สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA พร้อมเดินหน้าผลักดันการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกมิติยกระดับสังคมไทยสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยจับมือกับพันธมิตรสำคัญ ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และ คณะทำงานกำหนดมาตรฐานการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) จัดงาน “แถลงข่าวนำร่องการให้บริการ Digital Transcript” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเดินหน้าใช้ Digital Transcript เข้ามาตอบโจทย์สำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน อำนวยความสะดวกให้นิสิต/นักศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ลดขั้นตอนการรับสมัครเข้าทำงาน หรือรับสมัครเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องเสียเวลาในการตรวจสอบ Transcript ในรูปแบบกระดาษ ซึ่งถือเป็นปัญหาและความยุ่งยาก (Pain Point) และมีค่าใช้จ่ายในการจัดทำและจัดเก็บเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบกระดาษโดยเฉพาะการทำสำเนาเอกสารซ้ำหลายครั้ง ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นการตอกย้ำการยกระดับการศึกษาไทยเข้าสู่ยุค Digital Transformation อย่างเป็นรูปธรรม
ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานและการให้บริการนิสิตนักศึกษา ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ และยินดีสนับสนุนส่งเสริมโครงการ Digital Transcript อย่างเต็มที่ สำหรับเป้าหมายของโครงการ Digital Transcript เบื้องต้นอยากให้มหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมนำร่องให้บริการให้ได้ภายในสิ้นปีการศึกษา 2563 คือ นิสิตนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษานี้จะได้รับ Transcript ในรูปแบบดิจิทัลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสมัครงานหรือเรียนต่อได้ทันที และคาดหวังว่าจะสามารถขยายโครงการนี้ไปยังมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่สังกัดกระทรวงอื่นๆ ในอนาคต
ด้าน ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) เปิดเผยว่า “โครงการ Digital Transcript ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการรวมพลังผลักดันการศึกษาไทยก้าวสู่ยุค Digital Transformation อย่างเต็มรูปแบบ สามารถช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างมาก เช่น สำหรับนิสิต/นักศึกษา จะสามารถเข้าถึง Digital Transcript ของตนเองได้ผ่านช่องทางดิจิทัล ทุกที่ ทุกเวลา ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังสถานศึกษาเพื่อขอ Transcript ฉบับใหม่หรือค่าใช้จ่ายในการรับเอกสารทางไปรษณีย์ ด้านหน่วยงานที่ต้องใช้ Transcript ทั้งภาครัฐและเอกชน ก็จะลดภาระและขั้นตอนในการตรวจสอบความถูกต้องจริงแท้ (Authenticity) ของเอกสารสำคัญทางการศึกษาได้ และมีความเชื่อมั่นได้ว่า Digital Transcript ที่มี Digital Signature เป็นเอกสารจริงที่ออกโดยมหาวิทยาลัย และไม่ถูกปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ โดยสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเอกสารด้วยตนเองเพียงใช้ซอฟต์แวร์พื้นฐาน และสถาบันอุดมศึกษาที่ออก Digital Transcript จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจัดทำและจัดเก็บเอกสารรูปแบบกระดาษลงได้ในระยะยาว”
DGA ในฐานะหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลได้ตระหนักถึงประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับ จึงได้เร่งเดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อนำร่องโครงการ Digital Transcript เปลี่ยนแปลงรูปแบบการออกเอกสารจากรูปแบบกระดาษเป็นรูปแบบดิจิทัลที่มีลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) สนับสนุนการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดและประกาศมาตรฐานข้อมูลสำหรับการจัดทำ Digital Transcript เพื่อใช้แลกเปลี่ยนเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานผ่านระบบดิจิทัล
โครงการ Digital Transcript นอกจากอำนวยความสะดวกแก่นิสิต/นักศึกษา และประชาชน ช่วยป้องกันการปลอมแปลงวุฒิการศึกษา และลดภาระของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเอกสารสำคัญทางการศึกษาแล้ว ยังนับเป็นการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลครั้งสำคัญของประเทศอีกด้วย ทั้งการปรับเปลี่ยนวิธีคิด (mindset) ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม (culture) และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (behaviour) ของสังคมให้ยอมรับและคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้าง ตรวจสอบ และใช้งานเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัลหรือ Digital Transcript ได้อย่างครบวงจร ซึ่งจะกลายเป็นต้นแบบ หรือ Model สำหรับการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลในประเด็นหรือมิติอื่น ๆ ของภาครัฐต่อไป”
