xs
xsm
sm
md
lg

“วงการซีรีส์วาย” เงินหาย 2 พันล้านเพราะโควิด! ยันไม่ซบเซา อีก 5 ปียังโตได้ในต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ซีรีส์วาย” ยังได้ไปต่อ! แม้โควิดจะดับฝันสาววาย “แนนซี่” เอเจนซี่ทำหน้าที่พานักแสดงไทยสู่ต่างแดน ยืนยันว่าซีร์สวายเมืองไทยยังไงก็ถูกจริตชาวต่างชาติ ยอมรับ 2 ปีทำให้ไทยขาดรายได้เข้าประเทศกว่า 2 พันล้าน แต่ไม่ถึงกับซบเซา ยังโตได้เรื่อยๆ ต่อไป

แม้ช่วงนี้ช่องยักษ์ใหญ่อาจจะไม่เอาละครใหม่มาออนแอร์ เพราะเสี่ยงต่อกระแสความนิยมในสถานการณ์ที่ทุกคนกำลังเครียดกับวิกฤตโควิด รายได้เม็ดเงินจากโฆษณาอาจจะได้ไม่ถึงเป้าอย่างที่ตั้งเอาไว้ แต่ตัดภาพมาที่วงการซีรีส์วาย ไม่ว่าโควิดจะมากี่ระลอก “ซีรีส์วาย” ก็ไม่มีวันตาย ย้อนไปเมื่อต้นปี 64 รวบรวมได้กว่า 36 เรื่องซึ่งมีคิวออนแอร์ในปีนี้ และอาจจะถึงต้นปีหน้า บางเรื่องอาจจะถ่ายทำไม่ทันหรือเปิดกล้องไม่ได้ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามกฎล็อกดาวน์

โดย MGR Online ได้พูดคุยกับ “แนนซี่ ชลลดา ทรงลำเจียก” ผู้บริหารสาวสวยจาก ไทรครีเอชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล Tri Creation International หนึ่งในผู้จัดซีรีส์วาย My Engineer ที่กำลังประสบปัญหาเช่นกัน จนต้องเลื่อนกำหนดเปิดกล้อง Bitter Sweet the series กับ My Engineer ภาค 2 ไปอย่างไม่มีกำหนด พร้อมบอกว่าตอนนี้ลูกค้าถอนสปอนเซอร์ไปแล้วกว่า 6 ล้านบาท

รวมไปถึงอีกบทบาทหน้าที่นึงของ “แนนซี่” คือการนำนักแสดงไทย ไม่ว่าจะ “ไมค์ พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล” หรือ “บี้ เคพีเอ็น” ธรรศภาคย์ ชี ไปดังไกลในจีนมาแล้ว ก็ยังเล่าให้ฟังว่าตลอด 2 ปีที่เกิดวิกฤตโควิด ทำให้วงการซีรีส์วายเม็ดเงินหายไปกว่า 2 พันล้านบาท แต่ก็ยังไม่ถึงกับซบเซาซะทีเดียว เพราะบางเรื่องก็สามารถฝ่าโควิดดังมาได้ พร้อมยืนยันว่าอุตสาหกรรมซีรีส์วายของไทยยังดังไกลไปถึงต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 5 ปี เพียงแต่ต้องได้รับการพัฒนาและการสนับสนุนอย่างจริงจัง ถึงจะสู้เกาหลีและไต้หวันได้ เพราะเสน่ห์ของซีรีส์วายไทยก็ยังมัดใจชาวต่างชาติ พิสูจน์ได้จากหลายคู่จากหลายเรื่องยังอยู่ในอันดับต้นๆ

