เรื่องราวของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ 5 สี ที่เรียกว่า "ขบวนการซูเปอร์เซนไต" ของญี่ปุ่นอาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการเท่ากับซูเปอร์ฮีโร่ฝั่งลุงแซม แต่เหล่ายอดมนุษย์ 5 สี ก็ยังสามารถดำเนินเรื่องราวมาได้เกือบ 4 ทศวรรษแล้วโดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย ... จึงถือว่าเป็นเรื่องน่าทึ่งอยู่พอสควร ว่าญี่ปุ่นทำอย่างไรจึงสามารถรักษาความต่อเนื่องแบบนี้เอาไว้ได้
ขณะที่ฮอลลีวูดกำลังโกยเงินอย่างเป็นกอบเป็นกำจากหนังซูเปอร์ฮีโร่ ที่ทำเงินอย่างหวือหวาไปทั่วโลก ทางประเทศญี่ปุ่นก็ยังไปได้เรื่อย ๆ กับเรื่องราวของยอดมนุษย์ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น ซูเปอร์ฮีโร่แปลงร่างขี่มอร์เตอร์ไซค์ที่เรียกว่า "มาสค์ไรเดอร์" หรือ "ไอ้มดแดง" ส่วนยอดมนุษย์ตัวใหญ่ยักษ์จากดาวแห่งแสงสว่าง "อุลตร้าแมน" ก็ยังคงไปได้เรื่อย ๆ
เช่นเดียวกับซูเปอร์ฮีโร่ 5 สี ที่ยังคงอยู่ยงคงกระพันมาได้ถึง 4 ทศวรรษแล้ว
ซูเปอร์เซ็นไตซีรีส์ เป็นผลงานของ Toei Company จากการสร้างสรรค์ของ โชทาโร อิชิโนโมริ ที่ดังมาจากการ์ตูน Cyborg 009 และตอนนั้นเพิ่งประสบความสำเร็จจากการ์สร้าง Kamen Rider TV ให้กับ Toei Company มาก่อน
ซูเปอร์ฮีโร่แห่งความสามัคคี
โดยธีมหลักของ ซูเปอร์เซ็นไต ก็คือเป็นกลุ่มฮีโร่ที่สวมชุดสูทต่อสู้และหน้ากากหลากสีรวมตัวกันเป็นทีมหนึ่ง ซึ่งตรงกับคำว่า กลุ่มขบวนการ ในภาษาไทยนั่นเอง เนื้อหาของภาพยนตร์มักจะกล่าวถึงกลุ่มคนทั้ง 5 คน (หรือ 3 คน) ที่ได้รับพลังซึ่งมาจากหลายรูปแบบแตกต่างกันไป (ขึ้นอยู่กับการกำหนดของเนื้อเรื่องในภาพยนตร์) ใช้วิชาการต่อสู้ในหลากหลายรูปแบบต่างกันมารวมพลังกันเพื่อต่อสู้กับเหล่าร้ายที่หวังจะครองโลก โดยเหล่าร้ายมักจะแสดงออกมาในรูปของปิศาจ หรืออสูรกายที่มาจากที่ต่าง ๆ ทั้งในโลกหรือต่างมิติหรือภายในโลกเอง
ซูเปอร์เซ็นไต เริ่มผลิตออกมาครั้งแรกในยุค 70 ที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลังรุ่งเรืองสุดขีด เรื่องราวมักจะกล่าวถึงการทำงานร่วมกัน การแบ่งหน้าที่ของตัวละครที่มีบุคลิก และความสามารถแตกต่างกันออกไป
ในยุคแรกภายใต้การดูแลของ โชทาโร ซูเปอร์เซ็นไต ผลิตออกมาได้ 2 ซีรีส์ติดต่อกันคือ Himitsu Sentai Gorenger (ขบวนการห้าจอมพิฆาต โกเรนเจอร์) และ J.A.K.Q. Dengekitai (แจ็คเกอร์ เด็นเงคิไต) ก่อนจะพักไป 1 ปี เพราะ Toei Company ไปได้ลิขสิทธิ์ตัวละครของ Marvel มาจากอเมริกา จึงพักขบวนการ 5 สี และหันไปสร้างซีรีส์ซูเปอร์ฮีโร่ Spider-Man ฉบับของตัวเองออกมาแทน
ก่อนที่ในปี 1979 Toei Company จึงได้หยิบเอาตัวละครอีกตัวของ Marvel คือ กัปตันอเมริกา มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างกลุ่มซุเปอร์ฮีโร่กลุ่มใหม่ขึ้นมาในชื่อ Battle Fever J ซูเปอร์เซ็นไตจึงกลับมาคืนชีพอีกครั้ง และยิงยาวอยู่คู่ทีวีญี่ปุ่นมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ผู้ชมเปลี่ยนรุ่นไปเรื่อย ๆ
ขณะที่ซูเปอร์ฮีโร่ฝั่งตะวันตกพยายามเปลี่ยนแปลงอะไรหลาย ๆ อย่างตลอดเวลา ซูเปอร์เซ็นไต กลับมีความเปลี่ยนแปลงที่น้อยมาก ชุดของตัวละครยังคงเป็นชุดสเปนเด็กซ์รัดรูปอยู่เหมือนเดิม สีแดงต้องเป็นผู้นำ ส่วนเรื่องราวก็ดำเนินไปในสไตล์ "สัตวประหลาดประจำตอน" มีคติสอนใจเกี่ยวกับเรื่องการทำงานหนัก, ความขยันหมั่นเพียร, มิตรภาพระหว่างเพื่อน เป็นต้น
ไม่ได้หมายความว่า ซูเปอร์เซ็นไต จะไม่พัฒนาอะไรเลย มีการปรับเปลี่ยนทั้งเรื่องเนื้อ และเทคนิคพิเศษไปตามสมัยเรื่อย ๆ แต่ละปีมีความซับซ้อน และอะไรใหม่ ๆ อยู่บ้าง แต่รวม ๆ แล้วก็คือโครงสร้างทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม
อาจจะเพราะซูเปอร์เซ็นไตผลิตมาเพื่อกลุ่มเด็ก ๆ เป็นหลังทางผู้ผลิตบอกว่าผู้ชมซีรีส์จะมีอายุประมาณ 4 - 8 ปี ผู้ชมเหล่านี้จึงเปลี่ยนหน้าไปเรื่อย ๆ เด็กแต่ละคนอาจจะดูหนังขบวนการพวกนี้กันคนละ 3 - 4 ปี เป็นอย่างมาก เมื่อพวกเขาเติบโตไป กลุ่มผู้ชมหน้าใหม่ที่เป็นเด็กรุ่นหลังจากนั้นก็โตขึ้นมาแทนที่
ซูเปอร์เซ็นไต ยังประสบความสำเร็จไปถึงต่างประเทศ มีหลาย ๆ ประเทศซื้อลิขสิทธิ์ไปฉาย โดยเฉพาะอเมริกาที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างใหม่ในชื่อ Power Rangers จนโด่งดังเป็นขวัญใจเด็ก ๆ ที่นั้นไปเลย
ของเล่นสำคัญกว่าเรตติ้ง
ซูเปอร์เซ็นไต ไม่ได้เป็นรายการที่มีเรตติ้งสูงนัก และรายการยังไม่ได้เน้นขายโฆษณาให้กับสินค้าทั่ว ๆ ไปด้วย แต่สิ่งที่ทำให้ ซูเปอร์เซ็นไต (และมาสต์ ไรเดอร์) ไปได้ดีในทางธุรกิจก็คือโช์พวกนี้ขายของเล่นได้เยอะมาก
การออกอากาศของหนังยอดมนุษย์ในญี่ปุ่นจึงจะพุ่งเป้าไปที่การโฆษณาสินค้าของบริษัทผลิตของเล่น Bandai เป็นหลัก
จากข้อมูล ซูเปอร์เซ็นไต แต่ละปีจะทำยอดขายของเล่นเฉพาะในญี่ปุ่นได้ประมาณ 8,000 - 12,000 ล้านเยน (2,205 - 3,300 ล้านบาท) ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาอาจจะมีบางปีอย่าง Gekiranger ที่ทำยอดขายของเล่นตกต่ำเหลือ 7,000 ล้านเยน แต่ก็มี Gaoranger ที่ทำยอดขายของเล่นได้สูงถึง 13,000 ล้านเยน
Toei Company จะสลับสับเปลี่ยนคอนเซ็ปของของเล่นในแต่ละปีไปเรื่อย ๆ อาจจะเป็น ไดโนเสาร์, รถยนต์, สัตว์ต่าง ๆ หรือ ไม่ก็พวกซามูไรนินจา ก็ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน
นอกจากในญี่ปุ่นแล้วของเล่นแบรนด์ Power Rangers ก็ยังทำรายได้ถล่มทลายในสหรัฐฯ ระดับ 80 ล้านเหรียญต่อปีด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นของเล่นแบรน "ยอดมนุษย์ 5 สี" ยังขายไปได้ถึง ฝรั่งเศส, อเมริกาใต้ และอีกแทบทุกประเทศในเอเซีย
ไบรอัน คาสเซนตินี แห่ง Saban ที่ซื้อลิขสิทธิ์ ซูเปอร์เซ็นไต ไปฉายในนาม Power Rangers บอกว่าซีรีส์แนวซูเปอร์ฮีโร่จากญี่ปุ่นเรื่องนี้ครองใจเด็ก ๆ เพราะ "ตัวละครสวมชุดปิดหน้าปิดตากันแบบมิดชิด ซึ่งมันง่ายสำหรับเด็ก ๆ และใครก็ตามที่จะสามารถจิตนาการว่าตัวเองเป็น Power Rangers ได้ง่ายกว่าที่จะมองเห็นตัวเองเป็นซูเปอร์แมน"
"Power Rangers ไม่ได้เป็นโชว์ที่เอาไว้ดูอย่างเดียว แต่เล็ก ๆ สามารถเล่นไปพร้อมกันด้วยได้" ตัวแทนของ Power Rangers ในอเมริกาบอก
ด้วยการเน้นทำมาตอบสนองเด็ก ๆ อายุต่ำกว่า 8 ปีเป็นหลัก, การควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตลาดของเล่นที่ใหญ่โตมหาศาล ทำให้ ขบวนการซูเปอร์เซนไตสามารถออกอากาศมาได้ถึง 4 ทศวรรษ โดยไม่ได้มีการตีความใหม่, ออกแบบชุดให้แปลกออกไป หรือฉีกเรื่องราวไปจนสุดกู่อย่างที่หนังฮอลลีวูดแนวซูเปอร์ฮีโร่ต้องทำ