นางสาววิริยา เนตรน้อย ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการขั้นตอนการให้บริการของหน่วยงานของรัฐเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การผลักดันการตราพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 การผลักดันให้หน่วยงานของรัฐยกเลิกการเรียกรับสำเนาเอกสารราชการจากประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการในรูปแบบดิจิทัลโดยมุ่งเน้นเอกสารที่มีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนและผู้ประกอบการ เช่น ใบอนุมัติ ใบอนุญาต ใบรับรองต่าง ๆ ซึ่ง Digital Transcript ของมหาวิทยาลัยอยู่ในกลุ่มนี้ นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันให้มีการจัดทำเอกสารอื่น ๆ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เช่น บัตรต่าง ๆ ของทางราชการ ใบเสร็จรับเงินของหน่วยงานของรัฐ ใบมอบอำนาจ รวมทั้งใบรับรองแพทย์ จนถึงปัจจุบันมีเอกสารของหน่วยงานของรัฐจำนวน 61 เอกสารที่เป็นรูปแบบดิจิทัลที่เป็นไปตามมาตรฐานเรียบร้อยแล้ว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะผลักอีกอย่างน้อย 80 เอกสารให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่เป็นไปตามมาตรฐาน เมื่อทุกหน่วยงานสามารถออกเอกสารหลักฐานในรูปแบบดิจิทัลได้สำเร็จ นอกเหนือจากผู้ประกอบการที่จะได้ประโยชน์ในการตรวจสอบเอกสารได้อย่างสะดวกรวดเร็วแล้ว หน่วยงานของรัฐที่ต้องรับคนเข้าทำงานจะได้รับประโยชน์อย่างมากเช่นเดียวกัน ในส่วนของมหาวิทยาลัย ทางสำนักงาน ก.พ.ร. มุ่งหวังว่านอกจากจะออก Digital Transcript แล้ว อยากให้เอกสารประเภทอื่นปรับเป็นเอกสารดิจิทัลด้วย เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การผลักดันให้ภาครัฐเกิดการทำงานในรูปแบบ Digitization เปลี่ยนผ่านการให้บริการและการออกเอกสารสำคัญต่าง ๆจากแอนะล็อก เป็นดิจิทัล ETDA ได้เดินหน้าขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องโดยร่วมกับ คณะทำงานกำหนดมาตรฐานและแนวทางการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำและประกาศใช้ ข้อเสนอแนะมาตรฐาน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยข้อความอิเล็กทรอนิกส์สำหรับใบประมวลผลการศึกษา (Message Standard for Academic Transcript) เลขที่ ขมธอ.25-2563 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 ที่ผ่านมาเพื่อให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ใช้เป็นมาตรฐานแนวทางในการจัดทำใบประมวลผลการศึกษาในรูปแบบดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมและสอดคล้อง กับกฎระเบียบของแต่ละสถาบัน อำนวยความสะดวกแก่ นิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไปที่สำเร็จการศึกษาแล้ว รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สามารถเข้าถึงและตรวจสอบเอกสารสำคัญทางการศึกษาได้โดยง่าย รวดเร็ว และได้รับเอกสารในรูปแบบดิจิทัลที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล
สำหรับความสำคัญของมาตรฐานนี้ ได้มีการกำหนดโครงสร้างข้อมูลของข้อความอิเล็กทรอนิกส์ของใบประมวลผลทางการศึกษา เพื่อให้สถาบันการศึกษาใช้เป็นมาตรฐานแนวทางในการจัดทำข้อมูลในใบประมวลผลการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีโครงสร้างข้อมูลในรูปแบบ Message Package ที่มีให้เลือกใช้งานหลากหลายไฟล์ ผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้งานได้ ตามที่ ETDA กำหนด
การมี Digital Transcript นับเป็นส่วนหนึ่งของการนำมาตรฐานไปสู่การปฏิบัติ ภายใต้ Digital Standard Landscape ที่ ETDA หวังให้เป็นทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องมีแพลตฟอร์มและ e-Service ภายใต้มาตรฐาน กฎเกณฑ์ ที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการ เพื่อร่วมกัน Go Digital ขับเคลื่อนประเทศ เศรษฐกิจและสังคมด้วยดิจิทัลไปพร้อมกันกับ ETDA
ผศ. ดร. ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะทำงานกำหนดมาตรฐานการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล กล่าวว่า คณะทำงานฯ ได้ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการจัดทำ Digital Transcript โดยมี สพธอ. เป็นหน่วยงานสำคัญในการจัดทำและประกาศมาตรฐานดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสถาบันต่าง ๆ ผ่านระบบดิจิทัล ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมจะเริ่มนำร่องให้บริการ Digital Transcript ในปีการศึกษา 2563 นี้ และจะร่วมกันขยายผลไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในอนาคตต่อไป
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เกี่ยวกับ : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เรียกโดยย่อว่า “สพร.” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Digital Government Development Agency (Public Organization)” หรือ “DGA” เป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) เป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของระบบรัฐบาลดิจิทัล ทำหน้าที่ในการให้บริการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นเกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล สามารถติดตามและอัปเดตข้อมูลข่าวสารรัฐบาลดิจิทัล ได้ที่เว็บไซต์ www.dga.or.th และโซเชียลมีเดีย : DGA Thailand ทุกช่องทาง หรือ โทร. 0-2612-6000