xs
xsm
sm
md
lg

จากคนที่ถูกทิ้ง สู่เจ้าพ่อเพลงอกหัก 100 ล้านวิว “อะตอม ชนกันต์” มีวันนี้เพราะถูกผู้หญิงทำร้าย!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดใจเจ้าพ่อเพลงอกหัก “อะตอม ชนกันต์” 100 ล้านวิว เผยดังได้ทุกวันนี้ เพราะถูกผู้หญิงทำร้าย ไม่ตั้งใจเขียนเพลงทำให้แฟนเก่าดูแย่ แต่เป็นความรู้สึกที่ออกมาจากหัวใจ ถามกลับสังคมผิดตรงไหนที่จริงจังกับความรัก รับยังโสด ไม่อิจฉาคนมีคู่

มั่นใจว่าหลายคนคงอยากจะรู้ว่าแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง แต่ละเพลงในอัลบั้ม “Cyantist (ไซแอ็นทิสต์)” ของนักร้องหนุ่มที่มีเสียงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่าง “อะตอม ชนกันต์ รัตนอุดม” ว่ามาจากไหน ซึ่งวันนี้ MGR Online ก็ได้มีโอกาสถามไถ่และพูดคุยถึงที่มาของแต่ละเพลงนั้นซึ่งหลายๆ เพลงรวมกันก็แตะไปที่ 500 ล้านวิวแล้ว ส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์ตรงของตัวเขาเอง จนหลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมเขาถึงอาภัพรักขนาดนี้ ซึ่งเจ้าตัวก็พร้อมจะเล่าเรื่องความรักที่ถูกเท แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ประสบความสำเร็จจนนั่นแท่นเป็นเจ้าพ่อร้อยล้านวิวในเกือบทุกเพลง พร้อมอัปเดตสเตตัสหัวใจในตอนนี้

“อันนี้ก็จริงนะที่คนจะติดภาพว่าเพลงของเรามาจากชีวิตเราเอง แต่ว่าถ้าเป็นเหมือนเนื้อหาในเพลงที่แต่งขึ้นอย่างเพลงอย่าบอก มันก็คือความรู้สึกของคนที่อกหักทุกวันนี้ เพื่อนเราก็อกหัก เราก็มีความรู้สึกว่าคือตอนนั้นมันก็มีโซเชียลมีเดียแล้วเหมือนกัน มันก็มีการโพสต์เวิ่นเว้อว่ามันเสียใจขนาดไหน แล้วก็ในความคิดนี้มันก็เข้ามาหาเรา ว่า ทำไมต้องบอกว่าเสียใจ มันก็เริ่มมาตอนนั้นแล้วมันก็เริ่มกลายเป็นรูปเป็นร่างในที่สุดจนออกมาเป็นเพลงนี้ เพราะถ้าย้อนกลับไปกับการแต่งเพลงแรก จำไม่ได้ว่าชื่อเพลงอะไร แต่น่าจะแต่งประมาณ ป.6 เป็นช่วงแรกที่เริ่มเขียนเพลงเกี่ยวกับเรื่องเพื่อน เพราะตอนนั้นก็ไม่รู้จะเขียนเรื่องความรักยังไง เพราะมันยังไม่เคยมีความรัก แล้วก็พอมา ม.3 ก็เริ่มๆ มีแล้วก็ช่วงแรกๆ ก็จะเป็นเพลงจีบสาว เพราะมีโอกาสได้ออกไปข้างนอกโรงเรียน หรือไปสยาม และแต่ละปีก็มีการจัดงานครบรอบการจัดตั้งโรงเรียนเหมือนงานวันเกิดโรงเรียน และปกติโรงเรียนก็ให้เข้าเฉพาะโรงเรียนที่มีแต่ผู้หญิงเข้ามา ก็เป็นโอกาสให้ได้เจอช่วงนั้นแหละ ทำให้เรามีความรักเป็นช่วงปั๊บปี้เลิฟซึ่งมันใหม่มากๆ และมันเป็นครั้งแรก ทุกอย่างมันใหม่ไปหมด แล้วพอมันเกิดกับเราครั้งแรก มันมักจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้เขียนเพลง ซึ่งตอนนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นเพลงรักกุ๊กกิ๊ก แต่พอตอน ม.3 หรือประมาณ ม.4 ผมว่าเป็นช่วงที่ทำให้เราได้เริ่มบรรยายความชอบลงไปในเพลงครั้งแรกๆ ต่อมาในช่วงอายุ 15 - 16 ปี ก็เริ่มที่จะลองเขียนเพลงเศร้าแล้วก็กลายเป็นแนวถนัดจนถึงทุกวันนี้ มันก็จะมีเพลงแฮปปี้ หรือเศร้าบ้าง”

