นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "English for Communication in Workplace" โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ พก. จำนวน 60 คน ในสังคมปัจจุบันและสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 เทคโนโลยีมีบทบาทสําคัญในการเรียนรู้มากขึ้น
ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลได้กลายเป็นเครื่องมือสําคัญในการติดต่อสื่อสารผ่านทางเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งทางด้านการพูดและการเขียน โดยเฉพาะด้านการเรียนรู้ของผู้เรียน ผู้ที่มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษสามารถหาความรู้เพิ่มเติม โดยเข้าถึงแหล่งความรู้ซึ่งมีอยู่อย่างไม่จํากัดทั่วโลกด้วยความสะดวกและรวดเร็ว
ทั้งนี้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้ให้ความสำคัญการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในการปฏิบัติงาน ซึ่งกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้รับนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติ โดยการส่งเสริมให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาอังกฤษ และนำมาใช้ในการปฏิบัติงาน
โดย พก. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน ได้ส่งเสริมบทบาทในการด้านการต่างประเทศ เช่น การเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนตามกรอบความร่วมมือ และพันธกรณีด้านคนพิการ การผลักดันนโยบายและการดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ประชุมอาเซียน 2025 และแผนงานประชาคมอาเซียน 2016 – 2025 (ASEAN Community Vision 2025 and ASEAN Community Blueprint 2016 - 2025) และงานวิเทศสัมพันธ์ในการพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "English for Communication in Workplace" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสได้ต่อยอดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เปิดโลกทัศน์ และเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่จำเป็นสำหรับการทำงาน เพื่อนำมาใช้พัฒนาศักยภาพในการดำเนินงานในด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการต่อไป
ทั้งนี้ ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน พก. ได้ดำเนินกิจกรรมอบรมภาษาอังกฤษหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในที่ทำงาน (English for communication in workplace) มาอย่างต่อเนื่องให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยจากการประเมินหลังการเรียนพบว่า ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่มีความพึงพอใจและมีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการเรียนและการทำงานได้ วันนี้ จึงนับเป็นการต่อยอดและสรุปบทเรียน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเทคนิควิธีการในการปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้นต่อไป โดยกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ พก. จำนวน 60 คน โดยได้รับความร่วมมือจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนภาษาอังกฤษมาให้ความรู้การอบรมฯ