xs
xsm
sm
md
lg

จากวัดร้างตระพังจิกสู่โควิด 19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับตั้งแต่มีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในจีน จนพบคนไทยติดเชื้อโควิดเป็นรายแรกในช่วงปลายเดือนมกราคม แรกๆ พวกเรายังรู้สึกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดรุนแรงที่อิตาลี จนเกิดกรณี Super-spreader จากสนามมวย และผับในไทย ทำให้เมฆหมอกของความกลัวเข้ามาเกาะกุมจิตใจ จนไม่สามารถใช้ชีวิตในที่สาธารณะแบบปกติ จะหยิบจับสัมผัสอะไร ก็ระแวงไปหมดว่า “มีไวรัสเกาะมั้ยเนี่ย?” พร้อมกับคำถามลึกๆ ในใจว่า “เราติดหรือยังนะ?” จนเกิดวลีเด็ดสะท้อนความรู้สึกร่วมของผู้คนในยุคโควิด 19 ที่ว่า “สุขภาพกายโควิด สุขภาพจิตโคม่า”

เมื่อสถานการณ์การระบาดในประเทศเลวร้ายขึ้น จนต้อง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” อาการที่สะท้อนระดับความกลัวที่เร่งตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเสพข่าวโควิดจนแทบไม่มีเวลาพิจารณาว่า ข่าวจริงหรือข่าวปลอม หรือการทุ่มซื้อหน้ากากอนามัยจนโรงพยาบาลขาดแคลน และเปิดโอกาสให้คนเก็งกำไรทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นเกือบ 20 เท่า จนมาถึงวันนี้ ที่ดูเหมือนคลื่นลูกแรกของโควิดจะเริ่มคลี่คลาย แต่ไม่มีใครรู้ว่า คลื่นลูกที่ 2 จะกลับมาเมื่อไร จะรุนแรงเพียงใด หรือจะเกิดพัฒนาการของโรคใหม่ก็สุดจะประเมิน ดังนั้น สิ่งสำคัญคงหนีไม่พ้นการเตรียมใจเราพร้อมดีที่สุด

ในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันเกิดของท่านอาจารย์พุทธทาสหรือ “วันล้ออายุ” (๒๗ พฤษภาคมนี้) ปีที่ ๑๑๔ พวกเราถือโอกาสไปค้นคว้าประสบการณ์ท่านอาจารย์ที่เคยก้าวข้ามความกลัวในใจตัวเองมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ท่านผู้อ่านมีวิธีเตรียมพร้อมจิตใจ

ประสบการณ์ความกลัวของท่านอาจารย์ ในช่วงที่ท่านตั้งใจสร้างสวนโมกข์ (แห่งแรก) ที่วัดตระพังจิก ซึ่งเป็นวัดที่ร้างมาไม่น้อยกว่า ๘๐ ปีขณะนั้น ท่านบันทึกไว้ในหนังสือสิบปีสวนโมกข์ว่า

ตลอดเวลา ๒ ปีแรกนั้น ไม่มีใครอาศัยอยู่ในสวนโมกข์เลย มีแต่ฉันอยู่คนเดียว ... ทั้งในและนอกพรรษา ... ที่พักเป็นเพียงโรงพื้นดิน กั้นและมุงด้วยจากเล็กๆ ... ป่าไม้ที่แน่นทึบอยู่โดยรอบ สถานที่นี้เป็นสถานที่เมื่อฉันมาอยู่ ก็ยังเป็นสถานที่กลัวเกรงของคนทั่วไป

ฉันก็เช่นเดียวกับท่านส่วนมาก คือ มิได้ชินกับป่าด้วยการกำเนิดและเติบโตในป่า รสชาติของการอยู่คนเดียวในสถานที่อันสงัดและดึกสงัดนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจบอกให้เข้าใจกันได้ด้วยตัวหนังสือ หรือด้วยการนึกเทียบเอาจากการที่อยู่ในที่อันเป็นธรรมดาของผู้ที่ไม่เคยไปอยู่ มีอำนาจอะไรอย่างหนึ่งซึ่งดูเหมือนว่าได้ “ริบ” เอากำลังใจไปเสียหมดแล้ว ตั้งแต่เมื่อเริ่มรู้สึกตนว่า ได้อยู่ผู้เดียวในที่ที่ปราศจากการคุ้มครองแต่อย่างใด ยิ่งเมื่อมีอะไรหวอ หรือโครมครามวูดวาดออกมาในเวลาที่ไม่รู้สึกตัว และเพิ่งประสบเป็นครั้งแรก ย่อมเป็นการเหลือวิสัยที่จะไม่ให้เกิดการสะดุ้ง

