xs
xsm
sm
md
lg

"ทอม แฮงก์" พระเอกผู้ต่อลมหายใจ "เครื่องพิมพ์ดีด"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทอม แฮงก์ กับความคลั่งคไล้เครื่องพิมพ์ดีดที่ถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ California Typewriters
หลังจากเรื่องราวของ "ทอม แฮงก์" นักแสดงดังได้ให้เครื่องพิมพ์ดีดแบรนด์ "โคโรนา" ให้กับหนูน้อยชาวออสเตรเลียที่ชื่อว่า "โคโรนา เดอ วรีส์" ที่โดนเพื่อนล้อและเปลี่ยนชื่อให้เป็น "โคโรนาไวรัส" อาจจะทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าทำไมสิ่งที่นักแสดงคนดังให้ต้องเป็น "เครื่องพิมพ์ดีด"

แต่ถ้าใครติดตามประวัติของพระเอกดังคนนี้ก็จะรู้ว่าเจ้าตัวนั้นมีงานอดิเรกที่โปรดปรานเป็นพิเศษคือ การสะสมเครื่องพิมพ์ดีด ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ยุค 70 โดยปัจจุบันเจ้าตัวมีเครื่องพิมพ์ดีดที่ตนเองสะสมมากกว่า 250 เครื่องและมากกว่า 90% ใช้งานได้จริงแบบไร้ที่ติ

โดยสิ่งที่ทำให้เขาเริ่มหลงใหลในเครื่องพิมพ์ดีดนั่นก็เพราะความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของงานแต่ละชิ้นนั่นเอง “สิ่งที่ทำให้ผมชอบเกี่ยวกับเครื่องพิมพ์ดีด คงเป็นเรื่องที่มันสามารถทำได้แค่ทีละอย่าง ทีละอย่าง และไม่ต้องพยายามอะไรมาก ไม่ต้องดูแลรักษามาก และยังมีอายุการใช้งานยาวนานนับพันๆปี”


จุดเริ่มต้นของความหลงใหล

ทอม แฮงก์ ได้รับเครื่องพิมพ์ดีดเครื่องแรกมาจากเพื่อนที่ขอมรดกต่อให้ เพราะจะไปซื้อเครื่องใหม่ของ Olivetti ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์ดีดแบบอิเล็กทรอนิกส์เมื่อปี 1978 ทอม แฮงก์ จึงนำเครื่องพิมพ์ดีดดังกล่าวไปที่ร้านซ่อมใน เคลฟแลนด์ ก่อนที่จะเจอเจ้าของร้านบอกว่าไม่คุ้มที่จะซ่อม

“เขาอธิบายกับผมว่า สิ่งที่มีผมมีมันไม่ต่างจากของเล่น มันมีหน้าตาเหมือนเครื่องพิมพ์ดีดแต่ว่ามันทำมาจากพลาสติก มันไม่ต่างจากขยะเลย ดีไซน์ก็แย่ ฟังก์ชันก็ห่วย จากนั้นเขาก็โชว์ชั้นวางเครื่องพิมพ์ดีดแบบพกพาได้ให้ผมดู จากนั้นก็จบลงตรงที่ผมเดินออกจากร้านเขาพร้อมกับเครื่องพิมพ์ดีด Hermes 2000 ซึ่งเขาขายให้ผมในราคา 45 ดอลลาร์สหรัฐฯ” ทอม แฮงก์ เผยกับทาง WBEZ

“ผู้ชายคนนั้นเปลี่ยนความคิดของผมที่มีต่อเครื่องพิมพ์ดีดไปตลอดชีวิต” ทอม แฮงก์ ยังได้เขียนหนังสือที่ชื่อว่า Uncommon Type ซึ่งเขาได้เผยถึงบทสนทนาเดียวกันที่มีกับเรื่องราวการเริ่มต้นของเครื่องพิมพ์ดีดเครื่องแรกในชีวิต ผ่านตัวละครหนึ่งที่นำเครื่องพิมพ์ดีดไปซ่อมที่ร้านแล้วเผยความรู้สึกออกมาว่า “สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนการทำสมาธิแห่งจิต” อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้ เครื่องพิมพ์ดีดไม่ใช่ธีมของเรื่องสั้นทั้ง 17 เรื่องในหนังสือ แต่เป็นเหมือนตัวละครสมทบที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องมากกว่า

ในการให้สัมภาษณ์กับ ลี โคแวน ผ่านทาง SBS Sunday Morning ทอม แฮงก์ ได้เผยว่าเขาได้นำเครื่องพิมพ์ดีดไปใส่ไว้ในแต่ละเรื่องอย่างมีนัยยะสำคัญ “มันช่วยให้ผมกำหนดแนวทางของแต่ละเรื่องได้” เพราะ ทอม แฮงก์ มองว่าเครื่องพิมพ์ดีดแต่ละเครื่องก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันไป ซึ่งเนื้อหาแต่ละเรื่องก็เช่นกัน


อะไรคือสิ่งที่ ทอม แฮงก์ มองหาจากเครื่องพิมพ์ดีด?

สำหรับ ทอม แฮงก์ มันไม่ใช่แค่การเดินดูเพื่อเลือกซื้อเครื่องพิมพ์ดีดไปสะสมเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องที่ตื้นตันกับการได้ออกล่า หาเครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับเครื่อง การได้เห็นความคงทนถาวรเมื่อพิมพ์ลงในกระดาษ รวมถึงเสียงอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเครื่องพิมพ์ดีดแต่ละเครื่อง สิ่งเหล่านี้มันคือสิ่งเดียวที่เครื่องพิมพ์ดีดจะมีให้คุณได้สัมผัสประสบการณ์เหล่านั้นได้

“ถ้าเปรียบกลองเป็นดั่งกระดูกสันหลังของวงดนตรีร็อกแอนด์โรล เสียงของเครื่องพิมพ์ดีดก็เป็นเสียงของผลผลิตเช่นกัน” ทอม แฮงก์ บอกกับทางโคแวน

ทอม แฮงก์ ยังมองด้วยว่า คนที่ใช้เครื่องพิมพ์ดีดเพื่องานเขียนยังสามารถคอนโทรลเสียงเครื่องพิมพ์ของตนเองดัง โดยขึ้นอยู่กับน้ำหนักมือขณะกดนิ้วลงบนแป้นพิมพ์ และคนเขียนก็สามารถเลือกได้ว่าจะเอาเครื่องแบบไหน เพราะแต่ละเครื่องก็ถูกออกแบบเสียงพิมพ์มาไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเสียง ติ๊ก ติ๊ก ติ๊ก จาก Remington ปี 1930 หรือ ฟิด ฟิด ฟิด จากเครื่อง Olivetti

อย่างไรก็ตามแม้เจ้าตัวจะชื่นชอบในเครื่องพิมพ์ดีด แต่ก็ยืนยันว่าไม่มีชิ้นไหนที่เขาโปรดปรานที่สุด แม้ว่าในคลังแสงหลายร้อยเครื่องที่เขามีจะเต็มไปด้วยของดีทั้ง Olympia Model SM8, Royal ‘Apollo 10’, LC Smith Corona, IBM Selectric I และ Hermes 3000 โดยเขาเผยกับทาง Tribune Review ว่าเขามีเครื่องที่ชื่นชอบอยู่นิดหน่อย “เครื่องของ Smith-Corona Sterling หรือ Silent นี่ล้ำค่าอย่างกับอัญมณี รวมถึง Hermes ไม่ว่าจะสีเขียวหรือสีน้ำตาล ต่างก็ทำงานได้อย่างกับสายฟ้า แล้วผมก็ปิ๊งเจ้า Olivetti Lettera 22’s มากเลย เป็นเหมือนงานดีไซน์ระดับมาสเตอร์พีซ แถมยังพิมพ์ได้เร็วและเบามาก และมันยังเป็นเครื่องที่ถูกนำไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ Museum of Modern Art ด้วย”

ทอม แฮงก์ ยังคงเป็นผู้ชายคลาสสิกที่เขียนโน้ตต่างๆผ่านทางเครื่องพิมพ์ดีด ไม่ว่าจะเป็นรายการสิ่งของที่เขาจะซื้อ หรือโน้ตเตือนความจำ แต่อย่างไรก็ตามเจ้าตัวยอมรับว่าไม่ใช่จะใช้เครื่องพิมพ์ดีดกับทุกอย่าง เพราะงานเขียนหนังสือยาวๆอย่าง Uncommon Type เจ้าตัวก็ยังต้องอาศัยการพิมพ์ผ่านคอมพิวเตอร์อยู่ดี


เมื่อ "ทอม แฮงก์" เดินเข้าร้านขายเครื่องพิมพ์ดีด

ตามรายงานจาก Typewriters.com ระบุว่า ทอม แฮงก์ เคยเดินเข้าไปเยือนที่ร้าน พร้อมกับแนะนำตนเอง ก่อนจะได้ของติดมือกลับไป “ทอม แฮงก์ เดินเข้ามาที่ร้านผม แล้วบอกว่า เขากำลังสะสมเครื่องพิมพ์ดีดและอยากจะขอเดินดูสักหน่อย เขาคิดว่าผมน่าจะมีอะไรที่น่าสนใจอยู่เยอะ ก่อนจบลงด้วยการนำ Smith Corona ของยุค70 ที่ผมซ่อมเสร็จและขายให้เขานำกลับบ้านไป ผมไม่ได้นึกเลยว่าเขาหลงใหลเจ้าเครื่องพิมพ์ดีดพวกนี้มากถึงขั้นมีแอปพลิเคชัน Hanxwriter เอง แต่เขาเป็นคนที่นิสัยดี แล้วก็ติดดินมาก แล้วก็พูดคุยกับทุกคนในร้าน พร้อมกับยังเดินเข้าไปที่หลังร้านเพื่อตรวจดูสต็อกของเราด้วย เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจจริงๆ” จิม ไรเกิร์ท ผู้ก่อตั้ง Typewriters.com เผย

รายงานยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่าความหลงใหลของ ทอม แฮงก์ ยังพาให้เขาเดินทางข้ามประเทศไปหาเครื่องพิมพ์ดีดตามร้านต่างๆ รวมถึงร้าน California Typewriter Company ร้านที่อยู่ในภาพยนตร์เรื่อง California Typewriter และร้านอื่นๆทั้งในนิวยอร์กและฟิลาเดลเฟีย

อย่างไรก็ตามนอกจากจะออกตามล่าหาเนื้อคู่เข้ามาเก็บสะสมในคอลเลคชันของตนเองแล้ว บางครั้งก็มีคนส่งมาให้เขาเองอย่างเช่นกรณีของ คริส ฮาร์ดวิก ผู้ก่อตั้ง Nerdist และพิธีกร Talking Dead ที่หัวใสนำความชื่นชอบของ ทอม แฮงก์ มาเรียกความสนใจจนทำให้เขาตอบตกลงที่จะเป็นแขกรับเชิญมาพูดคุยผ่านทาง พอดแคสต์ โดยการส่งเครื่องพิมพ์ดีด Corona Silent ปี 1934 พร้อมกับคำเชิญที่ถูกพิมพ์ลงในกระดาษแนบไปให้เขา ก่อนที่แฮงก์ จะตอบรับคำเชิญด้วยการพิมพ์จดหมายตอบกลับที่ทำเอาทีมงานถึงขั้นเฮกันลั่น


ทอม แฮงก์ คือแรงบันดาลใจให้คนหันกลับมาใช้พิมพ์ดีดมากขึ้น

ภาพยนตร์ California Typewriters และหนังสือ Uncommon Type ต่างก็ได้รับความนิยมไม่ใช่เฉพาะกับนักสะสมเครื่องพิมพ์ดีดและคนที่ชอบบทดีๆเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ๆเช่นกัน

หลังจากดูภาพยนตร์และอ่านหนังสือของ ทอม แฮงก์ เจสสิกา เคราห์ สาวน้อยวัย 15 ปี ก็เคยถึงขั้นเขียนจดหมายไปหา ทอม แฮงก์ เพื่อบอกว่าที่โรงเรียนชื่นชอบผลงานของเขาขนาดไหน พร้อมกับขอเครื่องพิมพ์ดีดหรือขอให้เขาแนะนำเครื่องพิมพ์ดีดให้ ก่อนที่ 2 สัปดาห์ต่อมา ทอม แฮงก์ จะส่งเครื่องพิมพ์ดีด Royal และจดหมายที่พิมพ์ข้อความให้กำลังใจไปให้ถึงโรงเรียน

นอกจากนั้น นิก เดอ พีสเตอร์ กับภรรยา และลูกชาย 2 คนก็ตัดสินใจที่จะทำโปรเจกต์สรรค์สร้างงานเขียนเพื่อขอบคุณ ทอม แฮงก์ หลังจากที่เขาได้ดู California Typewriter ไปหลายต่อหลายรอบ ซึ่งครอบครัว เดอ พีสเตอร์ ปิ๊งไอเดียว่าคงดีถ้าได้เขียนจดหมายจากเครื่องพิมพ์ดีดของ ทอม แฮงก์ จึงเขียนจดหมายไปหานักแสดงดังพร้อมระบุข้อความถึงสิ่งที่ครอบครัว เดอ พีสเตอร์ ตั้งใจจะทำว่า 1. รักษาเครื่องพิมพ์ดีดที่เขาจะส่งมาให้อย่างดี 2. เขียนจดหมายอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้งและส่งต่อออกไป 3. ซื้อเครื่องพิมพ์ดีดให้ครอบครัวอื่นเพื่อให้พวกเขาทำแบบเดียวกัน ทำให้ ทอม แฮงก์ ยอมส่งเครื่องพิมพ์ดีดไปให้ครอบครัว เดอ พีสเตอร์ โดยเขาส่ง Olympia De Luxe ของปลายยุค 1960 ไปให้ พร้อมกับจดหมายที่ให้กำลังใจ โรแวน ลูกชายของ เดอ พีสเตอร์ ให้เขาหัดเรียนเครื่องพิมพ์ดีดว่าใช้การอย่างไรด้วย


เอาความรักที่มีต่อเครื่องพิมพ์ดีดไปสู่โลกดิจิทัล

ทอม แฮงก์ ที่รักและหลงใหลในเครื่องพิมพ์ดีด ได้พัฒนาความหลงใหลของตนเองไปสู่อีกระดับขั้น ด้วยการครีเอท แอปพลิเคชัน เพื่อใช้ผ่านทางระบบ IOS กับการเปลี่ยนเครื่องไอโฟนหรือไอแพด ให้กลายมาเป็นเครื่องพิมพ์ดีด ด้วยการโหลดแอปพลิเคชัน HanxWriter มาติดไว้ในโทรศัพท์มือถือ และระหว่างที่พิมพ์ผู้ใช้ก็จะได้รับรู้ถึงการสัมผัสและเสียงแป้นพิมพ์ที่ทำขึ้นเพื่อเลียนแบบเครื่องพิมพ์ดีด ทำให้ผู้ใช้งานที่เป็นเจเนอเรชันใหม่ ได้รับประสบการณ์ที่ล้ำค่าผ่านทางเครื่องมือดิจิทัลโดยไม่ต้องลงทุนไปตามหาหรือจ่ายเงินราคาแพงซื้อเครื่องพิมพ์ดีดอีกต่อไป

เสียงพิมพ์อันเป็นเอกลักษณ์ที่ได้จากเครื่องพิมพ์ดีด ถูกพัฒนาเข้ามาอยู่ในแอปฯ HanxWriter ทั้งหมด โดยเครื่องของผู้ใช้งานยังจะสามารถปิดปุ่มลบข้อความออกจากแป้นพิมพ์ได้ด้วย และยังมีตัวพิมพ์ที่ทอม แฮงก์ ออกแบบเอง และยังสามารถเปลี่ยนหน้าตาเป็นเครื่องพิมพ์ดีดอื่นๆตามสไตล์ที่ตนเองชื่นชอบ แถมยังปรินท์ หรือ แชร์ ข้อความที่พิมพ์ไว้ด้วยตัวอักษรเสมือนพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ดีดออกมาได้ด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่า แอปพลิเคชัน นี้ ทอม แฮงก์ ทำขึ้นเพื่อให้คนที่มีหัวใจคลาสสิก รักในเครื่องพิมพ์ดีดแบบโอลด์สคูล ได้ขยับเข้าใกล้ความรู้สึกวันคืนเก่าๆ ในวันที่โลกกำลังพัฒนาเทคโนโลยีกันไปแบบไม่หยุดยั้งมากขึ้นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น