เพราะจังหวัดภูเก็ตไม่ได้มีแค่ชายหาดและเกาะแก่งสวยงามตามแบบฉบับทะเลอันดามันเท่านั้น ภูเก็ตยังมีเทศกาลสำคัญระดับประเทศ ระดับภูมิภาคเอเชียที่อยากชวนให้คุณมาสัมผัส เรียนรู้กันในช่วงวันที่ 1 ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน เพื่อที่จะได้ซึมซับ รับประสบการณ์ที่มีมิติวัฒนธรรมอันลุ่มลึก แตกต่างจากที่ใดๆในโลกในช่วงเวลานี้ของทุกปี
งานเทศกาลถือศีลกินผัก หรือ จังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2563 งานบุญถือศีลกินเจ ตลอด 9 วัน ระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) ซึ่งจัดขึ้นไปเมื่อวันที่ 17–25 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยความพิเศษในปีนี้เป็นการจัดงานในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ตามมาตรการหลักที่ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ก็ยังคงรักษาไว้ซึ่งประเพณีสำคัญไว้อย่างครบถ้วน
แม้จะมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่ตลอด 9 วัน งานประเพณีถือศีลกินผักที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและเอเชียแห่งนี้ยังคงคึกคัก และเต็มไปด้วยแรงศรัทธาของผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย สัญลักษณ์ของป้าย และธงสีเหลืองที่โบกสะบัดไปทั่ว พร้อมกับผู้คนที่นุ่งชุดขาวเพื่อเตือนตนเองให้ละกิเลส และระลึกถึงการถือศีลทำความดี การเข้าร่วมพิธีกรรมต่างๆ เพื่อเสริมบุญบารมี ณ ศาลเจ้าจีน หรืออ๊ามต่างๆ ที่ยังคงดึงดูดผู้คนทั่วทุกสารทิศเข้ามา
“เจี๊ยะฉ่าย” ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า "กินผัก" เป็นงานพิธีซึ่งชาวภูเก็ตปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลากว่าร้อยปี เพื่อบวงสรวงเทพเจ้า กิ้วอ๋องไต่เต่ (องค์เก้าราชัน) และยกอ๋องซ่งเต่ ช่วงเวลาดังกล่าวนอกจากจะเป็นช่วงเวลาของการรักษาศีลและกินผักแล้ว ยังมีพิธีกรรมสำคัญอื่นๆ อาทิ พิธีเอี๊ยวเก้ง (พิธีแห่พระ), พิธีโกยโห๊ย (พิธีลุยไฟ) และพิธีโกยห่าน (พิธีสะเดาะเคราะห์) ฯลฯ
นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า เป้าหมายหลักของที่เส็บมุ่งนำเสนอจุดหมายปลายทางเทศกาล กิจกรรมไมซ์ใหม่ๆ และเพิ่มพื้นที่ หรือ ความน่าสนใจใหม่ๆ ผ่านการจัดกิจกรรม หรือ เทศกาลอันเป็นอัตตลักษณ์ที่พร้อมชูศักยภาพ “MICE City” ด้วยการยกระดับงานเด่นในแต่ละเมืองไมซ์ซิตี้
โดยเทศกาลถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นหนึ่งใน Flagship Event ที่สำคัญ และเป็นเทศกาลที่ชาวไทยรู้จักกันมากที่สุดเทศกาลหนึ่ง ประกอบกับข้อได้เปรียบของภูเก็ต ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงประชุมที่รู้จักกันมายาวนาน ทีเส็บจึงมีเป้าหมายในการยกระดับงานประเพณีท้องถิ่นนี้ให้เป็นงานเทศกาลระดับนานาชาติ เหมือนงานเทศกาลนานาชาติระดับโลกงานอื่นๆ และขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่ม NEW WORLD TRAVELERS หรือนักเดินทางรุ่นใหม่ โดยตลอด 9 วัน ผู้เข้าร่วมงาน จะได้สัมผัสประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากที่ไหนกับหนึ่งในงานประเพณีเทศกาลถือศีลกินผักที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและของเอเชีย พร้อมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมของชาวภูเก็ต ที่ทรงคุณค่าที่พร้อมบอกเล่าเรื่องราวให้กับทั้งคนไทย และคนทั่วโลกได้มาสัมผัสด้วยตนเอง
สำหรับผู้ที่มาร่วมงานเทศกาลถือศีลกินผัก ตลอดทั้ง 9 วันของประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต จะมีพิธีกรรมต่างๆ มากมาย ให้ผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายได้เข้าร่วม เริ่มจากการกางแผนที่ปักหมุดที่อ๊าม หรือศาลเจ้าต่างๆ ที่ร่วมพิธี เพื่อไป ไหว้เทพเจ้าขอพร โดยชาวภูเก็ตจะเรียกศาลเจ้าว่า อ๊าม มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน โดยอ๊ามที่ถือเป็นแหล่งบุกเบิกการจัดงานถือศีลกินผักในจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย อ๊ามกะทู้ อ๊ามจุ้ยตุ่ย และอ๊ามบางเหนียว สำหรับ “อ๊ามกะทู้” เป็นศาลเจ้าเก่าแก่นับ 100 ปี ทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ต ภายในมีรูปปั้นเทพเจ้าต่างๆ และที่สำคัญคือ รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของชาวบ้าน เช่นเดียวกับ “อ๊ามบางเหนียว” ศาลเจ้าเก่าแก่ และเป็นที่เลื่อมใสของคนภูเก็ตเป็นอย่างมาก รวมถึง อ๊ามจุ้ยตุ่ย ศาลเจ้าขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีการประกอบพิธีแห่พระรอบเมืองที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาศาลเจ้าทั้งหมดกว่า 30 แห่งของจังหวัดภูเก็ตในปีนี้
อีกหนึ่งในพิธีสำคัญที่สุดที่ผู้คนต่างเข้าร่วมเพื่อความเป็นสิริมงคล คือ พิธียกเสาโกเต้ง ที่หน้าอ๊ามแต่ละอ๊าม ในค่ำคืนแรกของการเข้าเจ โดยแขวนตะเกียงน้ำ 9 ดวงซึ่งอัญเชิญดวงวิญญาณของยกอ๋องฮ่องเต้ (พระอิศวร) และกิ๋วอ๋องไตเต (ราชาผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้า) ซึ่งต้องจุดไว้ตลอดทั้ง 9 วัน จนกว่าพิธีจะเสร็จสิ้น โดยในวันดังกล่าวจะมีบรรดาประชาชน และผู้มีจิตศรัทธาจำนวนมาก มาร่วมกันกันอัญเชิญ “เสาโกเต้ง” ลำต้นไม้ไผ่ที่มีความสูงเทียบตึกกว่า 10 ชั้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาล
นอกจากนี้ ยังมีพิธีที่ถือเป็นไฮไลท์ คือ พิธีอิ้วเก้ง หรือพิธีแห่พระรอบเมือง ซึ่งจัดขึ้นทุกวันที่ 2 ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 โดยตลอดทั้ง 8 วัน แต่ละอ๊ามจะหมุนเวียนกันส่งขบวนแห่ออกมาในช่วงเช้า ในขบวนมีธงและป้ายชื่อแห่นำหน้า ตามด้วยเกี้ยวหามรูปพระเรียกว่า ‘ไทเป่ย’ หรือเสลี่ยงเล็ก โดยหามรูปพระบูชาต่างๆ ออกนั่งเกี้ยว จากนั้นเป็นขบวนของนิ่วสิ่ว (ฉัตรจีน) ตามด้วยพระเกี้ยวใหญ่หรือตั่วเหลี่ยน (เสลี่ยงใหญ่) เป็นที่ประทับของกิ้วอ๋องไตเต โดยขณะที่ขบวนแห่ผ่านไป ชาวบ้านจะตั้งโต๊ะบูชาหน้าบ้าน และจุดประทัดต้อนรับขบวนเพื่อรอรับพร
อีกกิจกรรมที่ผู้ร่วมเทศกาลห้ามพลาดคือ “เจี๊ยะฉ่าย” หรือกินผัก ที่โรงครัวของอ๊ามต่างๆ ที่จัดพิธีถือศีลกินผัก ซึ่งจะมีการปรุงอาหารที่ถูกต้องตามหลักการคือไม่มีเนื้อสัตว์ และผลผลิตใดๆ จากสัตว์ รวมถึงผักฉุน 5 ชนิด ตลอดจนกรรมวิธีการปรุงทั้งหมดต้องบริสุทธิ์ เพื่อแจกจ่ายฟรีให้กับผู้ที่มารับประทานในศาลเจ้าและรับกลับบ้าน ตลอดทั้ง 9 วันแต่ละอ๊ามจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คน ด้วยเชื่อว่าอาหารที่ปรุงจากโรงครัวของอ๊าม เป็นอาหารบริสุทธิ์ และเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
นอกเหนือจากการรับประทานอาหารของโรงครัว ประชาชนและนักท่องเที่ยว มักนิยมมาเดินจับจ่ายซื้ออาหารที่มีการตั้งร้านขายตามบริเวณโดยรอบอ๊ามต่างๆ บริเวณที่รู้จักกันดีคือหน้า “อ๊ามจุ้ยตุ่ย” ซึ่งตั้งอยู่ในซอยภูธร ถือเป็นศูนย์รวมของคนไทยเชื้อสายจีน และนักท่องเที่ยวในช่วงประเพณีถือศีลกินผักของทุกปี โดยเฉพาะบริเวณถนนระนอง ที่จะคลาคล่ำไปด้วยร้านจำหน่ายอาหารเจหลากชนิด กับรสชาติที่หาไม่ได้จากที่ไหน
ก่อนกลับหรือช่วงเวลาว่าง อย่าลืมเยี่ยมชมสถานที่สำคัญๆ ของจังหวัดภูเก็ต ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ บรรดาพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่รวบรวมเรื่องราวของเทศกาลถือศีลกินผัก ข้อมูลความรู้และวัตถุโบราณต่างๆ ของอ๊าม ตลอดจนความหมายของพิธีกรรม ซึ่งจะทำให้ซึมซับถึงแรงศรัทธาของผู้คนที่มีต่อเทศกาลถือศีลกินผัก ที่สืบทอดมายาวนานกว่า 190 ปี
เทศกาลนี้เหมาะกับทุกคนที่ต้องการสัมผัสความพิเศษของวัฒนธรรมที่แตกต่างและไม่เหมือนใคร และมีแห่งเดียวในโลก ที่พร้อมให้ทุกคนได้มาสัมผัส ณ เมืองภูเก็ต เมืองศูนย์กลางไมซ์ของเอเชียไข่มุกอันดามันแห่งนี้