xs
xsm
sm
md
lg

The Great War of Archimedes คิดได้ไง! หนังสงครามว่าด้วยงบประมาณกองทัพ

เผยแพร่:   โดย: ฟ้าธานี



มีหนังสงครามที่สร้างออกมาในแง่มุมต่าง ๆ มากมาย ทั้งในมุมมองของผู้ชนะ, ผู้แพ้, ผู้สูญเสีย, พลเรือน, นายทหาร หรือทหารเลว ก็มีสร้างออกมาแล้วทั้งนั้น เรื่องราวของสงครามถูกนำเสนอผ่านแผ่นฟิล์มมานาน เรียกว่าหนังเรื่องแรก ๆ ของโลกก็เป็นหนังสงครามเช่นเดียวกัน จนพูดได้ว่าไม่เหลือด้านใด ๆ ที่น่าจะแปลกใหม่สำหรับการทำหนังเกี่ยวกับการรบกับอีกแล้ว

แต่วงการหนังญี่ปุ่นก็ยังหาอะไรไม่ ๆ ในการเล่าเรื่องสงครามได้ โดยเฉพาะหนังเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่าได้เสียโดยตรงต่อประวัติศาสตร์ครั้งนั้น การทำหนังเกี่ยวกับสงครามโลกของญี่ปุ่นถือว่าเปราะบางมาก เพราะในสงครามครั้งนั้นญี่ปุ่นมีสภาพไม่ต่างอะไรจาก “ตัวร้าย” ก็ว่าได้

หนังสงครามโลกจากญี่ปุ่นจึงต้องสรรค์หามุมแปลก ๆ ใหม่ ๆ มาเล่าเรื่อง โดยไม่แตะต้องประเด็นละเอียดอ่อนต่าง ๆ ไม่ทำให้ใครดูเป็นผู้ร้ายอยู่ฝ่ายเดียว (เหมือนหนังสงครามของประเทศอื่น ๆ) และเน้นไปที่มุมของญี่ปุ่นเป็นหลักเท่านั้น

The Great War of Archimedes ก็คือหนังที่เรื่องสงครามโลกอีกเรื่องจากประเทศญี่ปุ่น แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้เน้นฉากรบที่สะเทือนใจ, ไม่ได้เล่าเรื่องความสูญเสีย, ไม่ได้เกี่ยวกับยุทธวิธี หรือภาพในสนามรบอย่างที่เราคุ้นตากัน แต่หนังกลับไปเล่าเรื่องที่ภาพยนตร์แทบไม่เคยแตะเลย อย่างประเด็นของ “งบประมาณกองทัพ”

The Great War of Archimedes ไม่ได้มีตัวเอกเป็นนายทหาร หรือ ผู้กล้าในสนามรบที่ใช้ปืนต่อสู้กับข้าศึก แต่เป็นนักคณิตศาสตร์ที่ต้องต่อสู้ทางความคิด โดยมช็อกในมือเป็นอาวุธ และนายทหารญี่ปุ่นด้วยกัน คือคู่ต่อกร


เรือรบ หรือ บันทึกเครื่องบิน

หนังเปิดฉากด้วยเหตุการณ์อันสุดเศร้าของกองทัพญี่ปุ่น ในวันที่เรือรบ “ยามาโต้” ต้องอับปางลง 7 เม.ย. 1945 หลังถูกเครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ รุมโจมตีอยู่นานนับชั่วโมง

ก่อนที่เรื่องราวจะย้อนไปก่อนหน้านั้นประมาณ 10 ปี ในวันที่กองทัพเรือญี่ปุ่นต้องตัดสินใจว่าจะเดินไปในทิศทางใดดี พลเรือเอกยามาโมโต้ อิโซโรคุ เชื่อว่าหลังจากนี้สงครามทางทะเลจะต้องตัดสินกันด้วยเครื่องบินรบ และเรือบันทึกเครื่องบินก็คือกุญแจสำคัญในการรบในอีกหลายปีข้างหน้า ท่านจึงเสนอให้กองทัพเรือลงทุนสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินมาแทนเรือรบที่กำลังจะปลดระวาง

ขณะที่นายทหารเรือฝั่งตรงกันข้ามเชื่อว่า “เกียรติภูมิ” ของกองทัพเรือญี่ปุ่นจะต้องคู่ควรกับเรือรบขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งคำตอบก็คือ เรือประจัญบานขนาดใหญ่ที่สุด ที่มีอาวุธทรงประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่ญี่ปุ่นสามารถสร้างได้ ด้วยระวางขับน้ำ 72,800 ตันและปืนใหญ่ขนาดปากลำกล้อง 460 มิลลิเมตร

ผู้บัญชาการกองทัพเรือแทบจะตาค้าง เมื่อได้เห็นแบบจำลองของเรือประจัญบานที่ถูกยกเข้ามาในการประชุมเสนอแบบเรือลำใหม่ เรือดูยิ่งใหญ่สวยงาม และน่าจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความเกรียงไกรของกองทัพเรือญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับโมเดลเรือบรรทุกเครื่องบินของนายพลยามาโต้ที่ดูโล่งโจ้ง และไร้เสน่ห์