“ตอนนี้ทั้ง Bitter Sweet the series กับ My Engineer ภาค2 จริงๆ แล้วมันถูกเลื่อนมาหลายรอบแล้วค่ะ มันเริ่มจาก Bitter Sweet ก่อนคือ My Engineer ทีแรกมันถูกเลื่อนมาเพราะว่าเรื่องบทก่อน ทีแรกยังไม่ได้เกี่ยวกับโควิด เพราะว่าเราขอเวลาทำบท แต่พอมาเจอโควิดก็เลยเลื่อนเป็นตุลาคม แต่ตอนนี้มันยังวางไว้ที่ตุลาคมอยู่ที่จะเปิดกล้อง แต่ว่าดูแล้วก็ต้องติดตามสถานการณ์ แต่ Bitter Sweet ถูกเลื่อนมาตั้งแต่ธันวาคมปีที่แล้ว มี 8 ตอน แต่ว่าเรื่องนี้มันเกี่ยวกับโรงแรม มันเลยมีปัญหาเกี่ยวกับโลเกชั่น เพราะว่าโรงแรมเขาไม่อนุมัติให้เราเข้าไปถ่ายด้วย ก็เลยเกิดจากดีเลย์ตรงนั้น

ซึ่งตอนนี้ถ้าบอกว่าผลกระทบที่ได้รับ หนึ่งคือเด็กไม่ได้มีผลงานอะไรออกมาประมาณปีนึงแล้ว เพราะว่าทีแรกมีโปรเจ็กต์อยู่เรื่อยๆ แต่พอเจอโควิด เปิดกองไม่ได้ ผลงานจึงมีแค่ My Engineer ภาค 1 ที่ยังหล่อเลี้ยงเด็กๆ อยู่ แต่ My Engineer ก็ออนแอร์ตอนโควิดระบาดรอบแรกเล เราออนแอร์อีพีแรกพร้อมกับล็อกดาวน์อาทิตย์แรกเลย เราไม่ได้ไปเจอแฟนคลับอย่างที่เราอยากเจอแบบใกล้ชิดมาก คือมันจะมีแค่ไม่กี่งานที่พอเจอได้ ซึ่งนอกนั้นก็คือถูกจำกัดไว้หมดเลย แล้วก็มีผลกระทบตรงที่แฟนมีตต่างประเทศก็ยกเลิกหมดเลย เพราะบินไม่ได้แล้ว ซึ่งเขาก็เกิดมาพร้อมๆ กับโควิด เขาก็มีกลัวๆ มีเสียใจ ถามเราว่ามันจะโอเคไหม เขาจะลืมเราไหม เขายังจำพวกเราได้ไหม เราก็ได้แต่ปลอบใจ เพราะเราตอบไม่ได้จริงๆ เราได้แต่หล่อเลี้ยงไป เราจะสู้ไปด้วยกันเพราะว่าสถานการณ์ตอนนี้คือเราควบคุมอะไรไม่ได้เลย”

ภาคแรกลงทุน 15 ล้านไร้กำไร เหมือนเอาเงินละลายแม่น้ำ ล่าสุดสปอนเซอร์ถอนเงินคืน 6 ล้านยันไม่ยุบโปรเจ็กต์
“เพราะอย่าง My Engineer ภาค 1 คือลงทุนไป 15 ล้านคือละลายแม่น้ำไปเลย ไม่ได้อะไรกลับคืนมา นอกจากเราได้แฟนคลับที่น่ารักมาช่วยซัปพอร์ตให้กำลังใจเรา นอกจากเราจะถ่ายทำไม่ได้แล้ว มันก็ยังกระทบไปถึงโปรดักชั่นต่างๆ อีกด้วย ซึ่งผู้จัดย่อยทั้งหลาย ทุกคนน่าจะลำบากพอสมควร เพราะทุกคนมีโปรเจ็กต์ของตัวเองที่เปิดไม่ได้ค่อนข้างเยอะ แล้วก็พวกเราหล่อเลี้ยงด้วยเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ พอเราถ่ายไม่ได้แล้ว สปอนเซอร์เขาก็เริ่มถอนกัน เขาเริ่มไม่กล้าลงทุนต่อ เพราะมันไม่มีจุดหมายปลายทางเลยว่ามันจะเป็นยังไงต่อไป ตอนนี้คือการถ่ายทำก็เสี่ยงหมด เพราะอย่างโปรเจ็กต์ของเรา ลูกค้าก็ถอนไปแล้ว 6 ล้าน และคือ Bitter Sweet the series เราตั้งไว้ 8 ตอนก็ตีตัวเลขไปเลยตอนละ 1 ล้านบาท ส่วน My Engineer 2 ก็วางงบไปเลยต่อเรื่องก็ 15 ล้าน และเศรษฐกิจแบบนี้ มันไม่ง่ายเลยที่จะหาคนมาร่วมลงเงิน 15 ล้าน

ส่วนแผนสองนั้น คือตอนนี้ที่เราเตรียมไว้จริงๆ เราก็จะมีไลฟ์สดต่างๆ ให้เด็ก เพื่อประคับประคองให้อยู่กับแฟนคลับไปเรื่อยๆ ก่อน แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันต้องดันด้วยซีรีส์อยู่ดี ซึ่งตอนนี้ก็คือมันทำอะไรไม่ได้จริงๆ เพราะว่าเปิดกองทีนึง มันก็ต้องมีคนทำงานไม่ต่ำกว่า 70 คนอยู่แล้ว แล้วเราเป็นบริษัทเล็กและถ้าเราจะต้องตรวจโควิดทุกวัน ถ้าเราจะเปิดกองวันละ 70 คนหัวละประมาณพันนึง มันเป็นค่าใช้จ่ายเกือบแสน มันเป็นค่าใช้จ่ายที่หนักมาก ซึ่งโรคระบาดอันนี้เข้าใจมากเลยค่ะคือไม่ได้ว่าเราโดนคนเดียว เราโดนหมดเพราะว่าในวงการ ก็รู้จักกันหมด ก็นั่งคุยกันก็ให้กำลังใจว่าสู้ๆ กันนะ

ซึ่งพูดตรงๆ ว่าโควิด เราก็เข้าใจเพราะเป็นอะไรที่ควบคุมไม่ได้ คนติดก็ไม่ได้ผิด ส่วนตอนนี้เราก็ช่วยดูแลเด็กๆ กันไป ซึ่งเขาก็พยายามดูแลตัวเองกัน แล้วคนไหนที่ไม่มี บริษัทก็พยายามซัปพอร์ต เราดูแลเหมือนเป็นพี่น้องกัน เราไม่สามารถบอกว่าเขาไม่ทำเงินแล้วเราก็ไม่ได้ ก็คือมันพูดแบบนั้นไม่ได้ มันต้องอยู่ด้วยกัน ในเมื่อมันอยู่ด้วยกันแล้ว มันต้องดูแลกันไม่ใช่ดูแลแค่ยามมันแฮปปี้ได้เงิน ซึ่งถามว่ารายได้เด็กเข้ามาได้เยอะไหม ก็ไม่ได้เยอะมากหรอก แต่เด็กเขาไม่ได้เป็นเด็กที่ฟุ่มเฟือย เขาก็ดูแลตัวเองกันได้ เพราะเราก็รู้ว่าให้เขาไปสู้แย่งพรีเซ็นเตอร์ อาจจะยาก แต่ว่างานทุกชิ้นที่ให้มา น้องทุกคนตั้งใจทำหมดและตั้งใจทำให้ดีที่สุดหมดเลย”

