กรณีเทสโก้ (Tesco) กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติอังกฤษมองหาผู้สานต่อธุรกิจในตลาดเอเชีย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าราว 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.7 แสนล้านบาท) กลายเป็นตัวอย่างการ "ม้วนเสื่อกลับบ้าน" ล่าสุดของเหล่าบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่จากซีกโลกตะวันตก
สำนักข่าวดาวโจนส์ นิวส์ไวร์ส (Dow Jones Newswires) ระบุว่าข้อเสนอรอบแรกจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนมกราคม หลังเทสโก้ประกาศเมื่อเดือนธันวาคมว่าเริ่มกระบวนการทบทวนทางเลือกสำหรับธุรกิจในไทยและมาเลเซีย รวมถึงความเป็นไปได้ในการจำหน่ายธุรกิจ
ชื่อของ "เทสโก้" ปรากฏบนพาดหัวข่าวในจีนเมื่อเร็วๆ นี้ เนื่องจากถูกร้องเรียนว่าผลิตภัณฑ์บางชนิดของเทสโก้ถูกผลิตขึ้นจากการใช้แรงงานนักโทษในเรือนจำที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งถูกปฏิบัติเหมือนเป็นแรงงานทาส โดยเหตุการณ์นี้ทำให้เทสโก้ลดการขยายตัวในต่างประเทศ และเปลี่ยนไปมุ่งเน้นตลาดภายในของตนแทน แต่ก็ยังประสบปัญหาการแข่งขันสูงเพราะมีคู่แข่งอย่างแอมะซอนด็อทคอม (Amazon.com) และ โอคาโด กรุ๊ป (Ocado Group)
เทสโก้นั้นถอนตัวออกจากตลาดต่างประเทศหลายแห่ง อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ รวมถึงยอมเสียอำนาจการบริหารและการดำเนินงานส่วนหนึ่งในจีนด้วย
ช่วงระยะเวลา 6 เดือน เมื่อนับถึงวันที่ 24 ส.ค. 2019 กำไรก่อนหักภาษีของเทสโก้อยู่ที่ 494 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1.96 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 463 ล้านยูโร (1.56 หมื่นล้าน) ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนธุรกิจของเทสโก้ในไทยมีมูลค่าโดยประเมิน 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.1 แสนล้านบาท) ขณะในมาเลเซียมีมูลค่าโดยประเมินอยู่ระหว่าง 1.5-2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.5-6. หมื่นล้านบาท)
ข่าวลือว่าบรรดาบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่จากซีกโลกตะวันตกกำลังล้มลุกคลุกคลานบนทางสองแพร่งว่าจะปล่อยธุรกิจไปตามยถากรรมหรือขายหุ้นให้ผู้อื่นมาสานต่อ เพื่อเอาตัวรอดท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดในตลาดจีน ได้รับการยืนยันในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาด้วยกรณีของคาร์ฟูร์ (Carrefour) หนึ่งในผู้ค้าปลีกชาวตะวันตกรายใหญ่ในจีน และกรณีการเจรจาระหว่างอาลีบาบา (Alibaba) และเมโทร (Metro) บริษัทในเครือศูนย์การค้าส่งสัญชาติเยอรมัน
เจสัน อวี๋ (Jason Yu) หุ้นส่วนของบริษัทการตลาด คันทาร์ เวิลด์พาเนล ไชน่า (Kantar Worldpanel China) อธิบายสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่ว่า "ตลาดจีนมีความซับซ้อนมาก ต้องการบริษัทค้าปลีกที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ และเข้าใจตลาดท้องถิ่นเป็นอย่างดี" โดยสำหรับกลุ่มผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่ในตลาดจีนปัจจุบัน เรื่อง 'ราคา' มีความสำคัญเพิ่มขึ้นไม่แพ้เรื่อง 'คุณภาพ' ส่วนเรื่อง 'สถานที่' อันใหญ่โต ก็ถูกคู่แข่งจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการจัดจำหน่ายแบบใหม่ที่เน้น 'ส่งถึงประตูบ้าน' หรือจุดขายเล็กๆ แบบ 'ดาวกระจาย' เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด
อย่างไรก็ดี สองยักษ์ใหญ่แห่งวงการค้าปลีกสัญชาติอเมริกันอย่างคอสโก้ (Costco) และวอลล์มาร์ต (Wallmart) ที่กรีธาทัพสู่ตลาดจีนกลับประสบความสำเร็จ เนื่องจากขับเคลื่อนธุรกิจด้วยปัจจัยด้านราคาเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญของตลาดผู้บริโภคชนชั้นกลาง