ผศ.ดร.สุธา สุทธิเรืองวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม สจล. นายแพทย์ อนวัช เสริมสวรรค์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย พร้อมผู้บริหาร และคณาจารย์ จากคณะแพทยศาสตร์ สจล. เป็นตัวแทนสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มอบเครื่องช่วยหายใจ Mini Emergency Ventilators สำหรับรถพยาบาลฉุกเฉินต่างๆ รวมไปถึงผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยมีนายทรงยศ เทียนทอง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว พร้อมตัวแทนจากโรงพยาบาลต่างๆ ภายในพื้นที่จังหวัดสระแก้วเป็นผู้แทนรับมอบ ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว
นายแพทย์ อนวัช เสริมสวรรค์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย สจล. กล่าวว่า นวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจ Mini Emergency Ventilators ของคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังใช้งานง่าย สะดวกต่อผู้ปฏิบัติงาน จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้วเป็นผู้บริหารจัดการระบบแพทย์ฉุกเฉินของจังหวัดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ มีมาตรฐานอย่างเท่าเทียมกัน รถฉุกเฉินขั้นสูงในจังหวัดสระแก้วทุกคันจึงจำเป็นต้องมีเครื่องช่วยหายใจที่พร้อมใช้ให้แก่ผู้ป่วยฉุกเฉินทุกกรณี
นายแพทย์ อนวัชกล่าวต่อว่า เนื่องจากการติดเชื้อที่รุนแรงของเชื้อไวรัสโควิดทำให้เกิดอาการสำคัญได้แก่ ปอดอักเสบ รายที่มีการหายใจล้มเหลวต้องมีการใช้เครื่องช่วยหายใจพยุงการทำงานของปอดเพื่อรอผลการรักษาให้สภาพปอดกลับมาทำงานได้เอง ด้วยเหตุที่มีการระบาดทั่วโลกและสถานพยาบาลหลายแห่งไม่มีเครื่องช่วยหายใจเพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเพราะไม่มีเครื่องช่วยหายใจ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแม้ในประเทศพัฒนา เช่น อิตาลี สหรัฐอเมริกา เนื่องจากเครื่องช่วยหายใจต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคา 3 แสนบาทขึ้นไป จนถึงหลักล้านบาทต่อเครื่อง และผู้ป่วยการหายใจล้มเหลวจะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลากว่าสองสัปดาห์ ระดับของเครื่องช่วยหายใจมีหลายคุณลักษณะ ได้แก่ เครื่องช่วยหายใจเพื่อการส่งต่อผู้ป่วย มีการทำงานที่ไม่ซับซ้อน
สำหรับเครื่องช่วยหายใจสำหรับหอผู้ป่วยทั่วไปจะต้องมีความแม่นยำในการทำงานเชื่อถือได้ เช่น สามารถปริมาตรอากาศ แรงดัน มีความทนทานต่อการใช้งานต่อเนื่อง และเครื่องช่วยหายใจสำหรับหออภิบาลผู้ป่วยหนัก ซึ่งต้องการเครื่องที่มีการทำงานในหลายรูปแบบและใช้งานได้สำหรับผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้มีโรคที่ซับซ้อน เป็นต้น และหากไม่มีการระบาดที่รุนแรง เครื่องช่วยหายใจยังคงเป็นที่ต้องการของการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งต้องนำส่งผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุไปโรงพยาบาล จากห้องฉุกเฉินไปยังหออภิบาลผู้ป่วย จากหอผู้ป่วยไปยังห้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และการส่งต่อจากโรงพยาบาลไปยังสถานพยาบาลในระดับสูงกว่าเพื่อการรักษาเฉพาะโรค ดังนั้น การมีเครื่องช่วยหายใจเพื่อการส่งต่อจะทำให้บุคลากรการแพทย์สามารถมุ่งความสนใจไปเพื่อการประเมินอาการผู้ป่วย และให้การรักษาที่จำเป็น โดยไม่ต้องพะวงกับการบีบลูกโป่งช่วยการหายใจ
สำหรับเครื่องช่วยหายใจที่ สจล.ผลิตเป็นการควบคุมปริมาตรคงที่ บีบอัดอากาศจากลูกโป่งซึ่งเป็นการออกแบบพื้นฐานจาก Massachusetts Institute of Technology เพื่อให้ได้มาตรฐานที่อ้างอิงได้ แม้ว่าการอัดอากาศจากพัดลมเป็นสิ่งไม่ได้ยุ่งยาก เราพัฒนาให้มีความใกล้เคียงกับคุณสมบัติเฉพาะของเครื่องช่วยหายใจสำหรับหอผู้ป่วย โดยมีวิธีการทำงานหรือ mode การทำงานเป็น Continuous mandatory ventilation (CMV) คือสามารถตั้งปริมาตรอากาศที่ต้องการ 50-700 มล./ครั้ง (ระดับที่แม่นยำ) อัตราการหายใจ 5-40 ครั้ง/นาที (ระดับที่แม่นยำ) การกระตุ้นการทำงานของเครื่องได้โดยการหายใจเข้าของผู้ป่วย การปรับแรงดันอากาศขณะหายใจออกให้เป็นบวกเพื่อขยายถุงลมอย่างสม่ำเสมอ (positive end expiratory pressure หรือ PEEP) ปรับสัดส่วนการให้ออกซิเจนได้ 0.2-1.0 มีเซ็นเซอร์วัดแรงดันเพื่อป้องกันแรงดันลมที่เป็นอันตรายต่อปอดพร้อมตัดการทำงานเมื่อแรงดันเกินที่กำหนด วัดแรงดันที่น้อยเกินไปในการหายใจออก (PEEP sensor) มีแบตเตอรี่สำรองการใช้งานไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง ทั้งหมดนี้ใช้เครื่องมือที่มีมาตรฐานอุตสาหกรรมและผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางไฟฟ้า มีโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐานจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในราคาการผลิตเบื้องต้น 5 หมื่นบาทเศษต่อเครื่อง
“ทั้งนี้ เครื่องที่ผลิตได้ทาง สจล.มีนโยบายจะนำไปใช้ เนื่องจากมีผู้เชื่อมั่นและสนับสนุนบริจาคเงินมาเพื่อให้ สจล.วิจัยและผลิตเครื่องช่วยหายใจเป็นจำนวนเงินนับสิบล้านบาท อธิการบดี ศาสตราจารย์ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ได้มีนโยบายให้ สจล.ผลิตให้สถานบริการทางการแพทย์ที่ต้องการนำไปใช้ในเบื้องต้นและสามารถผลิตได้เพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 100 เครื่องต่อเดือนหากจำเป็น ขณะนี้ได้เริ่มทยอยส่งให้หน่วยงานที่แสดงความจำนงขอเข้ามาตามระดับความจำเป็นแล้ว” นายแพทย์ อนวัชกล่าว