คนงานเหมืองที่ชิลีที่ติดอยู่ในเหมืองทองเมื่อ 8 ปีก่อน อาจจะเป็นกลุ่มบุคคลที่เข้าใจความรู้สึกของนักฟุตบอล 12 ชีวิต และโค้ชที่ตอนนี้กลับสู่โลกภายนอกจากใน “ถ้ำหลวง” มากที่สุด ทั้งในแง่ของการเอาตัวรอด, การรอคอยอย่างมีความหวัง และรวมถึงชีวิตหลังออกจาก “ถ้ำ” ที่พวกเขาต้องกลายเป็นคนดังโดยไม่ตั้งตัวด้วย
5 ปี หลังเอาชีวิตรอดมาได้ ชีวิตของคนงานเหมืองทั้ง 33 คน ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ภายใต้ชื่อ The 33 โดยผู้กำกับ แพทริเซีย ริกเกน และได้นักแสดงระดับโลกอย่าง แอนโตนิโอ บันดารัส มาสวมบทบาทเป็นหัวหน้าของกลุ่มคนงานเหมืองที่มีส่วนในการพาทุกชีวิตให้เอาตัวรอดมาได้
ชีวิตจริงกลายเป็นหนังฮอลลีวูด
หนังทุนสร้าง 24.9 ล้านเหรียญฯ อาจจะไม่ได้ถึงขั้นประสบความสำเร็จอะไรมากมายนัก เพราะทำเงินไปแค่ 26 ล้านเหรียญฯ แต่หนังก็เป็นที่รู้จักมากพอสมควร และมีดาราดังๆ หลายคนร่วมแสดงด้วย ส่วนคนงานเหมืองหลายคนก็ได้มีส่วนร่วมในฐานะที่ปรึกษาด้านข้อมูลของหนัง หนังอาจจะได้รับกระแสวิจารณ์ทั้งด้านบวกและลบ แต่ก็ค่อนข้างซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริง และเปิดเผยรายละเอียดต่างๆ ที่น่าสนใจ ทั้งเกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดในตลอด 69 วัน และวิธีการช่วยเหลือทุกคนออกมา
คนที่ได้เข้าไปสัมผัสพูดคุยกับคนงานเหมืองบอกว่าบางคนจะมีความรู้สึก “วิตกกังวล กับสายตาของคนอื่น รู้สึกว่ามีคนมองว่าพวกเขาเป็นพวกฉวยโอกาสที่หวังจะร่ำรวย หวังว่าจะกลายเป็นคนดังจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น”
นอกจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดแล้ว ชีวิตของคนงานเหมืองยังถูกถ่ายทอดลงในหนังสือหลายเล่ม ตอนเริ่มต้นทั้ง 33 คน ได้สัญญาร่วมกันว่าจะไม่พยายามหาผลประโยชน์ และรายได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยลำพัง และจะรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนแบบนี้ต่อไปเพื่อให้ทุกคนได้รับส่วนแบ่งอย่างเท่าเทียม จนถึงขั้นมีการร่วมกันตั้งบริษัทขึ้นมา แต่เมื่อพวกเขากลายเป็นคนดังโดยไม่รู้ตัว บางคนก็เริ่มมีความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไป
เริ่มเห็นต่างเพราะผลประโยชน์
ในปี 2015 คนงานเหมือง 9 คนได้ตัดสินใจฟ้องทนายความของกลุ่ม ว่าจัดการแบ่งรายได้อย่างไม่ถูกต้อง โดยพวกเขาเชื่อว่าบริษัททำเงินได้ถึง 150 ล้านเหรียญฯ หรือเกือบๆ 5 พันล้านบาท แต่เหล่าคนงานเหมืองกลับได้รับเงินก้อนดังกล่าวเพียง 17% เท่านั้น มีคนงานเหมือนบางคนถึงกับบอกต่อศาลว่า “โปรดช่วยเหลือเราอีกครั้งด้วย”
พวกเขายังบอกว่าต้องการใช้เงิน เพราะแต่ละคนมีปัญหาอย่างสุขภาพจิตจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง บางคนหางานทำไม่ได้ และต้องปรับตัวอย่างมากกับชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
มาริโอ เซพัลเวดา หรือ “ซูเปอร์มาริโอ” หัวหน้าของคนงานเหมืองที่กลายเป็นคนดังขึ้นมา อาจจะโชคดีที่ชื่อเสียงทำให้ตอนนี้เขาสามารถหารายได้จากการเป็นผู้บรรยายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจได้ ซูเปอร์มาริโอ ยอมรับว่าเพื่อนร่วมชะตากรรมหลายๆ คนยังต้องต่อสู้กับโลกในชีวิตจริงต่อไป แต่เขาก็มองว่า “อย่างน้อยพระเจ้าก็ให้โอกาสอีกครั้งให้กับเรา เปิดประตูบานใหญ่ให้แก่เราทุกคน”
แต่สำหรับหลายๆ คน รวมถึง คาร์ลอส บาร์ริออส แล้วทุกอย่างก็ไม่ได้สวยหรูแบบนั้น เขาบอกว่าตนเองยังคงมีอาการตื่นตระหนก, วิตกกังวล และนอนไม่หลับ เพราะเหตุการณ์ครั้งนั้น “ผมต้องเผชิญกับความผิดปกติทางจิต จนมีอาการหลายๆ อย่าง ตอนนี้เพราะปัญหาสุขภาพจิตก็เลยยังทำงานไม่ได้ และต้องไปพบจิตแพทย์ทุกๆ เดือน”
ไม่ใช่แค่ บาร์ริออส เท่านั้น แต่หลายคนยังคงต้องใช้ชีวิตเป็นแรงงานอยู่ในเมืองโคปาดิโปเหมือนเดิม มีคนงานบางคนที่ต้องพบกับปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต จนหันไปพึ่งสุรา และยาเสพติด ส่วนความทรงจำในเหมืองก็กลายเป็นเหมือนฝันร้ายที่น่ากลัวที่ติดตามพวกเขามาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับ ซูเปอร์มาริโอ เขาไม่ได้ร่วมฟ้องด้วยในคราวนั้น และบอกว่ากลุ่มที่ตัดสินใจฟ้อง “ถูกชักจูงไปโดยคนที่ไม่ได้อ่านสัญญาอย่างละเอียด”
“นรกของจริงรออยู่นอกเหมือง ... นรกจากพวกเหล่าสื่อ”
“พวกเขามีสภาพเหมือนทหารที่ผ่านสงครามใหญ่มา” เฮกเตอร์ โทบาร์ นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ ที่ได้เข้าไปคลุกคลีกับคนงานเหมืองเพื่อเขียนหนังสือบอก
และเขายังเคยกล่าวแนะนำคนงานเหมือนไปด้วยว่า “จริงอยู่ที่พวกคุณเอาชีวิตรอดจากนรกมาได้ แต่นั่นก็เป็นนรกที่พวกคุณพอจะคุ้นเคยอยู่บ้าง แต่เพื่อนเอ๋ย สิ่งที่อยู่ข้างหน้าจะเป็นสิ่งที่พวกคุณไม่เคยเจอมาก่อนเลย นรกแห่งการโชว์ตัว และรายการโทรทัศน์ ผมคงได้แต่แนะนำว่าหลังจากนี้ให้จับมือกันเอาไว้ให้มั่น, จับมือครอบครัวเอาไว้อย่าปล่อยเด็ดขาด เพราะนี่คือหนทางเดียวที่ทุกคนจะเอาตัวรอดจากสื่อที่กำลังจะไหล่บ่ามาข้างหน้าได้”