xs
xsm
sm
md
lg

กสศ. เดินหน้ามอบทุน "นวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี64" รุ่นที่ 3

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสศ. เดินหน้า "ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี64" รุ่นที่ 3 เชิญชวนสถานศึกษาสายอาชีพร่วมค้นหาเด็ก พร้อมปั้นสถานศึกษาสายอาชีพต้นแบบและพัฒนาหลักสูตรรองรับนักศึกษาทุนจบแล้วมีงานทำ เน้นกลุ่มสายอาชีพ-นวัตกรรมใหม่ ผุดหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล รองรับสังคมสูงวัย ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและยกระดับการศึกษาสายอาชีพ เพิ่มโอกาสเด็กยากจน เรียนดี ได้เข้าถึงการศึกษา 2,500 คนต่อปี

นางปัทมา วีระวานิช อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยภายหลังจัดการประชุมชี้แจงโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2564 จัดขึ้นโดยกสศ. มีคณะผู้บริหาร ครู อาจารย์ จากสถานศึกษาสายอาชีพ (สถานศึกษาอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสถานศึกษาอื่นๆ ทั้งรัฐและเอกชน) เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ ZOOM ออนไลน์ และออฟไลน์ จำนวนกว่า 123 แห่งทั่วประเทศ เพื่อร่วมฟังแนวทางการทำงานและเงื่อนไขในการค้นหาคัดกรองนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงในปี 2564 เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2563 ที่อิมแพคเมืองทองธานี ว่า จากการทำงานร่วมกันระหว่าง สอศ.และกสศ. มาตลอด 2 ปี ได้เห็นคุณภาพของโครงการที่เสนอเข้ามา มีการปรับกระบวนการเพื่อให้คุณภาพของโครงการมีความชัดเจนและส่งผลถึงผลผลิตมากขึ้น โดยโฟกัสที่ตัวนักศึกษาที่จะจบไปอย่างมีคุณภาพ ตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งทุนจากกสศ.จะมาช่วยดูแลนักศึกษาที่ขาดโอกาส เพราะประเทศไทยยังมีปัญหาความยากจน แม้ว่ารัฐบาลพยายามแก้ปัญหาทำให้ปัญหาความจนดีขึ้น แต่บางพื้นที่ที่มีค่าเฉลี่ยความจนดีขึ้นแล้วอาจยังมีคนที่จนจริงๆ ซุกซ่อนอยู่ก็ได้ ดังนั้นทางที่ดีต้องดูที่ลูกศิษย์ว่าคนไหนที่ขาดโอกาสจริงๆ แล้วคัดกรองมาให้ได้และเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะร่วมกันภายใต้กระบวนการที่ กสศ.รวมไว้ก็จะถือว่าเป็นประโยชน์กับผู้ขาดโอกาสมากที่สุด


น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ปัจจุบันกสศ. ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง MOU กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อดำเนินโครงการฯร่วมกันกับสถานศึกษาในสังกัดที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการระยะเวลา 12 ปี โดยตั้งเป้าดูแลนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจนจบ 5 รุ่น เน้นที่นักเรียนมัธยมศึกษา ม.3 ม.6 ปวช. หรือเทียบเท่า ที่มีความยากจน 20% ล่างสุดของประเทศ เนื่องจากข้อมูลประเทศไทยมีเด็กเกิดปีละ 7 แสนคน ในจำนวนนี้พบว่ามี 20% เป็นคนที่จนที่สุดของประเทศ และในจำนวนนี้ มีเพียง 5% หรือประมาณ 8,000 คน ที่มีโอกาสเรียนสูงกว่าระดับม.6 ดังนั้นโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จึงมุ่งส่งเสริมการศึกษาต่อที่เน้นในสายอาชีพที่สำคัญของประเทศที่มีความต้องการกำลังคน โดยจะมอบทุนจำนวน 2,500 ทุนต่อปี ซึ่งนอกจากการสร้างโอกาสให้เด็กยากจนแล้ว ทุนนี้ยังสนับสนุนทุนให้แก่สถานศึกษาที่ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเรื่องการยกระดับระบบการศึกษาสายอาชีพ เกิดเป็นต้นแบบและประเทศจะเข้มแข็งจากการที่มีกำลังคนในสายอาชีพเพิ่มขึ้น

น.ส.ธันว์ธิดา กล่าวว่า สำหรับการขอรับทุนโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2564 มี 2 แบบ คือ 1.ทุน 5 ปี
เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน ม.3 ได้เรียนปวช. ต่อเนื่องปวส. และ 2.เป็นทุน 1-2 ปี เพื่อส่งเสริมนักเรียนม.6 หรือปวช.หรือเทียบเท่า ได้เรียนต่อระดับปวส. หรืออนุปริญญา หรือหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 1 ปี ทั้งนี้สถาบันการศึกษาสามารถเลือกแบบใดแบบหนึ่งได้หรือจะเสนอมาทั้ง 2 แบบก็ได้ อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติของสถานศึกษาที่สามารถส่งโครงการเข้ามานั้นมี 4 ส่วนสำคัญ
คือ 1.เป็นสถานศึกษาที่มีการเปิดสอนระดับปวช. ปวส. และหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลทั่วประเทศ 2.มีความพร้อมและสนใจอยากทำงานเรื่องนี้กับกสศ.จริงๆ มีผู้บริหารโครงการ คณะทำงานที่ชัดเจนสามารถดูแลนักศึกษาทุนได้จนจบหลักสูตร
3.เป็นสถานศึกษาที่ทำงานกับสถานประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรม มีการบูรณาการการเรียนรู้การทำงานนำไปสู่การพัฒนาความรู้และทักษะการทำงานให้แก่นักศึกษา และ 4.ถ้าเป็นสถานศึกษาที่มีโครงการผลิตบุคลากรให้กับผู้ประกอบการตามมาตรฐาน และมีการประกันการมีงานทำของผู้ได้รับทุน จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ สำหรับการยื่นข้อเสนอโครงการสถานศึกษาสายอาชีพต้องยื่นผ่านระบบออนไลน์ทาง https://eefinnovet.com/ ได้ตั้งแต่วันนี้ – 21 ธันวาคม 2563

“โครงการฯ นี้เราต้องการพัฒนาให้เกิดรูปแบบสร้างโอกาสและการจัดการศึกษาสายอาชีพที่มีประสิทธิภาพ (Model) พัฒนาให้สถานศึกษาเป็นสถานศึกษาต้นแบบ และมีการพัฒนาหลักสูตรเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบการศึกษาสายอาชีพของประเทศ อย่างโครงการที่ทำมาแล้ว 2 ปี มี 66 สถาบัน ใน 40 จังหวัด เข้าร่วมมีนักศึกษายากจนที่ได้รับทุนกว่า 4,700 คน โดยมีภูมิลำเนามาจาก 74 จังหวัดทั่วประเทศ และจะเป็นคนแรกของครอบครัวที่เรียนสูงกว่า ม. 6 และด้านหลักสูตรพบว่ามีหลักสูตรใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล เกษตรนวัตกรรม ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ในปีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนสายสุขภาพที่มีความต้องการ และรองรับสังคมผู้สูงวัย ได้เปิดรับหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลด้วย ในส่วนคุณสมบัตินักเรียนทุน ต้องมี 2 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส 2. มีศักยภาพในการเรียนจนจบโดยพิจารณาจากเกรดเฉลี่ยสะสม 3.00 ขึ้นไป หรือมีความสามารถพิเศษการสร้างสรรค์นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ในสาขาที่เปิดรับ โดยนักเรียนที่สนใจสามารถเข้าไปแสดงความจำนงสมัครได้ที่เว็บไซต์ของ กสศ. ซึ่งเมื่อการพิจารณาคัดเลือกสถานศึกษาสายอาชีพที่จะเข้าร่วมโครงการ แล้ว กสศ. จะแจ้งรายชื่อสถานศึกษาและสาขาที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกให้แก่นักเรียนผู้สมัคร และส่งรายชื่อผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ให้สถานศึกษาข้างต้นพิจารณาและเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกนักศึกษาทุนต่อไป โดยถือเป็นอีกช่องทางการสมัครให้นักเรียนเพิ่มเติม นอกจากนี้ กสศ. อยู่ระหว่างการพัฒนาความร่วมมือกับทางผู้ประกอบการเอกชนต่างๆซึ่งอาจจะมีทุนการศึกษาอื่นๆรองรับเพิ่มเติมได้ด้วย” น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว




ดร.ปานเพชร ชินินทร อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ.กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการนี้ คืออยากให้เด็กมีงานทำจริงๆ ซึ่งย้ำว่าต้องเป็นบริษัทหรือสถานผู้ประกอบการที่มีการทำงานกับสถานศึกษาในรูปแบบ WIL เต็มรูปแบบ โดยเน้น 3 สาขา ได้แก่ 1. เป็นสาขาเป้าหมายหลักของการพัฒนาประเทศ 2. สาขาขาดแคลนในท้องถิ่นนั้นๆ3. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดิจิตอล ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ,กลุ่มท่องเที่ยวรายได้ดี การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพและการแปรรูป หุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ เทคโนโลยีดิจิตอลและอุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น ส่วนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลต้องได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาลก่อน ทั้งนี้สถานศึกษา 1 แห่งสามารถเสนอได้ไม่เกิน 5 สาขาจำนวนนักเรียนจะต้องเสนอไม่ต่ำกว่า 30 คนแต่ไม่เกิน 150 คน

ขณะที่ นายนพพร สุวรรณรุจิ อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ. กล่าวว่า
แนวทางการพิจารณาจะมีหลักการอยู่ 6 ข้อ คือ 1.ความเชื่อมั่นว่าสถานศึกษามีความพร้อมมีความเหมาะสมจริง 2.การแนะแนว การประชาสัมพันธ์ทุนเชิงรุกให้กับสถานศึกษาที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย 3.วิธีการค้นหา คัดเลือกนักเรียนมารับทุนที่มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ 4.สถานศึกษาพร้อมพัฒนาดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของผู้รับทุนให้สามารถเรียนจบตามกำหนดเวลาได้หรือไม่ 5.มีความพร้อมความเต็มใจที่จะพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนให้ดีกว่าเดิมหรือไม่ และ 6.การส่งเสริมโอกาสการมีงานทำของผู้ที่จะจบการศึกษา ส่วนสถานศึกษาสายอาชีพ (สถานศึกษาอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสถานศึกษาอื่นๆ ทั้งรัฐและเอกชน) สามารถศึกษาประกาศทุน ได้ที่เว็บไซด์ กสศ. www.EEF.or.th และยื่นข้อเสนอโครงการผ่านระบบออนไลน์ทาง https://eefinnovet.com/ ได้ตั้งแต่วันนี้ – 21 ธันวาคม 2563


กำลังโหลดความคิดเห็น