กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
จังหวัดฉะเชิงเทรา ประตูสู่ภาคตะวันออก ในอนาคตจะเป็นทางผ่านของ “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2566
ถึงกระนั้น หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผลักดันให้ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็น เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ดูเหมือนว่าความเจริญค่อยๆ คืบคลานเข้ามาที่จังหวัดแห่งนี้มากขึ้น
หากพูดถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา หลายคนคงนึกถึง “หลวงพ่อโสธร” วัดโสธรวรารามวรวิหาร ที่มีชื่อเสียง นอกนั้นจะมี วัดสมานรัตนาราม ตลาดเก่าแก่อย่างตลาดบ้านใหม่ 100 ปี ตลาดคลองสวน 100 ปี ตลาดน้ำบางคล้า ฯลฯ
เป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ นิยมเดินทางแบบเช้าไป-เย็นกลับ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางรถไฟ จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มีขบวนรถไปสถานีชุมทางฉะเชิงเทราวันละ 11 ขบวน ถึงสถานีก็มีรถสองแถวพาไปยังวัดโสธรโดยตรง
ผู้เขียนมีโอกาสมาเยือนฉะเชิงเทรา ถึงจะไม่บ่อยก็ตามเมื่อเทียบกับจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ แม้ความเจริญของตัวเมืองยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่พบว่าสองข้างทางถนนสิริโสธร (ถนนฉะเชิงเทรา-บางปะกง) เริ่มมีโครงการบ้านจัดสรรเกิดใหม่ตามมา
นับตั้งแต่ถนนมอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี (สายใหม่) เปิดให้สัญจรเมื่อปี 2541 การเดินทางไปยังจังหวัดฉะเชิงเทราสะดวกรวดเร็วขึ้น สองข้างทางมอเตอร์เวย์และถนนสิริโสธร ก็มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก
เมื่อออกจากมอเตอร์เวย์ที่ด่านบางปะกง ก่อนถึงตัวเมืองฉะเชิงเทรา จะผ่านโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า บ้านโพธิ์ บนเนื้อที่ 1,500 ไร่ ซึ่งเปิดการผลิตเมื่อปี 2550 ต่อจากโรงงานสำโรง จ.สมุทรปราการ และโรงงานเกตเวย์ซิตี้ อ.แปลงยาว
เลยแยกบางพระ ถนนเลี่ยงเมือง จะพบกับศูนย์การค้า “โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ ฉะเชิงเทรา” เปิดให้บริการเมื่อปี 2557 เป็นการนำไลฟ์สไตล์จากกรุงเทพฯ ทั้งห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และโรงภาพยนตร์มาไว้ที่นี่
ย้อนกลับไปในอดีต วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวฉะเชิงเทรา มักจะออกมาจับจ่ายซื้อของที่ย่าน ตลาดศูนย์การค้าตะวันออก (ตลาดศูนย์เก่า) หรือตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ถนนชุมพล ตรงข้ามโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์
จากนั้นถึงมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า “ตะวันออกคอมเพล็กซ์” บริเวณถนนศุขประยูร (สี่แยกคอมเพล็กซ์) เปิดให้บริการเมื่อปี 2536 ที่นั่นยังเคยเป็นที่ตั้งร้านฮอท พอท สุกี้ ชาบู สาขาแรกในประเทศไทย
ต่อมา “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” เปิดสาขาฉะเชิงเทราเมื่อปี 2547 บริเวณถนนสิริโสธร ตรงข้ามสถานีขนส่งผู้โดยสารฉะเชิงเทรา อีกหนึ่งปีเศษถัดมา “คาร์ฟูร์ ไฮเปอร์มาร์เก็ต” เปิดสาขาฉะเชิงเทราบริเวณถนนศรีโสธรตัดใหม่
