xs
xsm
sm
md
lg

Based on True Story จาก “THE 33” สู่ “THE 13” ฮอลลีวูดเตรียมสร้างหนังหมูป่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ต้องบอกว่าเป็นเรื่องราวที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วทุกมุมโลกจริงๆ กับเหตุการณ์การระดมความช่วยเหลือ 13 ชีวิต ของ “หมูป่า อะคาเดมี” ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เป็นระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์

ท่ามกลางการเอาใจช่วย ความเสียสละ และความร่วมแรงร่วมใจของทั้งพี่น้องคนไทยด้วยกันเอง หรือแม้กระทั่งชาวต่างชาติที่มีส่วนร่วมในภารกิจที่มีชีวิตและลมหายใจเป็นเดิมพันครั้งนี้ สรุปสุดท้ายสามารถช่วยเหลือทั้งหมดให้ก้าวพ้นจากโลกมืดในถ้ำได้อย่างปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้อดไม่ได้ที่จะย้อนนึกเปรียบเทียบไปถึงเหตุการณ์เมื่อ 8 ปีก่อน ที่ 33 คนงานเหมืองซาน โฮเซ ที่ประเทศชิลี ต้องใช้ชีวิตเสมือนถูกฝังทั้งเป็นอยู่ใต้ดิน ที่มีความลึกเท่ากับตึก 200 ชั้น ในระยะเวลายาวนานถึง 69 วัน อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ดินถล่มของเหมืองแร่ทองคำและทองแดงที่อายุกว่า 100 ปี ในระหว่างกลางของความเป็นกับความตายที่ไม่มีใครรู้ บริษัทเจ้าของสัมปทานเหมืองกลับลอยตัวเหนือปัญหา ด้วยการปฏิเสธความรับผิดชอบทั้งหมดทั้งปวง แม้จะถูกครอบครัวของคนงานทั้ง 33 คน บุกมากดดันถึงประตูทางเข้า กระทั่งทางรัฐบาลชิลีต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกู้ชีวิตชาวเหมืองทั้งหมด โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่เป็นคนดูแลภารกิจดังกล่าว

ระหว่างที่คนทั่วโลกต่างก็พยายามเอาใจช่วยอย่างเต็มที่ ตรงกันข้ามกับ 33 ชีวิตที่ติดอยู่ใต้ดินก็เริ่มหมดหวัง เพราะดูเหมือนว่าหนทางที่จะมีชีวิตรอดนั้น ช่างริบหรี่เต็มทน มีเพียง “มาริโอ เซปุลเวดา” ที่สามารถควบคุมสติไว้ได้ และลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการพยายามเอาชีวิตรอดในใต้ดินที่ทั้งลึก ทั้งร้อนอบอ้าว และด้วยเสบียงอาหารที่มีอยู่จำกัด พวกเขาจะต้องยังชีพให้ได้ด้วยการกินปลาทูน่าคนละ 2 ช้อน คุกกี้ครึ่งชิ้น และนมครึ่งแก้ว ในทุกๆ 48 ชั่วโมง

แหละ..... 5 ปีให้หลัง จากที่เขาเหล่านั้นสามารถเอาชีวิตรอดมาได้ เรื่องราวและเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ดรามา ทริลเลอร์ ระดับฮอลลีวูด ที่ใช้ทุนสร้างมากกว่า 24.9 ล้านเหรียญ ในชื่อเรื่อง “THE 33” (หรือชื่อไทยว่า 33 ใต้นรก 200 ชั้น) ได้นักแสดงระดับโลกอย่าง “แอนโตนิโอ แบนดารัส” มาสวมบทบาทเป็น “มาริโอ เซปุลเวดา” หัวหน้าของกลุ่มคนงานเหมืองที่มีส่วนในการพาทุกชีวิตให้เอาตัวรอดมาได้