ครั้นกำลังใจค่อยเข้มแข็งขึ้น สติค่อยรวดเร็วขึ้น ความเคยชินค่อยมากขึ้น สิ่งนั้นๆ ค่อยๆ กลายเป็นธรรมดาไป ... จนบางครั้งกลายเป็นวัตถุแห่งความขบขัน และเราจะพบตัวเราเองว่า เปลี่ยนไปจนจะเป็นคนละคน และเมื่อเป็นไปโดยทำนองนี้มากเข้า อุปสรรคอันเกิดจากความกลัวที่กีดกันความเป็นสมาธิแห่งจิตก็มีน้อยเข้า และหมดสิ้นไปในที่สุด สามารถจะนั่งอยู่คนเดียวในที่โล่งในเวลากลางคืนอันสงัด โดยปราศจากเครื่องคุ้มครองอย่างใด นอกจากจีวรที่ห่มอยู่ และมีจิตแน่วไปในการฝึกฝนได้ตามปรารถนา ธรรมะที่จะช่วยให้เราเอาชนะความกลัวได้

ท่านอาจารย์สอนว่า ความกลัวเป็นความทุกข์แขนงหนึ่งที่รบกวนความสุขของมนุษย์มาก เมื่อพิจารณาให้ลึกจะเห็นว่า ความกลัวทั้งหมด มันขึ้นอยู่ที่กลัวตาย สัญชาตญาณแห่งการไม่อยากเสียชีวิต อยากรอดชีวิตเป็นใจความของ “ตัวกู ของกู” จึงเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเป็นทุกข์ พระอรหันต์ไม่กลัวเพราะไม่มีความรู้สึกว่า อะไรเป็นตัวกู เป็นของกูเหลือ ด้วยการนำสติปัญญาขึ้นมาแทนที่อุปาทาน พวกเราทดลองประยุกต์ธรรมะของท่านมาใช้จัดการความกลัวโควิด พบแนวทางว่า

เมื่อเกิดอะไรขึ้น (อาทิ โควิด) ก็ไม่ต้องปล่อยให้ความกลัวครอบงำจนทำอะไรไม่ถูก แต่ให้สร้างความรู้สึกที่เป็นสติปัญญาขึ้นมาแทน คิดด้วยสติปัญญาที่มีอยู่ว่า ควรทำอย่างไร ป้องกันตัวเองอย่างไร โดยไม่ต้องกลัว เมื่อเรามีหน้าที่ดูแลสุขภาพอนามัยตัวเองก็ดูแลให้ดีที่สุด และถ้ามีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นก็อย่ากลัว ควบคุมลมหายใจตัวเองให้มั่นคง เพื่อให้จิตเป็นสมาธิมากขึ้น คล้ายกับที่ท่านอาจารย์เล่าไว้ในตอนต้นว่า “ครั้นกำลังใจค่อยเข้มแข็งขึ้น สติค่อยรวดเร็วขึ้น” เพราะเมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว “สติ” จะระลึกรู้อยู่ว่า อะไรเป็นอะไร เรากำลังเป็นอย่างไรอยู่ สติที่สมบูรณ์จะทำให้เรามีความพร้อมเสมอในการดึงเอา “ปัญญา” คือความรู้ต่างๆ ที่มีและเคยฝึกฝนมาก่อน เอามาอยู่กับเนื้อกับตัวเป็น “สัมปชัญญะ” แบบพร้อมใช้ได้เสมอ ดังนั้น หากฝึกฝน “สมาธิ” ให้ดี ก็จะตั้งมั่นรับมือได้สำเร็จ และช่วยให้ก้าวข้ามความกลัวไปได้

ท่านเตือนประหนึ่งท่านอยู่ร่วมยุคโควิดกับพวกเราว่า เตรียมตัวให้ดีๆ เพราะเราจะต้องเผชิญกับความกลัวตลอดเวลา เอาของจริงนี้เป็นบทเรียนสำหรับปฏิบัติ ค่อยๆ ศึกษาไป ทำไป ปฏิบัติไป แล้วก็ต้องปฏิบัติได้ พร้อมให้กำลังใจว่า เรื่องความกลัวก็เป็นสิ่งที่ละได้ ทำให้เบาบางไปได้ ฉะนั้น ควรจะทดสอบตัวเองอยู่เสมอว่า เดือนนี้ดีขึ้นกว่าเดือนที่แล้วหรือไม่ ปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วหรือไม่ในเรื่องเกี่ยวกับความกลัว

พวกเราขอให้ผู้อ่านสามารถกำราบความกลัว ด้วยสติ สัมปชัญญะ ปัญญา และสมาธิ เพื่อผ่านวิกฤตนี้และวิกฤตไหนๆ ด้วยความสงบงาม

๒๗ พฤษภาคมนี้ ทุกที่จะเป็นสวนโมกข์ ล้ออายุพุทธทาส (ออนไลน์) ติดตาม Live ได้ที่เพจ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ : Buddhadasa Indapanno Archives ร่วมกิจกรรมออนไลน์ได้จากเช้าถึงค่ำและร่วมมอบของขวัญถวายท่านอาจารย์ด้วยการอดอาหารตลอดวัน




กำลังโหลดความคิดเห็น