กระทั่งบิ๊กซีซื้อกิจการคาร์ฟูร์จากบริษัทแม่เมื่อปี 2553 ทำให้ในปัจจุบัน จังหวัดฉะเชิงเทรามีห้างบิ๊กซีถึง 2 สาขา ห้างท้องถิ่นอย่างตะวันออกคอมเพล็กซ์ จึงปรับตัวด้วยการเน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภคในราคาส่งแทน
ส่วนห้างค้าปลีกชื่อดังอย่าง “เทสโก้ โลตัส” เจอกฎหมายผังเมือง จึงทำได้แค่โมเดลขนาดย่อมอย่าง “ตลาดโลตัส” 2 สาขา ได้แก่ สาขาเมืองฉะเชิงเทรา บริเวณถนนฉะเชิงเทรา-บางน้ำเปรี้ยว และสาขาดอนทอง ถนนศุขประยูร
นอกจากนี้ ยังมีโรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ อยู่ด้านข้างบิ๊กซี ตรงข้ามสถานีขนส่งฯ ไม่นับรวมตลาดนัดกลางคืน ที่ได้รับความนิยม คือ “ตลาดสนามมวย” ถนนเทพคุณากร ทางไปวัดโสธรฯ เปิดทุกวันพฤหัสบดี
ข้อมูลจากแผนพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทรา ปี 2561-2565 (ฉบับทบทวน) ระบุว่า เมื่อก่อนสภาพสังคมของจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสังคมเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา
ต่อมาราวปี 2540 เริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นในพื้นที่อำเภอบางปะกง บ้านโพธิ์ และแปลงยาว ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ส่วนอำเภออื่นๆ ก็มีรถของโรงงานไปรับ-ส่งถึงบ้าน แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมในจังหวัด
จากที่ได้สัมผัสตัวเมืองฉะเชิงเทรา พบว่าเป็นเมืองที่กว้างแต่ไม่มากนัก เพราะมีแม่น้ำบางปะกง ทางรถไฟสายตะวันออก และถนนสิริโสธรล้อมกรอบอยู่ แฝงไปด้วยวิถีชีวิตแบบสังคมเกษตรกรรม
ศูนย์กลางความเจริญของเมืองฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงฝั่งตะวันตก โดยมีศูนย์ราชการ โรงพยาบาลพุทธโสธร ค่ายศรีโสธร มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ และวัดโสธรวรารามวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงของจังหวัด
ลงมายังถนนสิริโสธร ไปทาง อ.บ้านโพธิ์ และ อ.บางปะกง ด้านที่ติดถนนใหญ่จะเต็มไปด้วยบ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรม แต่ถ้าขึ้นไปทางถนนสุวินทวงศ์ อ.บางน้ำเปรี้ยว จะเป็นทุ่งนาและบ้านเรือน มีโรงงานและชุมชนขนาดย่อมบ้างเพียงประปราย
ส่วนบรรยากาศโดยทั่วไป ช่วงกลางวันจะคึกคัก แต่หลัง 6 โมงเย็น ย่านตลาดทรัพย์สินฯ จะเริ่มเงียบเหงา เพราะร้านค้าเริ่มทยอยเก็บของ ปิดบ้านนอนกันหมดแล้ว จะกลับมาคึกคักอีกครั้งตั้งแต่เช้าเป็นต้นไป
ยิ่งถ้าเป็น สถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทรา รถไฟเข้ากรุงเทพฯ มีถึง 6 โมงเย็นเท่านั้น นอกนั้นจะเป็นรถไฟไปปราจีนบุรี มาถึงสถานีประมาณ 1 ทุ่มเศษๆ ส่วนรถไฟขบวนสุดท้ายจากกรุงเทพฯ จะมาถึงฉะเชิงเทราประมาณ 2 ทุ่มตรง
แต่สำหรับ สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดฉะเชิงเทรา ถือเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง เพราะมีรถโดยสารประจำทาง ทั้งรถตู้เข้ากรุงเทพฯ รถประจำทางหมวด 3 จากนครราชสีมา สระแก้ว ไปยัง ชลบุรี พัทยา ระยอง และจันทบุรี