“แต่ในช่วงนี้เพลงที่ผ่านมา เป็นเพลงที่ไม่เกี่ยวกับความรัก เพราะเพลงรักมันเข้าไม่ถึงคนส่วนใหญ่ ถ้าเทียบกับเพลงเศร้า เพราะว่าความเชื่อของคนส่วนใหญ่จะอกหักมากกว่าคนสมหวัง เพราะคนเศร้ามันจะมีมากกว่า และอารมณ์มันจะเข้าถึงได้ง่ายมากกว่า เพราะฟังแป๊บเดียวมันก็ดาวน์และมันก็เศร้าแล้ว ซึ่งถ้าเพลงที่ตรงกับตัวผมมากที่สุดก็คงเป็นเพลง Please น่าจะเขียนตอนเรียนมหาวิทยาลัย คือเป็นการอกหักที่แท้จริง และเขียนเพลงที่แท้จริงเช่นกัน คือ เฮิร์ตมาก อารมณ์ประมาณว่ากลับมาที่ห้อง แล้วก็เขียนเพลงนี้ขึ้นมาภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงก็เขียนเสร็จ แล้วก็ทิ้งมันไว้ จนไม่ได้เปลี่ยนอะไรมันเลย จนกลายมาเป็นเพลง Please ที่ทุกคนได้ฟังทุกวันนี้ พอหลังจากเลิกกันจนเกิดเป็นเพลงนี้แล้ว แต่เราก็ยังเจอเขาทุกันเพราะเรียนในมหาวิทยาลัยเดียวกัน เรียนแคมปัสเดียวกัน ก็ยังเจออยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่ามันก็ไม่ได้ไปไหนด้วยกัน คือสุดท้ายมันก็ต้องแยกกันอยู่ดี ซึ่งทุกอย่างก็บรรยายลงไปในเพลงได้อย่างลงตัว”

ยอมรับแต่ละเพลงที่เขียนออกไป อาจจะทำให้คนมองอีกฝ่ายดูแย่ แต่มันคือความรู้สึกจริงที่ออกมาจากใจขนาดนั้น เผยมุมลึกๆ ตนเองอาจจะเป็นฝ่ายที่ผิดเองจนทำให้ฝ่ายหญิงต้องไปมีคนอื่น
“ซึ่งผมก็รู้ว่าเป็นเพลงที่ผมเขียนให้เขาครับ แต่พอถึงเวลาที่เพลงมันออกมา มันก็ต่างคน ก็ต่างโตเกินที่จะมานั่งถามแล้วว่ามันยังไง หรือว่ามันเป็นเรื่องเก่าเกินไปที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาแล้ว ซึ่งอย่างที่บอกว่าพอเพลงมันออกไป ก็มีหลายคนคิดว่าเป็นเขา แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะมีกี่คน ที่เข้าใจว่าผมเขียนเพลงให้เขา เพราะคนที่ผมเขียนด้วยคือเรื่องที่เกิดกับเขาจริงๆ และมันเกิดขึ้นกับเขาคนเดียว แต่ก็จะมีอีกหลายๆ คนที่ส่งฟีดแบ็กเข้ามา เหมือนพูดว่าฉันรู้ว่าเธอแต่งให้ฉันนะ ซึ่งเราก็เออ...ออไป (ยิ้ม) อย่างในช่วงมหาวิทยาลัย มันก็จะไม่ได้คบใครจริงจัง คือมันใหม่มากครับ ทุกอย่างมันน่าตื่นเต้น มันจะมีความเป็นกิ๊กเป็นอะไรของมันเยอะ แต่ว่าผมเป็นคนที่รักจริงมากๆ คนหนึ่ง (แสดงว่าผู้หญิงที่เราแต่งเพลง Please เขาก็รู้แล้วซิว่าเพลงนี้คือเพลงของเขา?) รู้ครับ ส่วนฟีดแบ็กเป็นยังไงไม่รู้ เขาคงยินดีด้วยมั้งครับ ที่เขาทำร้ายเราในตอนนั้น จนตอนนี้ส่งเสริมให้อาชีพเราเจริญรุ่งเรือง”

“คืออันนี้พูดในมุมของคนแต่งเพลงนะ เพราะคนปกติต้องเขียนในมุมมองและความรู้สึกเราออกไปมากกว่า ไม่ใช่เขียนเขาให้ดีกว่าเราแน่นอน แต่ถ้าในมุมมองอื่น ที่สุดท้ายก็กว่าเพลงจะได้ออกมาให้ทุกคนได้ฟัง เพลงมันก็โตมาประมาณหนึ่งแล้ว แล้วพอมองย้อนกลับไปในวันที่เราแต่งเพลงนั้น เราก็มองว่ามันเป็นเรื่องตลกมากกว่า เพราะว่าถึงตอนเราเขียนเพลงนี้ มันจะฟูมฟายเฮิร์ตมาก แต่พอมันผ่านมา 3 ปีมันก็กลายเป็นอะไรที่เราทำใจกับมันได้แล้ว เพราะฉะนั้นความรู้สึกอ่อนไหวหรือความรู้สึกเจ็บปวดอะไรในตอนนั้นมันเจือจางไปหมดแล้ว”

“มันก็มีเรื่อยๆ ครับสำหรับการผิดหวังในเรื่องความรัก แต่ว่ามันก็มีช่วงที่มีความสุขอยู่แล้วล่ะ ซึ่งถามว่าทุกคนที่มันเฮิร์ต เพราะว่ามันจะมีช่วงหนึ่งที่มันดีมากๆ มาก่อน แต่พอสุดท้ายแล้วสิ่งที่ต้องมาอยู่กับปัจจุบันคือมันจบไปแล้ว คือสิ่งที่คุณจำได้ พอเรามาคิดถึงเรื่องนี้กับเรื่องที่ดีมีความสุข สุดท้ายแล้วเรามารู้ตัวว่าไม่มีอยู่แล้วมันก็เศร้าอยู่ดี (เพราะแต่ละเพลงของเราเหตุการณ์มักจะต่างกันออกไป?) มันก็หลากหลายเพราะคนมันเลิกกันด้วยหลายเหตุผล แต่สำหรับเรามันก็มีหลายจุดที่โดนซ้ำๆ แต่ว่าที่ซ้ำๆ ก็คือ ที่โดนจนมาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงอกหักตลอดเวลา เพราะสำหรับผมนะ ผมว่าเวลาช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาของวัยรุ่น คือ ช่วงเวลาของความตื่นเต้น และก็คนอย่างผมมันค่อนข้างที่จะเสมอต้นเสมอปลาย หมายถึงในตอนที่ยังเป็นคนดีกว่านี้นะ (ยิ้ม) เพราะในแต่ละครั้งที่เรามีแฟน เราจะจริงจังมาก หรือเวลาที่มีความรัก เราจะเสมอต้นเสมอปลาย เราให้เท่าไหนเราก็ยังให้เท่าๆ นั้นไปเรื่อยๆ แล้วสำหรับคนอายุประมาณนั้น ผมว่าบางทีมันก็น่าเบื่อนะสำหรับคนที่ไม่นอกลู่นอกทาง หรือบางทีมันก็ใส่ใจกันจนเกินไป จนกลายเป็นความเคยชิน จนอีกฝ่ายหนึ่งคิดว่าที่เราทำน่าเบื่อ”

“ผมว่าสิ่งที่ผมทำมันก็น่าเบื่อจริงแหละ เพราะว่าเป็นวัยรุ่นมัน มันเป็นวัยที่ต้องการความแปลกใหม่ เพราะถ้ายังจำเจเหมือนเดิม สุดท้ายก็จะโดนเทด้วยเหตุผลแบบนี้ แล้วก็จะมีมือที่ 3 มาเกี่ยวกับผมเพราะว่ามันเจอคนเยอะ ทุกอย่างมันไวไปหมดสำหรับช่วงวัยรุ่นและมันก็เป็นจุดที่ฝังในใจเราพอสมควร แต่ผมก็เอาตรงนั้นมาผลิตเป็นเพลงได้เรื่อยๆ เราก็ให้มุมมองกับมันหลายๆ แบบ ซึ่งจริงๆ มันก็เรื่องความรักเรื่องความสัมพันธ์ มันจะชี้ถูกชี้ผิดยาก ถ้ามันไม่ชัดจริงมันก็ขัดต่อจริยธรรม เพราะบางทีมันก็มีเหตุผลของแต่ละคนมันก็มีใช่กับไม่ใช่กับคนที่ถูกทิ้งก็จะรู้สึกว่าอีกว่าคนหนึ่งเป็นคนผิด ทำไมเธอทำกับฉันแบบนี้ มันจะเป็นบาปกรรมติดตัวเธอไปตลอดชีวิต ซึ่งบางทีมันก็ไม่ใช่ขนาดนั้น เพราะมันก็เป็นเรื่องของแต่ละคน (เป็นผู้ชายช้ำรัก?) ครับ ประมาณนั้นนะ แต่คือมันก็ไม่ถี่นะเท่าที่ผมคุยกับคนอื่นมา มันก็ไม่ถี่สักเท่าไหร่ แต่เราเก็บเอามาใช้ในการทำงานแค่นั้นเอง”

ถามสังคมกลับ ผิดตรงไหนที่จริงจังกับความรัก แต่ยอมรับว่าความรักที่ผ่านมาทั้งเสียใจและก็ได้สอนอะไรหายๆ อย่าง ย้ำสถานะตอนนี้ยังโสด ขอโฟกัสที่งาน ไม่อิจฉาคนมีคู่
“เพราะถ้าเราไม่จริงจังหรือว่าอินกับความรักขนาดนี้ ก็คงเขียนอะไรออกมาไม่ได้ขนาดนี้หรอก ซึ่งถามมันก็เป็นจุดอ่อนมั้ย มันก็คงเป็นอย่างนั้น แต่เราก็โอเคกับมัน แล้วก็โตมาจนรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เราก็พยายามไม่ทำผิดแบบเก่าซ้ำๆ แค่นั้นเอง เราก็คือใช้ชีวิตปกติ เพราะเราไม่รู้หรอกครับ ว่ามันต้องเจออะไร เพราะมันต้องเจอก่อนถึงจะรู้ว่าเราต้องทำยังไง ว่าไม่ให้มันซ้ำเหมือนเดิม ความจริงจังที่มากเกินไป มันเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่เหรอครับกับสังคมไทย ที่เราจะจริงจังกับความรัก แต่ถ้าถามว่าที่ผ่านมารู้สึกเสียใจหรือว่าเสียดายกับเรื่องที่มันผ่านมารึเปล่า จะบอกว่าไม่เสียใจเลยก็ไม่ใช่ แต่มันก็สอนอะไรเราหลายๆ อย่าง”

“ถามว่ารักทำร้ายเรามั้ย ก็ถ้าระดับสังคม มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะผมว่าเรื่องความสุข ความทุกข์ การดีใจ ความเสียใจมันมาคู่กัน คือ ถ้าคุณโชคดีได้เจอคนที่อยู่ด้วยกันตรงนั้นตลอดไม่มีเรื่องราวอะไร แต่งงานมีลูก มีครอบครัวอยู่ด้วยกันถึงทุกวันนี้ ก็คือคุณได้เจออะไรที่โชคดีมากๆ ผมว่ามันก็มีจริง แล้วก็ได้เห็น แต่ส่วนใหญ่เนี่ยก็อย่างนั้นล่ะครับ สังคมส่วนมากก็มีความไขว้คว้า มีความค้นหาอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของความรัก แล้วก็เรื่องของความผิดหวังของความรัก มันเป็นท็อปปิกที่ยังไงก็คุยกันรู้เรื่อง”

“ตอนนี้ก็ยังโสด ยังไม่มีครับตอนนี้ นี่ก็กลับมาตอนปัจจุบันแล้ว โสดปกติอยู่กับงานจริงๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะชีวิตช่วงนี้ถ้าผมว่าง ผมจะนอนดูหนังอยู่บ้าน แล้วก็รอวันที่ทำงานก็จะออกมาทำงานมากกว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่รออัลบั้มปล่อยออกมา เพราะหลายเดือนที่หายไป หยุดไปทำอัลบั้มเป็นเดือนๆ มันก็เกิดเรื่องทำให้เราไม่เสร็จสักที จิตใจเราก็เลยโฟกัสที่อัลบั้มมากกว่า”

“เราก็ไม่ได้อิจฉากับคนที่เขาสมหวังในความรักนะ เพราะตอนนี้เราก็คิดถึงแต่เรื่องของตัวเองมากกว่า เพราะมันว่าช่วงที่มีความสุข มันก็ดีนะ มันก็มีความดีของมัน ซึ่งจะให้มันทำไง จะมานั่งคร่ำครวญฟูมฟายถึงมันก็ไม่มีประโยชน์ เราก็ไปข้างหน้าต่อแล้ว ผมว่าความเจ็บปวดมันก็ดีอย่างหนึ่ง มันจะทำให้คนสร้างงานศิลปะได้เสมอไม่ว่าจะแขนงไหน มันก็เป็นเชื้อเพลิงที่คนไม่ได้อยากจะมี แต่ถ้ามันมีแล้ว มันจะใช้ได้เลย”







กำลังโหลดความคิดเห็น