“อุตสาหกรรมซีรีส์วาย” ยังได้ไปต่อ เพราะเสน่ห์ที่มัดใจชาวต่างชาติคือ “ละมุน-น่ารัก-เป็นธรรมชาติ”
“คือวงการวายยังจะบูมอยู่ไหม แนนว่าวงการวายมันยังไปได้อย่างต่ำอีก 5 ปีนะคะ เพราะตอนนี้มันขึ้นมา แต่เราแค่กลัวว่าไทยจะไปตีตลาดต่างประเทศได้ไหมแค่นั้นเอง เพราะจากที่เราเป็นผู้นำวาย แต่ตอนนี้มันมีทั้งเกาหลีสร้างเอง ไต้หวันสร้างเอง เขาได้รับแรงสนับสนุนค่อนข้างเยอะมากกว่าที่ไทยได้รับ เพราะเขาได้รับการสนับสนุนในโปรดักชั่นทั้งหลาย เราแค่ห่วงว่าเราจะยังสามารถเป็นแนวหน้าได้หรือเปล่าแค่นั้นเอง แต่ก็อยู่ที่ว่าความตั้งใจของคน ถ้ามันหมดโควิดแล้วผลงานที่มันออกมา มันดี มันได้ เราก็ว่ามันก็ยังโอเคอยู่”

เพราะเสน่ห์ซีรีส์วายของคนไทยมีความละมุน มีความอ่อนโยนและการที่ตัวเราได้ทำงานกับหลายๆ ประเทศ ได้ทำงานกับทางจีน เขาจะบอกเลยว่าเสน่ห์ของละครไทย ซีรีส์ไทย มีทั้งตลกทั้งเศร้า คือละมุนไปหมดเลยค่ะ แล้วฉากที่มันน่ารัก ส่วนมากมันจากความธรรมชาติของนักแสดง นักแสดงคือดี ครบทั้งหน้าตา ทั้งความน่ารัก ส่วนการแสดงก็เล่นได้ดีในระดับนึงเลย เขาเลยบอกว่ามันมีความละมุน เพราะเด็กของเราก่อนจะได้เล่นซีรีส์ ส่วนมากก่อนถ่ายทำจะมีการเวิร์กช็อปก่อน ซึ่งบางประเทศเขาอาจจะไม่มีตรงนี้ มันเลยทำให้นักแสดงไทยมีความเคมีที่เข้ากัน พอวายออกมา มันสื่อถึงความละมุนมากกว่าที่จะสื่อไปมุมดาร์ก ของไทยเราจะมีความน่ารักใสๆ ดูแล้วจะยิ้มตาม อันนี้คือเสน่ห์ของซีรีส์วายของไทยที่ต่างประเทศยังตามจุดนี้เราไม่ได้แต่ต่างประเทศจุดแข็งคือแสงและมุมกล้อง”

ยอมรับโควิดทำให้ทุกอย่างสะดุด แต่ยังมีบางคู่ที่สามารถดังทะลุวิกฤต เอาเงินเข้าประเทศได้
“ซึ่งอุตสาหกรรมซีรีส์วาย เอาไปขายเมืองนอกแล้ว คือโดยรวมวายจะเอาเงินเข้าประเทศเยอะมากเลยนะค่ะ คนอื่นอาจจะมองว่าเป็นเฉพาะกลุ่มหรือคนดูกลุ่มเล็กๆ แต่เป็นเฉพาะกลุ่มที่ได้กลุ่มเป้าหมาย ได้แบรนด์เดอร์ทั้งหมด คือตรงจุด ตรงใจ ตรงประเด็น เพราะฉะนั้นอย่างถ้าต้องเปรียบเทียบอย่างละคร คนอาจจะชอบดู แต่ไม่ได้ชอบตามขนาดนั้นใช่ไหมค่ะ แต่ว่าวงการวายหรือสังคมของวาย คือถ้าเขาชอบ เขารักคู่ไหน เขาจะตามแบบสุดๆ