นอกจากนี้ ยังเป็นจุดรวมรถสองแถว ไปยังอำเภอต่างๆ เช่น อ.บางคล้า อ.บางน้ำเปรี้ยว อ.บางปะกง และหากเป็นอำเภอในพื้นที่ห่างไกล เช่น อ.สนามชัยเขต ก็ยังมีรถตู้โดยสารสายฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม-สนามชัยเขต ให้บริการอีกด้วย
หลายฝ่ายคาดหวังว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะพลิกเมืองฉะเชิงเทราให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยรองรับความแออัดจากกรุงเทพฯ และการขยายตัวเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี แต่ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระยะทาง 220 กิโลเมตร งบลงทุน 2.24 แสนล้านบาท เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง อายุสัญญา 50 ปี
แนวเส้นทางส่วนใหญ่จะยกระดับขนานไปกับทางรถไฟสายตะวันออก มีจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นทางผ่าน แต่ไม่ผ่านสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา จะเบี่ยงออกนอกเมืองไปทางทิศเหนือ บริเวณถนนสุวินทวงศ์ เนื่องจากต้องใช้ทางโค้งที่กว้างขึ้น
เดิมพื้นที่ริมถนนสุวินทวงศ์กำหนดให้เป็นพื้นที่ชุมชน และห่างออกไปเป็นพื้นที่ทางการเกษตร ขณะนี้กำลังพัฒนาผังเมืองให้สอดคล้องกับเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หวังปลดล็อกการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มากขึ้น
สถานีฉะเชิงเทรา ของรถไฟความเร็วสูง ไม่ได้อยู่ที่สถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทราเดิม
รายงานข่าวระบุว่า จะเวนคืนที่ดินบริเวณถนนสุวินทวงศ์ แบ่งออกเป็นอาคารสถานี อยู่ฝั่งตะวันออก พื้นที่ 76 ไร่ กับศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) อยู่ฝั่งตะวันตก พื้นที่ 358 ไร่ ห่างจากทางแยกต่างระดับฉะเชิงเทรา 1 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา 4 กิโลเมตร
รูปแบบสถานีจะสูง 2 ชั้น รองรับทางรถไฟยกระดับจากกรุงเทพฯ ด้านหน้าเป็นลานจอดรถ อาคารสถานีชั้นล่างจะเป็นชั้นจำหน่ายบัตรโดยสาร ส่วนชั้นบนจะเป็นชานชาลารถไฟความเร็วสูง 4 ชานชาลา ยาว 210 เมตร
ด้วยรถไฟความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากก่อสร้างแล้วเสร็จ การเดินทางจากฉะเชิงเทราถึงกรุงเทพฯ สะดวกรวดเร็ว ไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่ค่าโดยสารเหยียบร้อย ถ้าจะใช้บริการประจำอาจต้องคิดหนัก
เอาแค่ลงที่สถานีสุวรรณภูมิ ไปขึ้นเครื่องบิน เสีย 161 บาท, ลงสถานีมักกะสัน (ต่อ MRT) เสีย 210 บาท, ลงสถานีกลางบางซื่อ เสีย 229 บาท ปลายทางสถานีดอนเมือง ต่อเครื่องบินโลว์คอสต์ เสีย 254 บาท!
ถ้าวันไหนนึกครึ้มอกครึ้มใจ อยากไปเที่ยวจังหวัดติดกัน อย่างสถานีชลบุรี (ซึ่งอยู่ไกลจากตัวเมืองมาก) เสีย 167 บาท, สถานีศรีราชา เสีย 211 บาท, สถานีพัทยา เสีย 259 บาท และปลายทาง สถานีอู่ตะเภา เสีย 326 บาท
มองโลกในแง่ดี ถ้ากลับบ้านสัปดาห์ละครั้งยังพอไหว ถูกกว่าแท็กซี่ราคาเหมาไปกรุงเทพฯ ครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าต้องเดินทางไป-กลับทุกวัน ตกวันละ 400-500 บาท สำหรับมนุษย์เงินเดือนรายได้หลักหมื่นคงไม่ไหวแน่!
