“อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย” ผนึกกำลังรัฐ เอกชน เตรียมจัดงาน “ฟู้ด อินกรีเดียนท์ เอเชีย (Fi Asia)” หรือ “งานแสดงสินค้าและนวัตกรรมส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มแห่งเอเชียในรูปแบบออนไลน์” ระหว่างวันที่ 9 – 22 กันยายน นี้ รองรับผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ ชูจุดเด่นงานสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ด้านนวัตกรรมอาหารจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกกว่า 200 ราย พร้อมชี้เทรนด์ธุรกิจอาหาร แนะผู้ประกอบการสร้างนวัตกรรมสู้ศึกโควิด-19
“รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์” ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ-ภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า “งาน Fi Asia ถือเป็นงานใหญ่ระดับอาเซียน และมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทั่วทั้งภูมิภาค ได้รับความสนใจจากองค์กรด้านอาหารชั้นนำมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 25 ปี ที่ผ่านมามีการขยายตัวของผู้เข้าชมงานและยอดธุรกรรมที่สูงขึ้นกว่าปีละ 25 % และในปีนี้จะมีการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ โดยมีผู้ร่วมจัดแสดงสินค้าส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มผ่านงานแสดงสินค้าออนไลน์มากกว่า 200 บริษัทจาก 31 ประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตผลการเกษตรสู่ส่วนผสมอาหาร รวมไปถึงช่วยสนับสนุนการเติบโตของตลาดอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ในประเทศไทย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เองที่จะช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย และสร้างการเติบโตของตลาดธุรกิจอาหารไทยอย่างต่อเนื่อง
โดยภายในงานจะมีการนำเสนอนวัตกรรมที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการสายอาหารและเครื่องดื่มมากมาย โดยเฉพาะ”
โดย 8 เทรนด์อาหาร Post-Covid จากงานฟู้ด อินกรีเดียนท์ เอเชีย ออนไลน์ คือ
1. Protein New normal รูปแบบใหม่ของโปรตีน : วงการอาหารทั่วโลกกำลังให้ความสนใจโปรตีนทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนจากแมลง จากถั่ว ธัญพืช และสาหร่าย การตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์ และปัญหาด้าน Food Security โดยในประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่าตลาดโปรตีนทางเลือกในไทย ที่มีมูลค่ากว่า 3.62 หมื่นล้านบาท ในปี 2564 และมีโอกาสขยับไปสู่ 5,000 ล้านบาทได้ภายในปี 2567
2. Lab-grown food อาหารจากห้องแล็บ : Lab-grown food หรือ Cultured Food เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าสนใจเพราะอาหารเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากการเพาะเลี้ยงเซลล์เล็กๆ ในห้องแล็บ และพัฒนาขึ้นมาเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารได้เลยโดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการธรรมชาติ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้
3. Upcycle Food สร้างมูลค่าจากขยะอาหารด้วยการอัพเกรด + รีไซเคิล : ความยั่งยืนที่เกิดจากการจัดการขยะ ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยจะนำเอาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านมาตรฐาน เช่น ผลไม้ช้ำ ผลไม้ที่ใกล้จะเสียมานำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ โดยมีรายงานจาก Future Market ว่าตลาดอาหารอัพไซเคิลมีมูลค่าถึง 46.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตประจำปีอยู่ที่ร้อยละ 5 ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า
4. Food Traceability ทุกอย่างที่กินต้องตรวจสอบได้ : ผลมาจากการระบาดของ Covid-19 เพราะผู้บริโภคมองหาความปลอดภัยจากอาหารมากยิ่งขึ้น การตรวจสอบอาหารย้อนกลับ หรือ Food Traceability ประกอบด้วย 2 ปัจจัย คือ 1. Tracing การสำรวจประวัติทั้งหมดของห่วงโซ่อาหาร ถือเป็นการมองย้อนหลังไปยังที่มาของวัตถุดิบ 2. Tracking คือการปักหมุดของแต่ละสินค้าว่าผ่านที่ใดมาบ้างตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงจุดจำหน่าย
5. Cloud Kitchen มีครัวแต่ไม่ต้องเห็นครัว : ธุรกิจ Food Delivery คือเทรนด์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในบ้านเราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ร้านอาหารไม่จำเป็นต้องเปิดสาขาใหม่ โดยสิ่งที่ต้องทำคือการส่งพนักงานไปที่ Cloud Kitchen เท่านั้น เพราะพื้นที่ครัวเช่านี้จะมีพื้นที่ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นอย่างครบถ้วน
6. Rising of Food Tourism การท่องเที่ยวสายกิน : หลังสถานการณ์การระบาดของโควิดคลี่คลาย ดีมานด์ความต้องการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก และอาหารจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการออกท่องเที่ยว ผลสำรวจระบุว่า นักท่องเที่ยวกว่า 53% เลือกสถานที่ท่องเที่ยวจากอาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่หลากหลายและมีความเฉพาะถิ่นมากยิ่งขึ้น
7. Blurring line between the Drugstore and Grocery เส้นแบ่งที่จางลงของร้านยาและซุปเปอร์มาร์เก็ตส์ : Innova Market Insights พบว่าผู้บริโภคทั่วโลก 6 ใน 10 คนสนใจอาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน อาหารจึงไม่เพียงต้องตอบโจทย์ในเรื่องความอิ่มท้อง หากแต่ต้องดีต่อสุขภาพ ในอนาคตอันใกล้เราจะได้เห็น โพรไบโอติกส์ วิตามินซี สมุนไพร และสารพัดส่วนผสมเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน กลายเป็นส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มที่จำหน่ายอยู่ในร้านค้าปลีก ไม่เว้นแม้แต่ขนมขบเคี้ยว
8. Well-Mental Eating กินแล้วดีต่อใจ : นอกจากจะให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและภูมิคุ้มกันแล้วผู้บริโภคยังให้ความสำคัญและตระหนักถึงสุขภาพจิตที่ดีด้วย โอกาสทางธุรกิจของกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้ ส่วนใหญ่มักเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใส่สารเสริมที่ช่วยลดความเสียหายจากอนุมูลอิสระและการอักเสบของสมอง หรือ การกินเพื่อช่วยส่งเสริมการทำงานของสารสื่อประสาท ทำให้การทำงานดีขึ้น
สำหรับรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบออนไลน์ ผู้เข้าชมงานสามารถค้นหาสินค้าและผู้ประกอบการที่สนใจได้อย่างง่ายได้จากการใช้เทคโนโลยี AI ในการแนะนำสินค้าหรือผู้จัดแสดงสินค้าที่คาดว่าตรงกับความต้องการ รวมถึงการนัดหมายเจรจาธุรกิจล่วงหน้า และฟังก์ชันการพูดคุยผ่าน video conference หรือช่อง chat เพื่อสร้างความสะดวกสบาย ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้า Fi Asia Online Event ได้ตั้งแต่วันที่ 9-22 กันยายน 2564 ผ่านทาง www.fiasia.com/thailand