“สำหรับผมประเด็นสำคัญคือการช่วยเหลือคนงานเหมืองสำเร็จลงได้ก็เพราะครอบครัวคนงานผลักดันรัฐบาลให้ทำอะไรสักอย่าง ถ้าจะเข้าใจเรื่องราวนี้ได้อย่างสมบูรณ์ คุณก็ต้องเห็นทั้งด้านล่างและด้านบน ซึ่งก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในเหมืองและสิ่งที่เกิดขึ้นบนพื้นดิน เมื่อได้เห็นภาพครบแล้ว เรื่องราวนี้จะบอกเล่าหลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับความรักและคุณค่าของแต่ละบุคคล เป็นการเฉลิมฉลองความงดงามของชีวิต”

นอกจากนั้นก็ยังมี ร็อดริโก ซานโตโร กับจูเลียต บินอช และนักแสดงดังๆ อีกหลายคนร่วมแสดง ภายใต้ผลงานการกำกับของ “แพทริเซีย ริกเกน”

“หนังเรื่องนี้ว่าด้วยการถูกขังไว้ให้เผชิญหน้ากับความตายตามลำพัง แต่ก็พูดถึงการมีศรัทธาและการได้ชีวิตกลับคืนมาอีกครั้งด้วย มันเป็นเรื่องของการเกิดใหม่ ความเข้มแข็งของจิตวิญญาณมนุษย์ และอื่นๆ อีกมาก”

ทั้งนี้ มาริโอ้ตัวจริงก็ได้มีส่วนในการเป็นที่ปรึกษาในการสร้างหนังเรื่องนี้ด้วย

แม้ว่าด้วยยอดรายได้ของหนังที่ทำไปได้เพียงแค่ 26 ล้านเหรียญ เรียกว่าไม่ได้อยู่ในขั้นที่ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น แต่ก็ถือว่าเป็นที่รู้จักในแวดวงคนดู และคนที่ติดตามข่าวเหตุการณ์ใต้เหมืองนั้นไม่น้อยเลยทีเดียว เหตุที่บทภาพยนตร์ ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือที่มีชื่อว่า Deep Down Dark : The Untold Stories of 33 Men Buried in a Chilean Mine, and the Miracle That Set Them Free ของ “เฮกเตอร์ โทบาร์” สามารถถ่ายทอดรายละเอียดต่างๆ ทั้งเกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดในตลอด 69 วัน และวิธีการช่วยเหลือทุกคนออกมาได้อย่างน่าสนใจ โดยบอกเล่าถึงขั้นตอนของทีมช่วยเหลือนานาชาติ ที่ระดมสรรพกำลังและความทุ่มเททำงานทั้งวันทั้งคืน เพราะจะต้องแข่งกับเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงเสบียงอาหารที่ร่อยหรอลงไปทุกขณะ ท่ามกลางความร้อนระอุ และความตึงเครียดที่ทวีมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่มีสายตาของผู้คนทั่วโลกที่เฝ้ารออย่างร้อนใจ และต่างก็สวดมนต์ภาวนาเอาใจช่วยเพื่อให้ทุกชีวิต สามารถรอดพ้นกลับมาสู่ครอบครัวโดยสวัสดิภาพ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ ก็มีการขยายรายละเอียดบางอย่างที่ในข่าวไม่ได้บอกไว้โดยเฉพาะมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐ ทีมกู้ภัย และครอบครัวของคนงาน มีการตัดสลับภาพเหตุการณ์ของผู้คนบนดิน กับอีก 33 ชีวิตที่ติดอยู่ใต้ดินได้อย่างลื่นไหล แม้มีบ้างที่จะถูกกระแสวิจารณ์ว่าตั้งใจขายฉากดรามาเรียกน้ำตามากไปหน่อยก็ตาม

หนังสะท้อนให้เห็นทั้งสภาพจิตใจของคนที่ติดอยู่ในเหมือง และภาพความหาญกล้าของวีรบุรุษผู้เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อต่อลมหายใจให้กับทั้ง 33 คนงาน รวมถึงการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่กดดันอยู่ทุกวินาที ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และหัวใจที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับความสิ้นหวัง