ฉะนั้นมันจะคล้ายๆ กับเกาหลี ที่เขาจะซื้อ หรือเขาจะซัปพอร์ตทุกอย่างอะไรที่ ทางผู้ผลิตโปรดิวซ์ออกมาหมด เราจัดแฟนมีต เขาก็เหมาะหมด มันเลยเป็นเม็ดเงินที่จริงๆ มาจากต่างประเทศ เข้ามาสู่ประเทศเราค่อนข้างสูงมาก ปีๆ นึงเกือบๆ พันล้านเลยนะ เพราะมันไม่ได้มีเรื่องเดียวหรือว่าคู่เดียว มันมีหลายคู่หลายเรื่อง และนอกจากแฟนมีตก็จะมีวันเกิด จัดมีตติ้งออนไลน์ พรีเซ็นเตอร์ต่างประเทศและช่วงโควิดก็มีซีรีส์วายเกือบๆ 36 เรื่อง ซึ่งเกือบ 10 กว่าเรื่องที่คนพูดถึงมาก ซึ่งในแต่ละเรื่องก็มีหลายคู่ ก็จะมีแฟนคลับกระจัดกระจาย สมมติถ้าไปแฟนมีตคู่ละ 5 ประเทศ ทุกอย่างมันก็คือตัวเงินเนอะ แล้วถ้ามีการขายของแต่ละคู่หรือแต่ละเรื่องอีก เม็ดเงินมันจะสูงมาก

อย่างตอนนี้มันเกิดสถานการณ์โควิดทำให้แฟนๆ กับคู่วายห่างกัน และแม้จะมีช่องทางกันติดต่อทางออนไลน์ก็ตาม แต่มันก็ข้อจำกัดต่างๆ กลายเป็นว่ามันทำให้เหมือนเขา (แฟนคลับ)ได้ไม่สุด เหมือนเราโปรดิวซ์ไม่ได้เต็มที่ แต่มันก็เลยทำให้แฟนคลับก็ได้ตามอยู่ แต่ประสิทธิภาพในการได้เม็ดเงินก็ได้ชะลอและลดน้อยลงเยอะ มันขายไม่ได้เท่าเมื่อก่อน

แต่ถามว่าทำเงินอยู่ไหม ก็ยังทำเงินอยู่ค่ะ เพราะพิสูจน์ในคู่อื่นๆ ว่าอย่างปีที่แล้ว คั่นกูประสบความสำเร็จมาก ถึงอยู่ในโควิด แต่ก็ยังประสบความสำเร็จทะลุไปประเทศอื่นเลย บวกกับเขาเป็นองค์กรใหญ่มันเลยมีความพร้อมในตรงนี้มากกว่า เพราะส่วนมาก บริษัทผลิตซีรีส์วาย มักจะเป็นองค์กรแบบโปรดักชั่นที่รับผลิตแบบอิสระมากกว่า ซึ่งอย่างที่ซีรีส์ของเราอย่าง ‘My Engineer มีช็อป มีเกียร์ มีเมียรึยังวะ’ ก็เจอโจทย์ใหญ่ในช่วงนั้นที่ต้องออนแอร์ในช่วงเวลาเดียวกับซีรีส์วายเรื่องอื่น บวกกับแพลตฟอร์มที่เพิ่งมาใหม่ แถมต้องจ่ายตังค์ดูด้วย มันเลยมีข้อจำกัดเยอะ แต่เรายังได้มีพื้นที่ยืนตรงนั้นขึ้นมาบ้าง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

ซึ่งถามว่ากลัวอาถรรพ์ภาค 2 ไหม กลัวค่ะ (หัวเราะ) ไม่มีผู้จัดคนไหน ไม่กลัวหรอกค่ะ เพราะทุกภาค 2 จะมีปัญหา ถึงได้บอกว่าเรากลัว เราเลยพยายามขอเวลานั่งทำบทให้ดี เราจะทำได้ในความลิมิตของเรา ถ้ามันจะแป้กก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะว่ามันก็ต้องทำออกมาในเนื้อเรื่องของมันจริงๆ ตอนนี้บทมันยังรับไม่จบ ซึ่งแนนเชื่อว่าไม่มีผู้จัดคนไหนที่จะไม่กลัว ไม่มั่นใจ อันนี้กลัวมาก แต่ก็พยายามระวังให้มากที่สุด อุดรูรั่วที่ว่ามันอาจจะมีสิทธิทำให้มันน่าเบื่อได้ มันเซ็งได้อะไรอย่างนี้”