ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ข่าวโควิดเริ่มหนัก แต่งานที่เราเตรียมไว้ล่วงหน้าที่จะจัดช่วงกลางเดือนมีนาคม Certified Exhibition Management (CEM) โดยความร่วมมือจากสมาคมการแสดงสินค้าและอีเวนต์นานาชาติ ในสหรัฐอเมริกา (International Association of Exhibitions and Events – IAEE) วิทยากรเตรียมบินมาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดงานแสดงสินค้าและอีเวนต์อย่างมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ต้องชะลอการตัดสินใจว่าจะบินมาได้หรือไม่อย่างไรจะต่อเครื่องที่ประเทศอะไรที่มีความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าน้อยที่สุด เป็นการตัดสินใจยากมากว่างานจะ GO หรือ NO GO สุดท้ายเป็นความท้าทายมากที่ต้องตอบว่า GO และตัดสินใจปรับเปลี่ยนการจัดงานโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เรียน โดยนำแนวปฏิบัติที่ศึกษาจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขมาเป็นแนวทางในการแจ้งผู้เข้าเรียนว่าสถานที่พร้อม วิทยากรพร้อม แล้วคุณพร้อมที่จะมาเรียนหรือไม่ ความโชคดีคือทุกคนพร้อมและปฏิบัติตามกฎระเบียบมาตรการต่างๆ ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี ประเทศไทยได้รับความชื่นชมว่าเป็นประเทศแรกที่จัด CEM ในยุคโควิด-19 ประสบผลสำเร็จและยังครองแชมป์อยู่ในลำดับ 3 ที่มีจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดงานแสดงสินค้าและอีเวนต์ติดต่อกันมา 4 ปี
ที่มาของมาตรการผ่อนปรนของอุตสาหกรรมไมซ์
คำว่า “LOCKDOWN” ประกาศขึ้นในประเทศไทยเพื่อป้องกันควบคุมการแพร่เชื้อโรคระบาดไวรัสโคโรน่า อุตสาหกรรมไมซ์เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงไม่มีการการจัดกิจกรรมและงานใด ๆ ไม่มีนักธุรกิจเดินทางเข้ามาในประเทศ เหมือนเข็มนาฬิกาหยุดเดิน อุตสาหกรรมไมซ์อยู่ในกลุ่มกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง คือ สีแดง ที่มีผู้คนแออัดจำนวนมาก (ที่มา: หลักการพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) หรือ ศบค.) ความอยู่รอดจะเดินหน้าอย่างไร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. โดย ผู้อำนวยการ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการฯ เพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์ มาตรการและแนวทางด้านสาธารณสุขในการเตรียมความพร้อมการดำเนินการสถานประกอบกิจการด้านการท่องเที่ยว กีฬา และไมซ์ ในสถานการณ์โควิด – 19 ร่วมกับภาคเอกชนและกระทรวงสาธารณสุข โดยมอบหมายให้รองผู้อำนวยการ นางศุภวรรณ ตรีระรัตน์ และผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ นางอรชร ว่องพรรณงาม ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเร่งสร้างความเข้าใจและจัดทำมาตรการแนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE Hygiene Guidelines) สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเปิดกิจการผ่อนปรนมาตรการและป้องกันการแพร่ระบาด กลุ่มกิจกรรมไมซ์เพื่อสร้างความเข้าใจ มั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงาน ด้านความปลอดภัยตามข้อกำหนดของกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขและบริบทด้านมาตรการสาธารสุขระดับนานาชาติให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาจัดกิจกรรมด้านไมซ์เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศต่อไป จนกระทั่งได้รับการผลปรนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ศบค. ได้ประกาศคู่มือการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 สำหรับประเภทกิจการและกิจกรรมกลุ่มที่ 4 หรือ "การผ่อนปรนระยะ 4" ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมไมซ์ได้รับการผ่อนปรนในกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต โดยคิดเกณฑ์ตามขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตรต่อคน รวมทั้งพิจารณาเพิ่มพื้นที่ทางเดิน (walk way) ให้มีสัดส่วนมากขึ้น
ทุกครั้งที่มีวิกฤติก็ยังมีโอกาสอยู่เสมอด้วยความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะพันธมิตรหลักของอุตสาหกรรมไมซ์ สมาคมส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ (ไทย) สมาคมการแสดงสินค้าไทย และสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน ได้พัฒนาคู่มือ MICE Hygiene Guideline สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์พร้อมนำใช้ในการเปิดกิจการและจัดกิจกรรม
ศักยภาพของอุตสาหกรรมไมซ์พร้อมเดินหน้าเพื่อเศรษฐกิจไทย ตัวเลขช่วง 3 เดือน LOCKDOWN ทำให้อุตสาหกรรมไมซ์ทั้งตลาดในและต่างประเทศ เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจกล่าวคือ เกิดค่าใช้จ่ายจากการจัดกิจกรรมไมซ์ (Expenditure) รวมมูลค่ากว่า 165,823 ล้านบาท (-70.38%*) ก่อให้เกิดเป็นรายได้ประชาชาติ (GDP Contribution) รวมมูลค่า 162,976.01 ล้านบาท (-70.37%*) การจัดเก็บภาษี 11,590 ล้านบาท (-70.36%) และอัตราการจ้างงานลดลง 70.39% จำนวน 95,314 อัตรา ลดลงทุกมิติประมาณ 70% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 (ที่มา: สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ)
แล้วเราจะพัฒนาและฟื้นฟูอะไรต่อไป นั้นคือโจทย์ที่ต้องคิดและรีบดำเนินการแบบเร่งด่วน แน่นอนเมื่ออุตสาหกรรมไมซ์ที่เป็นกิจกรรมกลุ่มเสี่ยงสีแดงได้รับการผ่อนปรน พร้อมคู่มือ MICE Hygiene Guidelines ได้รับการอนุมัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กิจกรรมแรกที่ต้องเริ่ม คือ การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ทั้งรูปแบบ Online / Off line ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของ สสปน. และสมาคมพันธมิตร กิจกรรมที่สอง คือ เร่งมาตรการเยียวยาสำหรับสถานที่จัดงานไมซ์ด้านสุขอนามัย ในโครงการ “จัดประชุมอย่างไร ปลอดภัยไร้โควิด” สนับสนุนงบประมาณเตรียมความพร้อมสถานที่จัดงานหลังปลดล็อคพร้อมให้บริการด้วยความปลอดภัยมั่นใจต่อผู้ใช้บริการ จำนวนกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ กิจกรรมที่สาม คือ สร้างความมั่นใจ เยี่ยมตรวจสถานที่จัดงาน เรียนรู้แบ่งบันข้อควรระวัง ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และกิจกรรมสุดท้าย คือ การจัดการอบรมให้องค์ความรู้และแลกเปลี่ยนแนวคิดใหม่วิถีใหม่ “เมื่อ Hygiene กลายเป็นวิถีปกติ” ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 กันยายนนี้ ณ ห้องคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เอ 1 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ https://mice.kcmtiplc.com/?lang=en
“การเปิดมุมมองใหม่พลิกมุมสร้างโอกาสใหม่ให้อุตสาหกรรมไมซ์ไทย ไม่เพียง แค่คิดแต่ต้องพร้อมที่จะสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ เกิดคู่ค้า ไม่ใช่คู่แข่ง Partnership Economy เกิดขึ้นได้ในอุตสาหกรรมไมซ์ไทย”
อรชร ว่องพรรณงาม, CEM, CIS, EMD, SEP
ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)