แต่ถ้าไม่ต้องการเสียเงินรถไฟความเร็วสูงเข้ากรุงเทพฯ ยังมีอีก 2 ตัวเลือกใหญ่ๆ คือ นั่งรถตู้เข้ากรุงเทพฯ โดยตรง เจ้าใหญ่ที่สุดเป็นของ ฉะเชิงเทราขนส่ง ไปยังบางนา เอกมัย จตุจักร และหมอชิตใหม่ อีกเจ้าหนึ่ง คือ รถตู้ค่ายศรีโสธร ไปยังรังสิต
รถตู้จากฉะเชิงเทราเข้ากรุงเทพฯ รถออกเที่ยวแรกประมาณตีห้า-ตีห้าครึ่ง เที่ยวสุดท้ายประมาณ 1-2 ทุ่มทุกวัน ส่วนใหญ่ใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์ และทางด่วนบูรพาวิถี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร
อีกตัวเลือกหนึ่ง คือ รถตู้สายฉะเชิงเทรา-มีนบุรี ค่าโดยสาร 45 บาท (ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2562) ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง จากจุดนี้สามารถนั่งรถตู้ต่อไปยังรามอินทรา ปากเกร็ด รังสิต และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
จากที่นั่งรถตู้กลับกรุงเทพฯ พบว่าเมื่อมาถึงมีนบุรี เลยแยกราษฎร์อุทิศแล้ว จะตรงไปทางถนนรามคำแหง เพื่อแวะจอดเติมก๊าซ ก่อนเลี้ยวขวาเข้าถนนร่มเกล้า ข้ามคลองแสนแสบ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสีหบุรานุกิจ เพื่อเข้าตลาดมีนบุรี
ถ้ารถไฟฟ้าทั้งสองสายที่มีนบุรีแล้วเสร็จอีก 4-5 ปีข้างหน้า เวลานั่งรถตู้จากฉะเชิงเทรา รถจะผ่าน “สถานีสุวินทวงศ์” รถไฟฟ้าสายสีส้มก่อน สามารถต่อรถไฟฟ้าไปแยกลำสาลี มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสถานีศูนย์วัฒนธรรม
จากนั้นจะสุดสายที่ “สถานีตลาดมีนบุรี” รถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีชมพู ตรงข้ามตลาดนัดจตุจักร 2 มีนบุรี สามารถต่อรถไฟฟ้าโมโนเรลไปรามอินทรา แจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด และสถานีแคราย เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีแดง และสีม่วง
ถึงกระนั้น ปัญหาหนึ่งของตัวเมืองฉะเชิงเทราที่ยังต้องรอการพัฒนา คือ รถประจำทางที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากส่วนใหญ่มีเพียงรถสองแถว แถมกลางคืนต้องนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างราคาแพงและเสี่ยงอันตราย
ส่วนปัญหาที่ยังเกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนสายหลักในชั่วโมงเร่งด่วน อาทิ ถนนสุวินทวงศ์ ถนนสิริโสธร และถนนฉะเชิงเทรา-บางน้ำเปรี้ยว การจราจรติดขัด และถนนสุวินทวงศ์กำลังขยายถนนถึงชายขอบกรุงเทพฯ
ทราบมาว่า กรมทางหลวงมีโครงการตัดถนนเลี่ยงเมืองจากแยกสตาร์ไลท์ ถนนสุวินทวงศ์ ลงมาทางทิศใต้ ผ่าน อ.บ้านโพธิ์ ถนนสิริโสธร ข้ามแม่น้ำบางปะกง สิ้นสุดที่ถนนสาย 304 ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี ระยะทาง 30 กิโลเมตรในอนาคต
ไม่นับรวมเรื่องคุณภาพอากาศ ที่ฉะเชิงเทรายังคงมีสารมลพิษที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 คุณภาพน้ำผิวดินเสื่อมโทรม กระทรวงสาธารณสุขกำลังขับเคลื่อน “ฉะเชิงเทราโมเดล” เพื่อแก้ปัญหาและเฝ้าระวังในพื้นที่
การพัฒนาฉะเชิงเทราให้กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย รองรับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี จึงมี “ราคาที่ต้องจ่าย” เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกมาก
นอกจากอาจจะเกี่ยวพันไปถึงค่าครองชีพที่จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวแล้ว วิถีชีวิตของคนฉะเชิงเทราแต่ดั้งเดิม โดยเฉพาะ “สังคมเกษตรกรรม” ที่มีมาแต่ในอดีต อาจเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่มีทางกลับมาเป็นดังเดิม.