xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” เร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาอุตฯ แปรรูปอาหาร ดันไทยเป็นศูนย์กลางอาหารอนาคตแห่งอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงอุตสาหกรรมเผยคืบหน้าแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) พร้อมเร่งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก มั่นใจปี 2564 ส่งออกอาหารแปรรูปจะมีมูลค่ากว่า 1.05 ล้านล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 7 ก.ย. กระทรวงฯ ได้รายงานความคืบหน้าแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะ ที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) ที่เป็นแกนหลักร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการผลักดันอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของไทย โดยในปี 2564 คาดว่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยจะมีมูลค่ากว่า 1.05 ล้านล้านบาท และแผนระยะยาวมุ่งเน้นที่จะขับเคลื่อนมาตรการ “4 สร้าง” ได้แก่ 1. สร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors) 2. สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต 3. สร้างโอกาสทางธุรกิจ และ 4. สร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม ในการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางอาหารอนาคตแห่งอาเซียน

สำหรับ 4 สร้าง ได้แก่ 1. สร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่โดยการอบรม ให้คำปรึกษาเชิงลึก รวม 899 กิจการ หรือ 8,512 ราย และ 43 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป/อาหารแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มสูง รวม 224 ผลิตภัณฑ์ พัฒนาอบรมเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) 12,210 ราย วิจัยและนวัตกรรมสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารให้มีการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก 566 ราย

สร้างที่ 2 การสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ภายใต้โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ได้มีการจัดทำ Future Food Lab เพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมอาหาร และผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหาร โดยมีระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูล Food Innopolis Service Platform อย่างน้อย 8 แพลตฟอร์ม ฯลฯ

สร้างที่ 3 สร้างโอกาสทางธุรกิจ ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงพาณิชย์ร่วมจัดงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้ชื่องาน THAIFEX - ANUGA ASIA 2020 “The Hybrid Edition” ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 22-26 กันยายน 2563 

 ส่วนการสร้างที่ 4 การสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารทั้งในส่วนของมาตรฐานสินค้าและมาตรฐานวิธีทดสอบ รวม 22 เรื่อง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจัดทำโครงการการจัดการผลิตอ้อยแปลงใหญ่เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพอ้อย โดยใช้เทคโนโลยี Smart farming ณ ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร มีเกษตรกรเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 40 ราย บนพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5,000 ไร่ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น