xs
xsm
sm
md
lg

พูดจาภาษามนุษย์ : พูดคุยภาษา(ของ)แม่ โดย "กิติมา อินทรัมพรรย์"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มนุษย์ หมายถึง ผู้มีจิตใจสูง จิตใจงดงาม ดังนั้นคอลัมน์ พูดจาภาษามนุษย์นี้ จะมาบอกเล่าถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาษาของผู้มีอารยธรรมในสังคมไทย คือ เรา ท่านนั่นเอง และเนื่องจากเดือนสิงหาคม เป็นเดือนแห่งวันแม่ของปวงชนชาวไทย ทั้งยังเป็นเดือนที่คุณแม่ของผู้เขียนจากไปด้วย จึงอยากชวนผู้อ่านนึกถึงภาษาที่แม่ๆ ผู้มีลูกเล็กนิยมพูดกับลูก ซึ่งจะขอเรียกในที่นี้ว่าเป็นภาษา (ของ) แม่ (ลูกอ่อน) ที่เป็นที่รู้จักกันว่า motherese หรือ infant-directed speech รวมถึงชื่อต่างๆ อีกหลายๆ ชื่อไม่ว่าจะเป็น baby talk หรือ parentese หรือ caretaker speech นั่นเอง

ภาษาของแม่ลูกอ่อน นี้ ไม่ใช่ภาษา แต่เป็นลักษณะการใช้ภาษาที่มีโดดเด่นเฉพาะตัวที่คล้ายคลึงกันไม่ว่าแม่จากชาติภาษาใด นั่นคือการใช้เสียงเล็ก โทนเสียงสูงมากกว่าเสียงต่ำ แฝงความอ่อนโยนและไพเราะ ราวกับเสียงดนตรี เช่น ว่าไงค้า โอโอ๋ ดูซิคะคุณแม่ถืออะไรมา

ลักษณะการพูด จะเป็นการพูดช้า ลากเสียงพยางค์ยาวกว่าปกติ ออกเสียงแต่ละคำอย่างชัดถ้อยชัดคำ ใช้ประโยคสั้นๆ และมักมีคำลงท้ายที่แยกเพศชายหญิงตามเพศของเด็กด้วย เช่น คะ ขา นะคับ นะคะ ด้วยแทบทุกครั้ง แตกต่างจากการพูดคุยปกติกับผู้ใหญ่ด้วยกัน

ลักษณะการพูดจาภาษาแม่ลูกอ่อนนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะผู้เป็นแม่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ดูแล ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ พี่เลี้ยง โดยเฉพาะผู้ใหญ่เพศหญิงที่ต้องการพูดคุยเล่นหัวกับเด็กเล็กๆ วัยแบเบาะ เรียกได้ว่าเป็นภาษาที่ผู้ใหญ่ใช้พูดคุยกับเด็กเล็กนั่นเอง เช่น อร่อยใช่มั้ยคะ ชอบใช่มั้ยคะ สนุกเนอะลูกเนอะ

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของภาษาแม่ลูกอ่อนคือ การซ้ำคำพยางค์ท้ายตามลักษณะภาษาที่เด็กเล็กพูดซ้ำพยางค์ท้ายของคำศัพท์หลายพยางค์ เช่น เปิ้ลๆ หมายถึง แอ๊ปเปิ้ล และ ตูนๆ หมายถึง ดูการ์ตูน

นอกจากนี้ลักษณะภาษาแม่ลูกอ่อนนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่วัจนภาษาหรือภาษาพูดเท่านั้น ยังมีการใช้อวัจนภาษาร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางสีหน้าด้วยการยิ้มและหัวเราะ ภาษามือ รวมถึงภาษากายที่แสดงถึงความรักและอบอุ่น เช่นการกอดและหอมร่วมด้วย

เด็กเล็กมีความไวต่อการรับและเรียนรู้ ลักษณะน้ำเสียงของผู้พูดย่อมส่งผลต่อเด็ก ลักษณะการพูดของแม่ที่พูดคุยกับเด็กวัยแรกเกิดจนถึงราวสองถึงสามปีด้วยเสียงเล็ก โทนเสียงสูง ไพเราะราวกับเสียงดนตรีนี้สามารถดึงดูดความสนใจเด็กเล็กได้ดี การพูดช้า และซ้ำคำช่วยย้ำให้เด็กได้เรียนรู้และทำความเข้าใจคำศัพท์และประโยคได้ง่ายขึ้น ลักษณะการพูดจาภาษาแม่ลูกอ่อนนี้ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาเด็กว่าสามารถส่งเสริมการพัฒนาทางภาษาของเด็กได้ดีกว่าการพูดโดยปกติแบบผู้ใหญ่ เนื่องจากเป็นการกระตุ้นการพัฒนาทักษะทางสังคม ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ การทำความเข้าใจ และการพูดให้แก่เด็กได้มากขึ้น

ลักษณะการใช้ภาษาของแม่ลูกอ่อนในวันนี้คงทำให้เรารักแม่กันมากขึ้น รู้อย่างนี้แล้วอย่าลืมให้เวลากับคุณพ่อคุณแม่ของเรากันนะคะ






กำลังโหลดความคิดเห็น