ภารกิจหยุดยั้งโปรเจ็ค "ยามาโต้"

แม้การประชุมจะยังไม่มีข้อสรุป แต่นายพลยามาโต้ ก็พอจะทำใจได้แล้วว่ากองทัพน่าจะเลือกสร้างเรือรบประจัญบาน แทนเรือบรรทุกเครื่องบินแน่ ๆ แต่ความหวังสุดท้ายของเขาก็ยังไม่หมดไป นายพลยามาโต้ตัดสินใจตามตัวอัจฉริยะนักคณิตศาสตร์ที่กำลังจะเดินทางไปอยู่อเมริกาเพราะหมดหวังกับประเทศญี่ปุ่น ให้มาช่วยประเมินงบประมาณการสร้างเรือรบที่อีกฝ่ายนำเสนอ ซึ่งนายพลยามาโต้เชื่อว่ามีการหมกเม็ด ตบตา ให้งบประมาณดูน้อยกว่าความเป็นจริง เพื่อให้โปรเจ็คผ่านการอนุมัติให้ได้

ด้วยระยะเวลาไม่กี่วัน นาวาตรี ทาดาชิ คาอิ (สุดะ มาซากิ) ที่เพิ่งได้รับการติดยศแบบปัจจุบันทันด่วน ต้องคำนวนงบประมาณการสร้างเรือประจัญบาลขนาดใหญ่ออกมาให้แม่นยำที่สุด โดยมีมูลเป็นกระดาษเพียงไม่กี่แผ่น นักคณิตศาสตร์อัจฉริยะต้องศึกษาผลงานเก่า ๆ ของสถาปนิกเพื่อวาดแบบแปลนเรือประจัญบาลขึ้นมาใหม่ และเทียบเคียงกับค่าใช้จ่ายในการสร้างเรือรบที่แล้ว ๆ มา เพื่อหาให้ได้ว่าเรือประจัญบาลลำนี้ใช้งบประมาณเกินกว่าที่ระบุไปกี่เท่าตัวกันแน่

ซึ่งแน่นอนผู้ชมส่วนใหญ่คงทราบดีตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วว่าเรือประจัญบาลที่ถูกสร้างเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความเกรียงไกรของกองทัพญี่ปุ่นลำนี้ก็คือ “ยามาโต้” นั่นเอง


หนังสนุกที่ดูแล้วชวนคิด

The Great War of Archimedes ดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนฮิตของทางญี่ปุ่น เนื้อหาเกิดจากจิตนาการของผู้แต่งเป็นหลัก แต่ก็สะท้อนถึงความคิดเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง และงบประมาณกองทัพของชาวญี่ปุ่น ซึ่งก็น่าจะสะท้อนไปถึงเรื่องความสำคัญของงบประมาณทางการทหารของกองทัพทั่วโลกด้วย

ตัวละครนายทหารในเรื่องหลาย ๆ ตัวถูกนำเสนอออกมาเป็นคนจำพวกคิดตื้น, หมกมุ่นกับเรื่องไรสาระอย่าง “เกียรติและศักดิ์ศรี” ของกองทัพ และให้ความสำคัญกับเรื่องที่ไม่สำคัญอยู่ตลอดเวลา

แม้เรื่องราวจะดูจริงจัง แต่ The Great War of Archimedes เน้นเล่าเรื่องเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก หนังมีกระทั่งฉากตลก ๆ และเรื่องราวก็น่าติดตาม ฉากดวลกันด้วยคณิตศาสตร์ก็ทำออกมาได้อย่างตื่นเต้นอย่างน่าเหลือเชื่อ เรียกว่าสนุกได้โดยไม่ต้องพูดถึงฉากรบที่มีแค่ตอนต้นเรื่องด้วยซ้ำไป

นอกจากนั้น The Great War of Archimedes ยังเป็นหนังอีกเรื่อง ที่พูดถึงความคิดความรู้สึกของชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับสงครามโลก ว่าท้ายที่สุดมันอาจจะดีสำหรับทุกคนแล้วที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม และไม่มีกองทัพมาจนถึงปัจจุบัน

Archimedes no Taisen หรือ The Great War of Archimedes เป็นผลงานการกำกับของ ยามาซากิ ทาเคชิ ผู้กำกับหนังสายตลาดมือต้น ๆ ของญี่ปุ่น ณ ขณะนี้ ซึ่งเชี่ยวชาญเป็นพิเศษกับการนำเทคนิคพิเศษทางคอมพิวเตอร์มาช่วยในการเล่าเรื่องให้น่าประทับใจ ไม่ได้ใช้แค่โชว์ไปแบบไร้ความหมายผลงานของเขาก็มีอย่า Always: Sunset on Third Street, Parasyte และ The Eternal Zero เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น