยิ่งบทดรามาเข้มข้นที่ดูเหมือนว่าเจ้าตัวจะทำได้ดีมากๆ ซึ่งในบรรดาผลงานภาพยนตร์เฉียด 600 เรื่องของเขา หากยกเอาผลงานเด่นๆ ที่เป็นที่ประทับใจของใครหลายๆ คนแล้ว ก็น่าจะเป็นที่ยืนยันถึงความสามารถของเขาในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
ไม่ว่าจะเป็นบท "ครูทม" จากหนังเรื่อง "ชีวิตบัดซบ" ในปี 2519 ฝีมือการกำกัยของ "เพิ่มพล เชยอรุณ" หรือจะเป็น "ไอ้ขวัญ" ในภาพยนตร์เรื่อง "แผลเก่า" ของ "เชิด ทรงศรี" ที่ทำเอาหลายคนต้องหลั่งน้ำตาคาโรง พร้อมส่งให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนังไทยทำเงินอันดับ 1 ของปี 2520 รวมทั้งยังคว้ารางวัลกรังด์ปรีซ์จากการประกวดภาพยนตร์ในงาน Festival des 3 Continents ประเทศฝรั่งเศส ในอีก 4 ปีต่อมาด้วยอีกต่างหาก
ยังมีบท "ชายปริศน"า จาก "เมืองในหมอก" ปี 2521 และ "สหายแกว่น" จาก" ไผ่แดง" ปี 2522 และที่หลายๆ คนน่าจะจดจำได้ดีก็เห็นจะเป็นบท "จ่าสมหมาย" จาก "มือปืน" ในปี 2526
รวมถึงบทของ "ทองพูน โคกโพ" ใน "อิสรภาพของทองพูน โคกโพ" (2527) ซึ่งเป็นภาคต่อ "ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น" ที่เจ้าตัวก็ทำได้ดีมากๆ แม้จะเป็นการเล่นแทน "จตุพล ภูอภิรมย์" ก็ตาม
โดย "ท่านมุ้ย" เองก็ได้พูดถึงนักแสดงคู่บุญที่จากไปว่า..."เขาเป็นคนที่กล้าได้กล้าเสีย อย่างสมัยโน้นทุกคนไว้ผมยาว ผมให้เขามาเล่นเป็นหมอกานต์ สิ่งแรกที่ทำจับตัดผม มันเป็นสิ่งที่สมัยโน้นเขาไม่ทำกัน เขาต้องไว้ผมยาว ใส่กางเกงขาบาน แต่ว่าสรพงศ์เขายอมตัด"
"ตัดผมออกมาหน้าเขาเปลี่ยน จากเด็กวัยรุ่นไว้ผมยาวกลายเป็นหมอกานต์ ผมสั้นแล้วแสดงได้สมบทบาทมาก เรามองสรพงศ์ในฐานะที่เขามีความตั้งใจ มีความพยายามสูงมาก..."