โดยโลเกชันที่ผู้กำกับเลือกใช้สำหรับ “THE 33” ก็คือทะเลทรายอาตากามาในประเทศชิลี ที่งดงามชวนหลงใหล แม้อยู่ท่ามกลางความทุรกันดาร ซึ่งอยู่ห่างจากสถานที่เกิดเหตุการณ์จริงเพียงไม่กี่กิโลเมตร นอกจากนั้นยังถ่ายทำภายในเหมืองอีก 2 แห่งในโคลอมเบียตอนกลาง

วกกลับมาถึงสถานการณ์แห่งชีวิตจริง ภายหลังจากที่มีการช่วยเหลือ 13 ชีวิตของ “หมูป่าอะคาเดมี่” ออกมาจากถ้ำหลวงได้อย่างปลอดภัยแล้วนั้น ก็มีข่าวว่าเรื่องราวและเหตุการณ์ที่เป็นที่สนใจของคนทั่วโลกครั้งนี้ ถูกหมายตาจากทีมงานระดับฮอลลีวูด ที่เตรียมจะถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ โดยวางแพลนไว้ว่าจะเริ่มต้นถ่ายทำในราวปลายปี 2562 โดยการผนึกกำลังของ 2 ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวอเมริกัน “ไมเคิล สกอตต์” และ “อดัม สมิธ” ซึ่งเป็นทีมงานของ Pure Flix ที่เคยฝากผลงานการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “God’s not Dead 2014” มาแล้ว

โดยทีมงานที่เตรียมการสร้างภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ได้เดินทางลงพื้นที่มายังถ้ำหลวง เพื่อเก็บข้อมูลประกอบการทำภาพยนตร์ ทั้งการถ่ายภาพ และสัมภาษณ์ผู้ที่มีบาบาทสำคัญต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นทีมกู้ภัยต่างชาติ และหน่วยซีล ตลอดจนทีมหมูป่าและครอบครัว เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการเขียนเป็นบทภาพยนตร์

ไมเคิล หนึ่งในโปรดิวเซอร์ กล่าวเกี่ยวกับโปรเจ็กต์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ว่า
“ผมมองว่าถ้าจะสร้างหนังเรื่องนี้ มันจะต้องเป็นหนังใหญ่ และคนแสดงจะต้องเป็นดาราระดับแถวหน้าของวงการ"

ขณะที่ อดัม ก็เพิ่มเติมว่า

“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอะไรที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างมาก เพราะมันเต็มไปด้วยหัวใจที่เข้มแข็ง และความกล้าหาญของทุกๆ คนที่เกี่ยวข้อง ผมมองว่ามันเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ และมันน่าจะสร้างความประทับใจให้แก่ผู้คนทั่วโลกครับ"

ต่อคำถามที่ว่าเหมาะและควรหรือไม่อย่างไร ต่อการหยิบยกเหตุการณ์ครั้งนี้มาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ เชื่อว่าต่อให้ทั้งคู่ไม่ทำ ก็ต้องมีบริษัทผลิตภาพยนตร์รายอื่นหยิบไปทำอยู่ดี ไม่ต่างจากเหตุการณ์ “สึนามิ” ซึ่งเป็นเสมือนฝันร้ายของคนไทยในปี 2547 ก็มีการหยิบยกไปสร้างเป็นภาพยนตร์สเปน เรื่อง “The Impossible 2004 สึนามิ ภูเก็ต” เข้าฉายเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 หรืออีก 8 ปีต่อมา

และแน่นอนที่สุด แง่งามของภารกิจช่วยชีวิต 13 หมูป่าในครั้งนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงพลังของความรัก ความสามัคคี ความเสียสละของหมู่มวลมนุษยชาติ คุณค่าของการพยายามต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด เชื่อว่าต่อให้ผ่านไปอีกกี่ปีก็คงยากที่ใครจะลืมเลือนเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้อย่างแน่นอน

ยิ่งถ้ามีภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวดังกล่าวไว้เป็นบันทึกความทรงจำด้วยแล้ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เราๆ ท่านๆ สมควรที่จะสนับสนุนอย่างสุดหัวใจ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น

นิตยสาร ผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 451 14-20 กรกฎาคม 2561


กำลังโหลดความคิดเห็น