“จำคุก 8 เดือน ข้อหาลักทรัพย์” เพียงเท่านี้ก็เปลี่ยนแปลงชีวิตของคนผู้หนึ่งไปทั้งชีวิต “จอย” หญิงสาววัย 30 ปี ตื่นตั้งแต่เช้ามืดทุกวันเพื่อมาทำขนมเล็กๆ น้อยๆ อย่างแซนวิชทอด เกี๊ยวทอด ให้ลูกชายคนโตที่เรียนชั้น ม.1 หิ้วติดมือไปขายเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนในราคาชิ้นละ 10 บาท จากนั้นช่วงก่อนเที่ยง เธอจะคอยรับออเดอร์ขนมและน้ำปั่นจากโรงงานใกล้บ้าน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว
ชีวิตประจำวันของ “จอย” เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่เธอ “พ้นโทษ” ออกมาจากเรือนจำ หลังถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน ในข้อหาลักทรัพย์ เพราะเธอไม่ได้รับการเรียกตัวเมื่อไปสมัครงานตามที่ต่าง ๆ จึงต้องอาศัยการ “ขายของ” มีรายได้ตกวันละประมาณ 200-400 บาท เป็นหนทางเดียวเพื่อหารายได้เลี้ยงดูครอบครัวที่มีลูก 2 คน
“ตอนนั้นหนูกับแฟนได้รับการเชื้อเชิญให้ไปเปิดร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ อ.สวนผึ้ง พอเปิดมาได้ 3 เดือน ปรากฏว่า เริ่มขายไม่ได้ ค่าเช่าที่ก็แพง เงินก็ขาดมือ แต่มีเรื่องต้องใช้เงินเร่งด่วน จึงนำแอร์ตัวหนึ่งไปจำนำกับญาติ ได้เงินมา 10,000 บาท พอผ่านไปสัปดาห์นึง มีลูกค้าต้องการแอร์ตัวนี้ ซึ่งมีอยู่ตัวเดียว หนูกับแฟนก็เลยไปขอคืน แต่ญาติบอกว่าเขาเอาไปติดที่บ้านภรรยาแล้ว เราไม่มีของมาคืน ทางบริษัทแม่จึงแจ้งความ และโดนจับข้อหาลักทรัพย์กับทั้งหนูและแฟน ติดคุกทั้งคู่ คนละ 8 เดือน ถึงจะไม่นานมาก แต่พอถูกตีตราว่าเคยติดคุก โอกาสต่าง ๆ ในการทำงาน ก็ไม่มีให้เราอีกต่อไป”
“จอย” เป็นหนึ่งใน “ผู้พ้นโทษ” จากเรือนจำกลางราชบุรี ที่สมัครและได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ “Street Food สร้างโอกาส” ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กรมราชทัณฑ์ และโครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษ หรือ ผู้ต้องขังที่เหลือโทษจำคุกน้อยกว่า 3 เดือน ได้มีโอกาสเข้ามาฝึกฝนการทำอาหาร Street Food โดยมีนักวิชาการด้านโภชนาการ มาสอนการทำอาหารให้อร่อยและถูกหลักสุขอนามัย พร้อมจะสนับสนุนรถเข็น Hygiene แบบพิเศษที่ออกแบบโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของ สจล.ให้เป็นทุนตั้งต้นในการออกไปประกอบอาชีพด้วย
โครงการ “Street Food สร้างโอกาส” เริ่มกระบวนการขึ้นจากการที่ สจล. ได้ทำโครงการ Street Food Academy ขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกงานและขาดรายได้จากวิกฤต “โควิด-19” ที่ผ่านมา ทำให้ทาง TIJ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับการสร้างโอกาสให้ผู้ต้องขังในเรือนจำและผู้พ้นโทษได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีพอ เพื่อไม่ต้องทำผิดซ้ำอีก มองเห็นว่า โครงการของ สจล. เป็นรูปแบบหนึ่งที่จะนำมาใช้สร้างอาชีพที่ดีให้กับผู้พ้นโทษได้ จึงประสานกับทาง สจล. กรมราชทัณฑ์ และโครงการกำลังใจ ให้มาร่วมกันสร้างโครงการนี้ขึ้น
TIJ กรมราชทัณฑ์ และโครงการกำลังใจ จึงนำแนวคิดของโครงการ “Street Food สร้างโอกาส” มาบอกกล่าวแก่ผู้พ้นโทษและผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษในเรือนจำกลางราชบุรีและเรือนจำกลางนครปฐมให้สมัครเข้าร่วมโครงการ ก่อนจะคัดเลือกเหลือ 9 คน ในระยะแรก เพื่อให้มาเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมทั้งสร้างทางเลือกและโอกาสในการออกไปประกอบอาชีพใหม่ ภายใต้การรับรองว่า ได้ผ่านการอบรมมาเป็นอย่างดีแล้ว
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ กล่าวว่า ทีมงานของ สจล. และ TIJ ได้ร่วมกันลงพื้นที่ที่เรือนจำจังหวัดราชบุรีและนครปฐมจัดอบรมเกี่ยวกับอาหารปลอดภัยและสำรวจความต้องการของผู้ต้องขัง ก่อนจะนำข้อมูลมาร่วมมือกับวิศวกร สจล. ออกแบบรถเข็นนวัตกรรมเพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพและความสะอาดปลอดภัยของอาหารสตรีทฟู้ดให้ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ
“TIJ จะผลักดันโครงการนี้เป็นโครงการต้นแบบของสหประชาชาติ ที่เป็นการร่วมมือร่วมใจจากหลายๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้โอกาสผู้ต้องขังตามแนวทาง “กำลังใจโมเดล” ในพระราชดำริของพระองค์ภา โดยหวังว่าโครงการนี้นอกจากจะช่วยลดผลกระทบที่มีต่อผู้พ้นโทษในการหางานและริเริ่มอาชีพของตนเองในช่วงวิกฤตโควิดแล้ว ยังจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้สตรีทฟู้ดของไทยเพื่อเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้นอีกด้วย” ผู้อำนวยการ TIJ กล่าว
ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ เล่าว่า “ผู้พ้นโทษส่วนมากไม่สามารถสมัครงานตามโรงงาน เพราะมีประวัติอาชญากรรม ดังนั้น อาชีพสุจริตที่ผู้พ้นโทษหลายคนมุ่งไป คือ การเป็นเจ้าของธุรกิจเล็ก ๆ ใช้ต้นทุนไม่มาก หลายคนมีอาชีพขายอาหารริมทางอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเข้าเรือนจำ อาชีพนี้จึงยังมีพื้นที่ให้ผู้พ้นโทษได้มีที่ยืนและสร้างอาชีพของเขาได้ ร้านอาหารริมทางที่รสชาติดีและปลอดภัย จึงเป็นธุรกิจหนึ่งที่น่าส่งเสริมให้ผู้พ้นโทษนำไปประกอบอาชีพได้”
ผศ.ดร. นภัสรพี เหลืองสกุล ผู้อำนวยการศูนย์เมืองนวัตกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หัวหน้าทีมวิชาการด้านโภชนาการ ซึ่งนำคณาจารย์จาก สจล. มาสอนการทำอาหาร Street Food ถึงในเรือนจำกลางราชบุรี บอกว่า สจล. มีนโยบายที่จะยกระดับ Street Food ของไทย ซึ่งโด่งดังระดับโลกอยู่แล้วให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยในการบริโภค เมื่อได้คุยกับทาง TIJ ว่า กลุ่มผู้พ้นโทษ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการโอกาสเช่นนี้ จึงมีข้อตกลงร่วมกันที่จะเข้ามาช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ โดยการสอนสูตรทำอาหารริมทางที่สามารถนำไปขายได้จริง และเน้นว่าต้องเรียนเกี่ยวกับหลักสูตรอาหารสะอาดและอาหารปลอดภัยด้วย เพราะการนำไปขายก็ต้องมีคุณภาพ เพื่อการยกระดับ Street Food เช่นกัน
“เรื่องความปลอดภัยของอาหาร เราตามไปถึงบ้าน เพราะการก่อให้เกิดความสกปรก แต่ละบ้านไม่เหมือนกัน เราจะไปชี้ให้เห็นว่าอันนี้คือสิ่งที่จะทำให้อาหารไม่สะอาด คุณต้องปรับตรงนี้ เราต้องทำแบบนี้ ไม่อย่างนั้น การยกระดับร้านอาหาร Street Food ก็ไม่เกิด และที่สำคัญเวลาเขาขายจริง เราต้องไม่ทิ้งเขา อย่างวันนี้สอนเสร็จ ไปทำจริงที่บ้าน อุปกรณ์ไม่ใช่แบบนี้ เขาอาจแก้ปัญหาไม่ได้ เราอาจต้องไปช่วยเพื่อให้มันใช่สำหรับเขา มันน่าจะมีการต่อยอดตรงนี้อีก เช่น รถเข็น Hygiene ที่มีระบบทุกอย่างพร้อมให้เขาประกอบอาชีพ แต่เราต้องมาคุยว่ารถเข็นที่เราอยากให้เขาไปประกอบอาชีพต้องสะอาด ปลอดภัย หลังจากนั้นเขาจะโตเองได้”
หลังผ่านการอบรมในวันแรก ซึ่งเป็นการสอนทำ “ซอสหมาล่า” และ “เกี๊ยวซ่า” หนึ่งในผู้เข้าอบรมอย่าง “จอย” บอกว่า เธอจะได้นำองค์ความรู้นี้ไปใช้ประโยชน์อย่างแน่นอน เพราะตั้งแต่พ้นโทษมา เธอก็รอมาตลอดว่าจะมีโครงการอะไรเข้ามาช่วยเหลือบ้างหรือไม่ จนกระทั่งทางเรือนจำติดต่อมา เธอจึงไม่ลังเลที่จะขอสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ทันที และได้วางแผนไปแล้วว่าหากได้รถเข็น Hygiene มา จะนำไปเปิดร้านที่ตลาดนัดแถวบ้าน
“โครงการ Street Food สร้างโอกาส” จะสามารถเพิ่มโอกาสให้กับผู้พ้นโทษที่มีศักยภาพอีกเป็นจำนวนมากถ้าสามารถผลิตรถเข็น Hygiene ได้ในจำนวนที่มากขึ้น มีทำเลการจำหน่ายสินค้าที่ดี ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย หรือได้รับการสนับสนุนในด้านอื่น ๆ ผู้ที่เคยก้าวพลาด ก็จะมีโอกาส มีอาชีพที่สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้ ไม่ต้องกลับไปกระทำความผิดซ้ำ ไม่ต้องวนกลับไปใช้ชีวิตในเรือนจำอีก
โดยภาคเอกชนที่สนใจสนับสนุนโครงการนี้ สามารถติดต่อได้ที่ “สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย