จาก “เรื่องเล่า” ของคุณปู่ผู้เป็นทหารเก่า สู่ “เรื่องราว” ทรงพลังบนจอเงิน “1917” คือหนึ่งในผลงาน 9 เรื่องที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ปีนี้ ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เป็นเรื่องราวของทหารหนุ่ม 2 นายในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งได้รับคำบัญชาจากนายพลผู้คุมทัพให้นำจดหมายลับไปส่งยังแนวหน้าเพื่อยุติการโจมตีที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ชั่วโมงข้างหน้า ...
ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ “แซม เมนเดส” เล่าว่า เขาได้ไอเดียในการทำหนังเรื่องนี้มาจากคำบอกเล่าของคุณปู่ของเขาที่เป็นอดีตทหารสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ตอนที่เขายังเด็ก ๆ คุณปู่ชอบเล่าเรื่องนี้ให้เขาฟัง และมันก็ฝังอยู่ในความทรงจำมาจนกระทั่งปัจจุบัน
สำหรับแวดวงภาพยนตร์ ชื่อของ “แซม เมนเดส” จัดอยู่ในหมวดหมู่ของคนทำหนังที่มีคุณภาพมาโดยตลอด 20 กว่าปีบนเส้นทางสายนี้ ผลงานการกำกับเรื่องแรกของเขาเมื่อปี ค.ศ. 1999 นับเป็นการเปิดตัวที่งดงาม พร้อมกับรางวัลที่ได้รับจากหลากหลายสถาบัน รวมทั้งเวทีใหญ่ ๆ อย่างลูกโลกทองคำ ตลอดจนเวทีออสการ์ที่คว้าไปได้ถึง 5 สาขารางวัล รวมถึงรางวัลใหญ่ ๆ อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
ในช่วงเวลา 20 กว่าปี บนวิถีผู้กำกับภาพยนตร์ แซม เมนเดส มีผลงานไม่ถึง 10 เรื่อง ซึ่งถ้าจะว่าไป ก็นับว่าน้อยมาก แต่หากวัดกันที่ “คุณภาพ” ไม่ใช่ “ปริมาณ” ผลงานของเขาล้วนได้รับการกล่าวถึงในเชิงชื่นชม ไม่ว่าจะเป็น “Road to Perdition”, “Revolutionary Road” หรือแม้แต่ตอนที่เขามาทำหนังสายลับ 007 ภาค Skyfall และ Spectre ก็เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่า คนที่เชี่ยวในการทำหนังดราม่าหนักหน่วง ก็สามารถทำหนัง “แอ็กชั่นมันส์ ๆ” ได้ดีไม่น้อยเช่นกัน
สุดท้ายแล้ว การที่ผลงานล่าสุดของเขาได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาใหญ่ อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ก็เป็นอีกหนึ่งคำยืนยันว่า ฝีมือและชื่อชั้นของผู้กำกับสายเลือดอังกฤษคนนี้ เป็นที่เชื่อมือได้
... สิ่งที่น่าสนใจในเรื่อง “1917” ก็คือ จากสคริปต์สั้น ๆ ที่ว่าด้วยเรื่องของทหาร 2 นายที่ถูกสั่งให้เดินทางไปส่งจดหมายถึงแนวหน้า มันจะมีความน่าสนใจอะไรมากมายนัก เพราะสำหรับคนที่ดูหนังมาสมควร ก็คงพอเดาออกบ้างล่ะว่า “จดหมาย” ฉบับนั้น ยังไงก็ต้องไปถึงปลายทางแน่นอน และเรื่องของทหารที่เป็น Messenger ก็คงจะได้รับการหยิบยกมาเอ่ยถึงในเชิง “ฮีโร่สงคราม” ผู้สร้างคุณงามความดีให้กับกองทัพ
กระนั้นก็ดี...สิ่งที่ผมเห็นว่า หนังทำออกมาได้ดีกว่าความตั้งใจยกย่องบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ก็คือการสร้าง “เรื่องราวระหว่างทาง” ขึ้นมาเพื่อให้ตัวละครผู้ทำหน้าที่ส่งสารได้ฝ่าฟันและผ่านพ้น ซึ่งต้องบอกว่า มันโหดร้ายทั้งต่อกายภาพและสภาวะจิตใจอย่างถึงที่สุด
การเดินทางของทหารชั้นผู้น้อยทั้งสองนาย หลาย ๆ ฉาก ถูกเล่าผ่านมุมกล้องแบบ Long Take ที่ถือว่าเป็นการใช้เครื่องมือได้ถูกงานอย่างมาก เนื่องจากกล้องที่ค่อย ๆ เคลื่อนไปข้างหน้า แทนสายตาของทหารทั้งสองนายที่ก็ไม่รู้ว่ามีอะไรบ้างที่รออยู่เบื้องหน้า ขณะที่คนดูเองก็จะได้รับความรู้สึกแบบนั้นไปพร้อมกัน คือกดดันและอึดอัดตามไปด้วย จากความไม่รู้และเหนือจะคาดเดาในสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น
จากความรู้สึกในตอนแรกที่ว่า ภารกิจส่งจดหมาย ไม่น่าจะยากเย็นอะไร เราจะเห็นว่า เรื่องราวของตัวละคร ค่อย ๆ ทวีความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่พูดได้ว่า “หัวใจสลาย” อย่างยากจะกอบกู้กลับคืน...
ในภาระหน้าที่ของการเป็นหนังสงคราม ที่หนึ่งในความคาดหวังของคนดูผู้ชมก็คือการได้ดูฉากยิงกันหรือมีระเบิดสนั่นหวั่นไหว... “1917” แม้ไม่ใช่หนังสงครามที่มาขายปืนขายระเบิดขนาดนั้น แต่ก็แทรกฉากแบบนั้นให้ได้ตื่นเต้นอยู่เรื่อย ๆ มีหลายฉากที่หนังทำได้ดีมากในการสร้างความรู้สึกระทึกใจจากเหตุการณ์ที่ตัวละครต้องเผชิญในระหว่างทาง ขณะที่มิวสิกสกอร์ก็ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการหนุนส่งความรู้สึก ไม่ว่าจะในโมงยามแห่งความตื่นเต้นระทึกขวัญ หรือเศร้าสร้อยสูญเสีย...
มาตรแม้นไม่เคยเข้าร่วมการสู้รบ ถึงแม้จะมิเคยพบผ่านสงคราม แต่ “1917” ก็เรียกความรู้สึกร่วมจากคนดูผู้ชมได้ เพราะหนังพูดในสิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญเป็นปกติ ทั้งความอ่อนไหวและอ่อนแอ ทั้งความเข้มแข็งและเปราะบาง ... การเดินทางแต่ละก้าวของทหารหนุ่มทั้งสองนาย มันคือ “บททดสอบ” ที่เข้มข้นที่สุดอีกบทหนึ่งของมนุษย์
ขณะที่ปวดร้าวที่สุด เจอกับสิ่งที่บั่นทอนความรู้สึกที่สุด
คุณจะไปต่อ หรือจะพอหยุดแค่นั้น...
ไม่เฉพาะแค่ในสงคราม แต่ยังหมายรวมถึงการเดินทางที่เป็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในชีวิต...